NLA weekly (15-21 ต.ค. 2561): สนช. เตรียมพิจารณาร่างกม.ประชารัฐเดือนพฤศจิกายนนี้

NLA weekly (15-21 ต.ค. 2561): สนช. เตรียมพิจารณาร่างกม.ประชารัฐเดือนพฤศจิกายนนี้

เมื่อ 21 ต.ค. 2561
ความเคลื่อนไหวของสนช. ในรอบสัปดาห์นี้ วัลลภ ตังคณานุรักษ์ กมธ. ที่พิจารณาร่างพ.ร.บ. ประชารัฐ แจ้งว่าเหลือการประชุมอีก 2 นัดก่อนร่างดังกล่าวจะเข้าสู่สนช. และคาดว่าจะผ่านเป็นกฎหมายภายในเดือนหน้า (พฤศจิกายน) รองประธาน สนช. รับหนังสือคัดค้าน พ.ร.บ. ความมั่นคงไซเบอร์ฯ และพ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคค จากประธานสมาคมความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศ หวั่นให้อำนาจเจ้าหน้าที่มากเกินไป ขาดความชัดเจนในการตรวจสอบความโปร่งใส การขาดกลไกตรวจสอบความเหมาะสม
 
17 ตุลาคม 2561
 
สนช. เตรียมพิจารณา ร่างกม.ประชารัฐ พฤศจิกายนนี้
 
วัลลภ ตังคณานุรักษ์ กรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า กมธ. พิจารณาเนื้อหาของ ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวใกล้แล้วเสร็จและเหลือการประชุมอีกเพียง 2 นัดก่อนเข้ากระบวนการและบรรจุเข้าวาระประชุมสนช. วาระสองและวาระสาม ช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้
 
เนื้อหาส่วนใหญ่ยึดตามร่างที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอมา โดยเฉพาะมาตรา 16 การใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อประชารัฐสวัสดิการ ตามร่างเดิมกำหนดให้ใช้จ่ายเงิน  3 ประเด็น คือ 1.ช่วยเหลือประชาชนตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐเดิม 2. สนับสนุนโครงการที่ให้บริการทางสังคม ซึ่งหน่วยงานของเอกชน มูลนิธิหรือองค์กรสาธารณประโยชน์ และ 3.การดำเนินงานและบริหารกองทุน โดย กมธ.ได้บัญญัติเพิ่มเติมกำหนดหลักเกณฑ์การใช้กองทุนเพื่อสนับสนุนโครงการบริการทางสังคมไม่ให้ซ้ำซ้อนกับที่หน่วยงานของรัฐทำอยู่ เช่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
 
วัลลภ กล่าวว่า สนช. จะพิจารณาร่างพ.ร.บ. นี้ในวาระสอง และวาระสาม เดือนพฤศจิกายน และคาดว่าจะผ่านวาระสามในช่วงเวลาเดียวกัน ร่างนี้ไม่มีเจตนาแฝงใดทางการเมือง หรือการช่วยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในการหาเสียงเลือกตั้ง เพราะขั้นตอนเป็นไปตามที่สนช. พิจารณากฎหมายปกติ เหตุผลสำคัญที่ต้องพิจารณาร่างพ.ร.บ นี้เพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันให้เป็นนโยบายที่ถาวร หากในอนาคตจะมีผู้แก้ไข ต้องเสนอเป็นร่างกฎหมายเสนอต่อสภาฯ ไม่ใช่ใช้มติครม. ยกเลิก.
 
ที่มา: คมชัดลึก 
 
18 ตุลาคม 2561
 
‘พรเพชร’ แถลงต่อเวทีประชุม IPU สนช. ปฏิรูปกฎหมายและส่งเสริมการพัฒนาในยุคนวัตกรรม
 
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา (IPU) ครั้งที่ 139 ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติ CICG นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เรื่อง “บทบาทนำของรัฐสภาในการส่งเสริมสันติภาพและการพัฒนาในยุคแห่งนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี” ว่า สนช. ได้ปฏิรูปกฎหมายเพื่อวางรากฐานที่สำคัญในการรองรับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 อาทิ พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน ฉบับแก้ไข ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2560 พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 และ พ.ร.บ. เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. 2561 และเชื่อมั่นว่ารัฐสภามีหน้าที่ส่งเสริมผลักดันให้เกิดนวัตกรรมเพื่อยกระดับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ แก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และนำพาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้าอย่างสมดุลและยั่งยืน
 
