NLA Weekly (5 – 11 พ.ย. 2561): สนช. เตรียมเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประชารัฐฯ เป็นกฎหมาย

NLA Weekly (5 – 11 พ.ย. 2561): สนช. เตรียมเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประชารัฐฯ เป็นกฎหมาย

เมื่อ 11 พ.ย. 2561
สัปดาห์ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่างกฎหมายอย่างน้้อยสองฉบับ คือ รับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถาบันพระบรมราชชนก และเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การจัดการประชารัฐสวัสดิการ เพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม เป็นกฎหมาย
 
ขณะที่สัปดาห์นี้ สนช. จะมีการพิจารณาเห็นชอบร่างกฎหมายสี่ฉบับคือ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และร่าง พ.ร.บ.การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เป็นกฎหมาย และจะรับหลักการร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร และร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร นอกจากนี้จะให้ความเห็นชอบ จารุวรรณ เฮงตระกูล เป็น เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
 
5 พฤศจิกายน 2561
 
‘ปณิธาน’ เผย พ.ร.บ.ไซเบอร์ เห็นรูปร่างต้น ธ.ค.นี้ ย้ำ ทุกอย่างเพื่อความมั่นคง
 
ปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง กล่าวถึงความคืบหน้า ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ พ.ศ. … ว่า ขณะนี้ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้สรุปความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และภาคเอกชน ที่ได้ไประดมความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ในรอบแรกว่าจะมีการแยกแยะ และกำหนดให้ชัดในแต่ละเรื่อง เพื่อจะนำข้อเสนอใหม่ไปคุยอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้ จะได้มาดูว่า มีอะไรที่ต้องปรับหรือแก้บ้าง ประมาณต้นเดือนธันวาคมนี้ จะได้เห็นรูปร่างหน้าตาที่สมดุลขึ้น โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เห็นว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเป็นเครื่องมือที่ดีของรัฐบาลที่จะมาถึงในอนาคต แต่ต้องทำให้สมดุล ประชาชนไม่เป็นกังวลว่าจะกระทบกับสิทธิ ซึ่งจะมีร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. … ออกมาด้วย จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น
 
ที่มา: ข่าวสด
 
6 พฤศจิกายน 2561
 
กกต. ประกาศแล้ว 436 องค์กรมีสิทธิเสนอชื่อ ส.ว. สหกรณ์โดนเหี้ยน ยื่นคัดค้านใน 3 วัน
 
อิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ลงนามประกาศ กกต. เรื่องรายชื่อองค์กรที่มีสิทธิแนะนำชื่อบุคคลเพื่อสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ว. แล้ว หลังจากที่ประชุม กกต. ตรวจสอบคุณสมบัติและให้ความเห็นชอบ จากองค์กรที่ยื่นลงทะเบียน 476 องค์กร มีองค์กรที่มีสิทธิแนะนำชื่อบุคคลเพื่อสมัครเป็น ส.ว. 436 องค์กร หลังประธาน กกต. ลงนามประกาศ กกต. ดังกล่าวแล้ว ค่ำวันเดียวกัน สำนักงาน กกต. ได้มีหนังสือด่วนที่สุดแจ้ง ผอ.กต. ประจำจังหวัดทุกจังหวัดและกรุงเทพมหานคร ให้ปิดประกาศรายชื่อองค์กรที่มีสิทธิแนะนำชื่อบุคคลเพื่อสมัครรับเลือกเป็น ส.ว. ทั้ง 436 องค์กรให้ประชาชนทราบ
 
ที่มา: ข่าวสด
 
ครม. เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ ตั้งคนต่างด้าวเป็นอนุญาโตฯ ได้
 
พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ของสำนักงานศาลยุติธรรม ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. กำหนดให้คู่พิพาทในทางอนุญาโตตุลาการสามารถตั้งคนต่างด้าวเป็นอนุญาโตตุลาการ หรือผู้รับมอบอำนาจ เพื่อทำหน้าที่แทนในการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการในราชอาณาจักรได้ 
 
ที่มา: ข่าวสด
 
8 พฤศจิกายน 2561
 
เลื่อนปลดล็อกหลังออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ‘วิษณุ’กางไทม์ไลน์ให้ ครม. เตรียมงาน ลั่นรัฐบาลนี้มีอำนาจเต็ม
 
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงถึงการเตรียมการของ ครม. ในการเลือกตั้งว่า สถานภาพของรัฐบาลปัจจุบันนั้น รัฐธรรมนูญกำหนดให้ คสช.และรัฐบาลนี้อยู่แบบมีอำนาจเต็มต่อไปจนกว่ารัฐบาลชุดใหม่ ส่วนการปฏิบัติตัวของ ครม.ต้องแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1.รัฐมนตรี 4 คนที่ไปเกี่ยวข้องกับการทำงานในฐานะพรรคการเมือง แม้ไม่มีความเสียหายเรื่องของกฎหมาย แต่ต้องดูเรื่องมารยาท 2.นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานเหมือนที่ผ่านมา โดยวางตัวเป็นกลางทางการเมือง 
 
