สัปดาห์ที่ผ่านมาเว็บไซต์ราชกิจจานุกเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 และ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับสุดท้าย ทำให้ครบ 10 ฉบับ และครบเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญที่จะสามารถทำให้กำหนดวันเลือกตั้งต่อไปได้
อีกทั้งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 13/2561 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) คำสั่งฉบับนี้ให้พรรคการเมืองดำเนิน “กิจกรรมการเมืองที่จำเป็นบางกรณี” ได้ แต่ก็ห้ามกิจกรรมบางอย่างเพิ่มเช่นกัน อันได้แก่ ห้ามพรรคการเมืองหาเสียงออนไลน์ ซึ่งถือว่าเป็นการคลายล็อคพรรคการเมืองบางส่วนให้ทำกิจกรรมบางอย่างได้มากขึ้น และจำกัดกิจกรรมบางอย่างเพิ่มขึ้น
12 กันยายน 2561
ราชกิจจาฯ ประกาศใช้ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว. เตรียมนับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง
เว็บไซต์ราชกิจจานุกเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพ.ศ. 2561 และ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561
โดยหลังจากการประกาศใช้กฎหมายทั้งสองฉบับนั้นส่งผลให้การสรรหา ส.ว. อาจจะเริ่มต้นก่อนการเลือกตั้ง ส.ส. โดยรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 269 (1) ข้อ (ก) และ (ข) กำหนดให้ กกต. และคณะกรรมการสรรหาที่คสช. แต่งตั้งจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ที่เหมาะสมจะเป็น ส.ว. ให้แล้วเสร็จก่อนวันที่มีการเลือกตั้ง ส.ส. ไม่น้อยกว่า 15 วัน และคสช. ต้องคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมเป็น ส.ว.ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.
ส่วนการเลือกตั้ง ส.ส. ยังไม่มีความแน่นอนในส่วนของวันเลือกตั้ง แต่ตามโรดแมปของรัฐธรรมนูญปี 2560 การเลือกตั้งจะต้องรออีก 90 วัน เพื่อให้ พ.ร.ป.การเลือกตั้งมีผลบังคับใช้เสียก่อน (คาดว่าน่าจะช่วงต้นเดือนธันวาคม 2561) จากนั้นภายใน 150 วันที่พ.ร.ป.การเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ รัฐบาลต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง (ช้าสุดไม่เกินกลางเดือนพฤษภาคม 2562)
13 กันยายน 2561
สนช.มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.การจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม พ.ศ. .... ไว้พิจารณา
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม พ.ศ. .... ไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเห็นด้วย 187 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง พร้อมกำหนดระยะเวลาแปรญัตติ 7 วัน ระยะเวลาการดำเนินงาน 30 วัน
วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า โดยที่เป็นการสมควรให้มีการจัดสวัสดิการให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม กระจายรายได้อย่างเป็นธรรม ตลอดจนยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน โดยมีการดำเนินการร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชน จะมีผลทำให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยมีปัจจัยที่เพียงพอ สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ รวมทั้งมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเพื่อให้การดำเนินการจัดสวัสดิการเป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ คือ การจัดประชารัฐสวัสดิการเป็นรูปแบบการให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยให้เข้าถึงปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ และการสนับสนุนผ่านหน่วยงานอื่นทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการให้บริการทางสังคม อันจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและกระจายรายได้ รวมทั้งการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ประชาชนให้เป็นไปอย่างยั่งยืน
14 กันยายน 2561
คสช. ใช้มาตรา 44 ล็อกพรรคการเมือง ห้ามหาเสียงออนไลน์
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 13/2561 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) คำสั่งฉบับนี้ให้พรรคการเมืองดำเนิน “กิจกรรมการเมืองที่จำเป็นบางกรณี” ได้ แต่ก็ห้ามกิจกรรมบางอย่างเพิ่มเช่นกัน ได้แก่ ห้ามพรรคการเมืองหาเสียงออนไลน์ โดยมีเนื้อหา ดังนี้
ข้อ 1 เพิ่มเวลาพรรคการเมืองใหม่หาทุนประเดิมจำนวนหนึ่งล้านบาท และหาสมาชิกพรรคจำนวน 500 คนอีก 180 วัน หรือ 6 เดือน นับจากวันนี้
ข้อ 2 ให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมการเมือง อาทิ แถลงนโยบายของพรรคการเมือง เลือกหัวหน้าพรรค จัดตั้งสาขาพรรค จัดประชุมใหญ่ได้ แต่ต้องแจ้ง กกต. ให้ทราบล่วงหน้าไม่เกิน 5 วัน
ข้อ 3 ระหว่างพรรคการเมืองทำกิจกรรมตาม ข้อ 1 และ 2 ห้ามไม่ให้จัดสรรเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง
ข้อ 4 แก้การจัดทำไพรมารี่โหวต โดยให้คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ประกอบด้วยกรรมการบริหารพรรคการเมือง 4 คน และสมาชิกพรรค 7 คน มีอำนาจหน้าที่พิจารณาส่งผู้สมัคร ส.ส. เสนอกรรมการบริหารพรรค
ข้อ 5 แก้ให้พรรคการเมืองเก็บค่าบำรุงพรรคการเมืองจากสมาชิกสามปีแรกเป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่า 50 บาท จากเดิมไม่น้อยกว่า 100 บาท ต่อปี
ข้อ 6 พรรคการเมืองดำเนินการประชาสัมพันธ์หรือติดต่อสื่อสารภายในพรรคและสมาชิกของพรรคของตนเอง โดยผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่ต้อง “ไม่มีลักษณะเป็นการหาเสียง”
ข้อ 7 กกต. ต้องดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งและประกาศเขตเลือกตั้ง ให้เสร็จก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บังคับใช้
คำสั่งฉบับนี้ไม่ใช่การปลดล็อกพรรคการเมืองทั้งหมด แต่เป็นการคลายล็อกให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองบางอย่างได้เท่านั้น โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้สถานการณ์ของบ้านเมืองที่มีความสงบเรียบร้อยระดับหนึ่ง ขณะนี้ดำเนินอยู่ต่อไปในห้วงเวลาการปฏิรูปประเทศ จึงยังจำเป็นต้องให้ประกาศ คสช. หรือคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่เกี่ยวกับการดำเนินการของพรรคการเมืองยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไป ได้แก่ ประกาศ คสช. ที่ 57/2557 ซึ่งห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองใดๆ คําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ซึ่งห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป และ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ขยายเวลาให้พรรคการเมืองใหม่ดำเนินงานธุรการ
หัวหน้าคสช.ใช้ม.44 แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 14/2561 เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน มีเนื้อหาให้กรรมกำกับกิจกรรมพลังงานตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 95/2557 ซึ่งปฏิบัติหน้ำที่อยู่ในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับพ้นจากตำแหน่ง และแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานชุดใหม่ 7 คน โดยให้ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