NLA weekly (3-8 ก.ย.2561): เตรียมส่ง กม.ท้องถิ่น 6 ฉบับ ให้ สนช. หากไม่ติดขัด สิ้นปีนี้แล้วเสร็จ

NLA weekly (3-8 ก.ย.2561): เตรียมส่ง กม.ท้องถิ่น 6 ฉบับ ให้ สนช. หากไม่ติดขัด สิ้นปีนี้แล้วเสร็จ

เมื่อ 9 ก.ย. 2561
สัปดาห์ที่ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อตรวจสอบประวัติว่ากรรมาการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เจ็ดคน ภายใน 60 วัน และเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.เอกสิทธิ์และความคุ้มกันสำหรับองค์การระหว่างประเทศและการประชุมระหว่างประเทศในประเทศไทย พ.ศ. …. เป็นกฎหมาย ขณะที่ในสัปดาห์ถัดไป สนช. มีนัดพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. .... เป็นกฎหมาย
 
3 กันยายน 2561
 
กกต. เผยเร่งแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. พร้อมเลือกตั้ง ก.พ. 62
 
ณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่ามีหนังสือแจ้งไปยังผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดให้ดำเนินการเตรียมเรื่องของการแบ่งเขตเลือกตั้ง สำหรับกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ที่คาดว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาช่วงกลางเดือนกันยายน  ณัฏฐ์ ระบุว่า ในการทำไพรมารีโหวตผู้สมัครจะลงเขตไหน พรรคจะส่งผู้สมัครในพื้นที่ใดก็จะต้องมีข้อมูลการแบ่งเขตก่อน ขณะที่ในส่วนของ กกต. ใช้ฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรของปี 2559 ที่มีการสรุป ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 ดำเนินคำนวณการแบ่งเขตไว้เบื้องต้น
 
โดยวิธีการแบ่งเขต ผอ.กกต.ประจำจังหวัดจะทำหน้าที่แบ่งเขตสามรูปแบบ และติดประกาศรูปแบบของการแบ่งเขตเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย พรรคการเมือง เป็นเวลา 10 วันก่อนจะประมวลความคิดเห็นและส่งมายัง กกต.ให้พิจารณาคัดเลือกรูปแบบที่ดีที่สุดให้แล้วเสร็จ โดยทั้งกระบวนการจะต้องทำให้เสร็จภายใน 60 วันนับแต่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือคาดว่าประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน เรื่องของการแบ่งเขตต้องแล้วเสร็จและเข้าสู่กระบวนการไพรมารีโหวตได้
 
ที่มา: ประชาไท
 
5 กันยายน 2561
 
กกต.เร่งร่างระเบียบเลือก ส.ว.
 
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า ในการประชุม กกต. ที่ประชุมได้พิจารณาร่างระเบียบ กกต. ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่มีประมาณ 160 ข้อเสร็จสิ้นในรอบแรกแล้ว และมีความเห็นให้มีการปรับแก้เกี่ยวกับการปฏิบัติในบางเรื่อง ซึ่งจะนำเข้าที่ประชุมพิจารณาอีกครั้งในการประชุม กกต.ครั้งต่อไป  ขณะนี้กกต.ได้เร่งพิจารณาร่างระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง  ส.ว.เพื่อให้ทันกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่กำลังจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยเฉพาะ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว .เมื่อมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วจะมีผลบังคับใช้ทันที กระบวนการสรรหา ส.ว. ก็ต้องเริ่มดำเนินการในทันที
 
 
‘สุรชัย’ เผย เตรียมส่ง กม.ท้องถิ่น 6 ฉบับ ให้ สนช. หากไม่ติดขัด สิ้นปีนี้แล้วเสร็จ
 
สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า เมื่อคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบกับร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทุกระดับจำนวนหกฉบับแล้ว จะต้องเข้าสู่ขั้นตอนของคณะกรรมการประสานงาน สนช. (วิปรัฐบาล) ในสัปดาห์หน้า จากนั้นจะส่งมาที่คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) ต่อไป ในส่วนการพิจารณาของวิป สนช.นั้น ซึ่งหากไม่มีปัญหาใดร่างกฎหมายน่าจะเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ได้ในช่วงสัปดาห์ที่สองหรือสัปดาห์ที่สามของเดือนนี้ ซึ่ง สนช.จะใช้เวลาพิจารณาทั้งกระบวนการประมาณ 60 วัน จึงคิดว่าปลายปีนี้กฎหมายการเลือกตั้งท้องถิ่นทั้งหกฉบับสนช.จะดำเนินการได้แล้วเสร็จ
 
ที่มา: ข่าวสด
 
6 กันยายน 2561
 
สนช. ตั้งกรรมาธิการสอบประวัติ 7 ว่าที่กสม. คาดลงมติ 8-9 พ.ย. นี้
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีการพิจารณาตั้งคณะกรรมการธิการ (กมธ.) ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตามที่คณะกรรมการกรรหา กสม. ได้เสนอชื่อผู้ที่ผ่านการพิจารณา จำนวน 7 คน ได้แก่ 1.สมศรี หาญอนันทสุข ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ 2.ไพโรจน์ พลเพชร ประธานมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม, 3.จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร นักวิชาการด้านบริหารสวัสดิการสังคม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ 4.บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา 5. ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม 6. พรประไพ กาญจนรินทร์ อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ และ 7.สุรพงษ์ กองจันทึก กรรมการด้านนโยบายด้านการส่งเสริมประชาธิปไตยฯ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย
 
โดยการปฏิบัติหน้าที่ของ กมธ.ฯ ตรวจสอบประวัติ จำนวน 17 คนที่ สนช.ลงมติเห็นชอบนั้น มีเวลาทำหน้าที่ทั้งสิ้น 60วัน ก่อนจะส่งรายการตรวจสอบให้ สนช. พิจารณาและลงมติว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบบุคคลที่ถูกเสนอชื่อดังกล่าว  โดยคาดว่า สนช. จะนัดพิจารณาลงมติ ในช่วงวันที่ 8 หรือ 9 พฤศจิกายนนี้
 
ที่มา: ประชาไท
 
สนช.ผ่าน กม.เอกสิทธิ์คุ้มกันองค์การระหว่างประเทศ หวังดันไทยเป็น “เจนิวาแห่งเอเชีย”
 
ที่ประชุมสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ 180 ต่อ 0 งดออกเสียง 3 ผ่าน พ.ร.บ.เอกสิทธิ์และความคุ้มกันสำหรับองค์การระหว่างประเทศและการประชุมระหว่างประเทศในประเทศไทย พ.ศ. …. เป็นกฎหมายต่อไป โดยกิตติ วะสีนนท์ สนช.แถลงภายหลังว่า คณะกรรมาธิการต่างประเทศ สนช. เล็งเห็นนโยบายของรัฐบาลที่จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางในด้านองค์การระหว่างประเทศ และด้านอื่นๆ ดังนั้น การที่ สนช.เห็นชอบกฎหมายฉบับดังกล่าวออกมาเป็นกฎหมายกลางในการอำนวยความสะดวกเพื่อจัดตั้งสำนักงานขององค์การระหว่างประเทศ และการให้มีการประชุมระหว่างในประเทศไทย ทั้งประชุมภาครัฐ และเอกชน เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นนครเจนิวาแห่งที่สอง หรือ นครเจนิว่าแห่งเอเชีย ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งทางตรงและอ้อมแก่ประเทศในหลายด้าน โดยเฉพาะบทบาทและผลประโยชน์ในเวทีระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม กฏหมายฉบับนี้ยังออกมารองรับก่อนที่รัฐบาลไทยจะถึงวงรอบเป็นประธานอาเซียน รวมไปถึงรัฐสภาไทย โดยประธาน สนช.ที่จะดำรงตำแหน่งเป็นประธานสมัมชารัฐสภาอาเซียน (AIPA) ในปี 2562 พร้อมกันด้วย