สำหรับปฏิทินการทำงาน หลังจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 บังคับใช้ 11 ธันวาคม 2561 จะเริ่มนับกำหนดเวลาให้ต้องจัดเลือกตั้งส.ส.ให้เสร็จภายใน 150 วัน คือ ไม่เกินวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ซึ่งจากการหารือกับ กกต. แล้วเห็นว่าช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ขณะที่ ภายในวันที่ 24 เมษายน 2562  กกต. ต้องประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. และจะเปิดการประชุมรัฐสภาภายใน 8 พฤษภาคม 2562 จะมีการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา ต่อด้วยการเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีแล้ว จัดตั้ง ครม. จะทำให้รัฐบาลเก่าและ คสช. จะสิ้นสุดลงคือภายในเดือน มิถุนายน 2562
 
 
9 พฤศจิกายน 2561
 
สนช. ประทับตราเอกฉันท์ ตั้ง 'กก.-กองทุน ประชารัฐ'
 
ที่ประชุม สนช. มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การจัดการประชารัฐสวัสดิการ เพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม พ.ศ... เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ต่อยอดนโยบาย และโครงการประชารัฐ ที่เกิดในสมัยรัฐบาล ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ให้เป็นนโยบายและโครงการที่กฎหมายรองรับ และจัดตั้งกองทุนประชารัฐ เพื่อนำไปใช้ในโครงการหรือมาตรการต่างๆ ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ให้ด้วยเสียงเอกฉันท์ 164 เสียง โดยใช้เวลาพิจารณา รวม 2 ชั่วโมง
 
ขณะที่การพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณา ร่างพ.รบ.ประชารัฐฯ รวม 58 วัน โดยผลการพิจารณาร่างกฎหมาย ทั้ง 28 มาตรา พบการแก้ไข 9 มาตรา และเพิ่มขึ้นใหม่ 1 มาตรา โดยนอกจากสาระสำคัญ ที่ให้ตั้งคณะกรรมการประชารัฐฯ แล้วยังมีเนื้อหาที่ให้อำนาจคณะกรรมการฯ ดำเนินงานต่อยอดโครงการหรือมาตรการเกี่ยวกับประชารัฐสวัสดิการ อาทิ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือและการเดินทาง พร้อมทั้งยังมีหน้าที่เสนอโครงการใหม่ ประเมินผล กำกับดูแลและบริหารจัดการโครงการที่เกี่ยวข้อง
 
 
สนช. เห็นชอบรับหลักการร่าง พ.ร.บ.สถาบันพระบรมราชชนก
 
ที่ประชุม สนช. มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.สถาบันพระบรมราชชนก ที่คณะรัฐมนตรีเสนอ ด้วยเสียง 179 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง โดยไม่มีผู้ไม่เห็นด้วย ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่าร่างกฎหมายดังกล่าว เป็นการปรับสถานะของสถาบันพระบรมราชชนกซึ่งมีวิทยาลัยในสังกัดจำนวน 39 แห่ง เป็นสถาบันพัฒนากำลังคนด้านสาธารณสุข มีสถานะเป็นส่วนราชการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปลี่ยนมาเป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่จัดการศึกษาระดับปริญญา และเป็นนิติบุคคล เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ที่มีฐานะเป็นกรมหรือเทียบเท่ากรม สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการศึกษามีประสิทธิภาพ เกิดความอิสระ คล่องตัวขึ้น ผลิตบุคคลได้ตามความต้องการของกระทรวงสาธารณสุข ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพ ทำการสอน วิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม โดยเน้นความร่วมมือกับชุมชน และการให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่ตอบสนองความต้องการประชาชนได้ทั่วถึง มีศักยภาพสูงขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลเรื่องการศึกษาเรียนรู้และแผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข
 
 
สนช. มีมติให้ ครม. รับร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ไปพิจารณา ช่วยปลดล็อคกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์
 
ที่ประชุม สนช. เห็นชอบให้คณะรัฐมนตรีขอรับร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ สมชาย แสวงการ และคณะสมาชิก สนช. รวม 44 คน เข้าชื่อเสนอ ไปพิจารณา โดยมีปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นตัวแทนรัฐบาล พร้อมระบุถึงกระบวนการที่จะนำกลับไปพิจารณาในกรอบเวลา 30 วัน ก่อนส่งกลับมายัง สนช. เพื่อเข้าสู่การพิจารณาในวาระรับหลักการต่อไป สำหรับร่างกฎหมายดังกล่าว เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ที่กำหนดให้สามารถขออนุญาต ผลิต นำเข้าหรือส่งออก ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ซึ่งประกอบด้วยกัญชา และกระท่อม เป็นการปลดล็อคให้นำกัญชาและพืชกระท่อมไปทำการศึกษาวิจัย เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และนำไปรักษาภายใต้การดูแลและควบคุมของแพทย์