 
19 ตุลาคม 2561
 
สนช. ยืนยัน เร่งพิจารณากฎหมาย เน้นผลสัมฤทธิ์ พอใจไม่มีตกค้าง
 
สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. คนที่หนึ่ง กล่าวว่า ขณะนี้ สนช. พยายามเร่งรัดกฎหมายทุกฉบับ โดยเฉพาะกฎหมายที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ไม่ให้มีกฎหมายตกค้างก่อนที่ สนช.จะหมดวาระ รวมทั้งจะเชิญผู้แทนจากรัฐบาล มาให้ความเห็นและแนวทางเร่งรัดกฎหมายที่ยังตกค้าง
 
สุรชัย ตอบคำถามถึงความพึงพอใจในการทำหน้าที่ของ สนช. ที่ผลักดันกฎหมายแล้วกว่า 300 ฉบับว่า มีความพอใจที่ไม่มีกฎหมายตกค้าง แต่ต้องมองถึงผลสัมฤทธิ์ของการใช้กฎหมายที่จะเกิดประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติด้วย จึงยังตอบไม่ได้ว่ามีความน่าพอใจหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องการให้เปรียบเทียบการทำงานของ สนช. กับสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากขั้นตอนการพิจารณากฎหมายมีความแตกต่างกัน สนช. เป็นสภาเดียว จึงมีความได้เปรียบในเงื่อนระยะเวลาการพิจารณา ทำให้พิจารณากฎหมายได้มากกว่า
 
 
สนช. รับการยื่นหนังสือแสดงความเห็นแย้งร่างพ.ร.บ. ความมั่นคงไซเบอร์ และพ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
 
สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. คนที่หนึ่ง รับหนังสือจาก วีระ รัตนแสงเสถียร ประธานสมาคมความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศ ที่ขอเสนอความเห็นแย้งต่อร่างกฎหมายที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอจำนวน 2 ฉบับ ประกอบด้วย
 
ร่างพ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ที่สมาคมฯ เห็นว่ากำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติมากเกินไป จนเข้าข่ายผูกขาดรวบอำนาจไว้ที่หน่วยงานเดียว อีกทั้ง ไม่เห็นด้วยกับการให้คณะกรรมการชุดดังกล่าว ถือหุ้นหรือร่วมทุนกับนิติบุคคลอื่น และดอกผลไม่จำเป็นต้องส่งเป็นรายได้แผ่นดิน เพราะมองว่าการเป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ไม่ควรต้องมีการแสวงหารายได้และถือหุ้นกับเอกชน รวมถึงการให้อำนาจต่อเลขาธิการมากเกินไป 
 
ส่วนร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สมาคมเห็นแย้งและเห็นควรให้มีการปรับแก้ในประเด็นต่าง ๆ ที่คล้ายคลึงกัน อาทิ การให้อำนาจหน้าที่คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เลขาธิการฯ และสำนักงานฯ มากเกินไป เข้าข่ายผูกขาด และขาดความชัดเจนในการตรวจสอบความโปร่งใส การขาดกลไกตรวจสอบความเหมาะสมการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ
 
สุรชัยกล่าวว่าร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ อยู่ในขั้นตอนที่กฤษฎีกากำลังปรับแก้ไข ยังไม่มีการส่งมาที่ สนช. แต่สนช. จะรับเรื่องดังกล่าวไว้เป็นข้อมูลเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาเมื่อกฎหมายร่างกฎหมายดังกล่าวเข้ามาที่สภาต่อไป
 
 
กมธ.เกษตรฯ สนช.รับหนังสือจากสมาคมเรือประมง ร้องขอเปลี่ยนใบอนุญาตอวนล้อม
 
พลเอก ดนัย มีชูเวท ประธานกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สนช. รับหนังสือจากอลงณ์กต ปิติบุญอนันต์ ที่ปรึกษาสมาคมเรือประมงอวนล้อมจับปลากะตัก และคณะ ที่ร้องเรียนปัญหา จากประกาศของภาครัฐและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจาก ปัจจุบันประสบปัญหาเกี่ยวกับเครื่องมือทำการประมงชนิดอวนล้อมจับ ขาดความชำนาญในการใช้เครื่องมือ และปัญหาขาดแคลนแรงงานทั้งชาวไทยและต่างด้าวที่ชำนาญเครื่องมือ ดังนั้น ทางกลุ่มผู้ประกอบอาชีพประมงได้หารือกันและเสนอว่า ขอให้เปลี่ยนใบอนุญาตชนิดเครื่องมือทำการประมง จากชนิดอวนล้อมจับ มาเป็นชนิดอวนล้อมจับปลากะตักโดยเร็วที่สุด เนื่องจากมีความคุ้นชินและชำนาญมากกว่า แรงงานส่วนใหญ่ก็ชำนาญเครื่องมือนี้มากกว่า