NLA Weekly (29 ตุลาคม - 4 พฤศจิกายน 2561): สนช. เตรียมผ่าน พ.ร.บ.ประชารัฐฯ เป็นกฎหมาย

NLA Weekly (29 ตุลาคม - 4 พฤศจิกายน 2561): สนช. เตรียมผ่าน พ.ร.บ.ประชารัฐฯ เป็นกฎหมาย

เมื่อ 4 พ.ย. 2561
ความเคลื่อนไหวของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุม สนช. มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้สืบพยาน และตัดสินคดีลับหลังจำเลยที่หนีศาลได้ 
 
ขณะที่สัปดาห์นี้มีร่าง พ.ร.บ.หลายฉบับที่จะเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ประกอบด้วยร่าง พ.ร.บ. ที่จะเข้าพิจารณารับหลักการวาระที่หนึ่ง คือ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา, ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราว และการใช้สิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีหรือการดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีอาญา), ร่าง พ.ร.บ.สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และ ร่าง พ.ร.บ.สถาบันพระบรมราชชนก 
 
และร่าง พ.ร.บ. ที่จะเข้าพิจารณาในวาระสามเพื่อเห็นชอบเป็นกฎหมาย คือ ร่าง พ.ร.บ.การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และร่าง พ.ร.บ.การจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม  
 
1 พฤศจิกายน 2561
 
สนช. แนะรัฐบาลเร่งชงกฎหมายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ชี้อะไรไม่สำคัญให้รอรัฐบาลใหม่ หวั่นไม่รอบคอบ!
 
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เป็นประธานการประชุมพิจารณารายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศ มาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เป็นผู้ชี้แจงตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมางานการปฏิรูปประเทศมีเนื้อหาน่าพอใจ เชื่อว่า จะประสบความสำเร็จเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับคนไทย ขณะที่การขับเคลื่อนการปฏิรูปผ่านร่างกฎหมายนั้น มีร่างกฎหมายปฏิรูปที่เตรียมเสนอให้ สนช. พิจารณา ประมาณ 100 ฉบับ ดังนั้น ตนขอฝากความหวังที่ สนช. จะผลักดันร่างกฎหมายเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนและพาประเทศไปสู่การพัฒนาที่แท้จริง ทั้งนี้ในสองเดือนจากนี้ สนช. อาจมีความลำบาก เพราะมีร่างกฎหมายที่เตรียมเสนอให้พิจารณา โดยรัฐบาลพยายามทำให้ดีที่สุดในเวลาที่เหลืออยู่
 
ส่วน สมชาย แสวงการ สนช. อภิปรายว่า สำหรับร่างกฎหมายที่รัฐบาลเตรียมเสนอให้ สนช.พิจารณานั้น ควรพิจารณาเลือกฉบับที่สำคัญและส่งให้ สนช. ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อให้พิจารณาให้เสร็จทันก่อนการเลือกตั้ง ส่วนกฎหมายที่ไม่สำคัญ ควรส่งให้รัฐบาลชุดต่อไปพิจารณา เพราะเป็นห่วงว่า หากรัฐบาลเสนอร่างกฎหมายให้ สนช. พิจารณาแบบเร่งรีบ อาจเกิดความไม่รอบคอบได้ และอาจเป็นประเด็นที่บางกลุ่มนำไปเคลื่อนไหว เพราะ สนช.ออกกฎหมายไม่รอบคอบได้
 
 
2 พฤศจิกายน 2561 
 
สนช.เห็นชอบให้ประกาศใช้ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
 
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ก่อนมีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายด้วยเสียง 167 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง โดยไม่มีผู้ไม่เห็นด้วย จากจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม 172 คน
 
โดยมีการเพิ่มข้อกำหนดต่างๆ เพิ่มเติม อาทิ กรณีที่ศาลมีอำนาจพิจารณาและสืบพยานลับหลังจำเลยได้ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ดำเนินกระบวนการพิจารณากรณีจำเลยหลบหนีหรือไม่มารับฟังโดยไม่มีเหตุอันควร และครอบคลุมไปถึงกรณีจำเลยที่เป็นนิติบุคคลที่ถูกออกหมายจับแต่ยังจับตัวไม่ได้ รวมทั้งกำหนดเรื่องการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการส่งสำเนาฟ้องและหมายเรียกให้แก่จำเลยด้วยจำนวนไม่สูงเกินสมควร ทั้งนี้ ร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
 
 
ป.ป.ช. ยัน เกณฑ์ยื่นบัญชีทรัพย์สินใหม่ ไม่เว้นผัว-เมีย นอกสมรส เผย ‘ตรวจสอบไม่ยาก’
 
พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงประกาศ ป.ป.ช.กำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่รัฐ ตาม พ.ร.ป.ป.ป.ช. ปี 2561 ที่กำหนดให้ ป.ป.ช.ต้องกำหนดผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งเป็นตำแหน่งระดับสูง ว่า ตำแหน่งใดที่เข้าเกณฑ์ตำแหน่งระดับสูง จะต้องยื่นทั้งหมดไม่มีข้อยกเว้น พร้อมกันนี้ ป.ป.ช.ยังต้องมาตีความว่า มีตำแหน่งใดที่เข้าข่ายผู้บริหารระดับสูงบ้าง เช่น อธิการบดีมหาวิทยาลัย เป็นผู้บริหารระดับสูง เป็นต้น อย่างไรก็ตามหลังออกประกาศแล้ว จะมีเวลา 30 วัน ให้ผู้ที่ถูกกำหนดที่จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินได้เตรียมตัว พร้อมรับฟังข้อทักท้วงต่างๆ และจะนำไปหารือกับคณะกรรมการ ป.ป.ช.ต่อไป
 
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ส่วนข้อ 7 ที่กำหนดให้ผู้ซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยาของผู้บริหารระดับสูง ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินด้วย แม้ไม่ได้จดทะเบียนสมรสก็ตาม กรณีนี้จะครอบคลุมสถานะใดบ้างนั้น ก็ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศ โดยจะพิจารณาตามหลักเกณฑ์ว่า สถานะใดเข้าข่ายบ้าง เพราะหลักเกณฑ์นี้เป็นเรื่องที่เราได้รับฟังความคิดเห็นมา เราสร้างหลักเกณฑ์เพื่อที่จะสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ โดยไม่ถือว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก แม้จะยุ่งยาก ก็เป็นหน้าที่ของเราอยู่ดี โดยการตรวจสอบจะมีการแจ้งเบาะแสต่างๆ เข้ามา
ที่มา: ข่าวสด
 
3 พฤศจิกายน 2561 
 
ราชกิจจานุเบกษาประกาศ 'พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561'
 
ราชกิจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 และให้ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 เหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงการจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ให้เหมาะสมแก่การบริหารจัดการยิ่งขึ้น โดยถวายเป็นพระราชอำนาจในการจัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย เพื่อให้การใช้ประโยชน์ทรัพย์สินนั้นเป็นไปโดยเหมาะสมตามที่จะทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยตามโบราณราชประเพณี
 
ที่มา: ประชาไท