NLA Weekly (19 – 25 พ.ย. 2561): สนช. เห็นชอบอีก 2 กกต. ครบ 7 คนแล้ว ตามรธน.

NLA Weekly (19 – 25 พ.ย. 2561): สนช. เห็นชอบอีก 2 กกต. ครบ 7 คนแล้ว ตามรธน.

เมื่อ 25 พ.ย. 2561
ความเคลื่อนไหวของสภานิติบัญัติแห่งชาติ (สนช.) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา สนช. ลงมติเห็นชอบให้ เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ และฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ส่งผลให้ในขณะนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งมีครบ 7 คนตามรัฐธรรมนูญแล้ว
 
ด้านการพิจารณากฎหมาย สนช. ลงมติวาระสาม ผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการยุติธรรม ซึ่งเพิ่มอำนาจให้คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ออกระเบียบกำหนดเบี้ยประชุมสำหรับข้าราชการตุลาการที่เข้าร่วมการประชุมใหญ่ในศาลชั้นอุทธรณ์หรือศาลฎีกา
 
อีกทั้ง สนช. ยังลงมติวาระแรก รับหลักการ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ให้นำกัญชา ใบกระท่อม ซึ่งอยู่ในหมวดยาเสพติดให้โทษประเภท 5 มาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้ 
 
22 พฤศจิกายน 2561 
 
สนช.ฉลุยผ่านกม.แจกเบี้ยประชุมศาล 12 หน่วย คาด 5 ปีแรกใช้งบแตะ 1.1 พันล้าน
 
สนช. มีมติในวาระสามผ่านร่างพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการยุติธรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯเสนอ ด้วยคะแนน 145 ต่อ 0 งดออกเสียง 6 สาระสำคัญคือ ให้คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมมีอำนาจออกระเบียบกำหนดเบี้ยประชุมของข้าราชการตุลาการ ซึ่งเข้าร่วมในการประชุมใหญ่ของศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์
 
สำหรับงบประมาณการรายจ่ายเบี้ยประชุม ประกอบด้วย ประธานได้รับเบี้ยประชุม 10,000 บาท องค์ประชุมคนละ 8,000 บาท เลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการคนละ 6,000 บาท ผู้เข้าร่วมประชุมคนละ 6,000 บาท ใน 12 หน่วยงานศาลคือ ศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ และศาลอุทธรณ์ภาค 1-9 ที่จะประชุมเดือนละ 2 ครั้ง รวมปีละ 24 ครั้ง ประมาณการรายจ่ายราย 12 ศาลต่อปีอยู่ที่ 207,360,000 บาท คาดว่า 5 ปีแรกต้องใช้งบประมาณแตะ 1,100 ล้านบาท
 
 
สนช. เห็นชอบให้ เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ และฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ ให้ดำรงตำแหน่ง กกต.
 
สนช. ประชุมเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกกต. จำนวน 2 คน โดยภายหลังจากการประชุมลับแล้ว ที่ประชุมลงมติให้ความเห็นชอบ เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ (เห็นชอบ 148 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 28 เสียง ไม่ออกเสียง 8 เสียง) และฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ (เห็นชอบ 149 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 27 เสียง ไม่ออกเสียง 8 เสียง) จึงถือว่าได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งกกต. ทั้งนี้ ว่าที่ กกต. 2 คนดังกล่าวเป็นการสรรหาเพิ่มเติม ส่งผลให้กกต.ในขณะนี้ มีครบ 7 คนตามรัฐธรรมนูญแล้ว
 
 
สนช. รับหนังสือจากประธานสภาเกษตรกรและผู้แทนจากสภากาชาดไทย หนุนปลดล็อคกัญชาให้ใช้ครอบคลุมการแพทย์ทุกสาขา
 
สนช. รับหนังสือจากประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติและผู้แทนจากสภากาชาดไทย โดยได้เสนอ ให้ยกเลิกความในมาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 18 และให้บทบัญญัติมาตรา 17 ไม่ใช้บังคับ แห่งร่างพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 คือ การมียาเสพติดให้โทษประเภท 2 หรือประเภท 5 ไว้ในการครอบครองไม่เกินจำนวนที่จำเป็นสำหรับใช้รักษาโรคเฉพาะตัวโดยมีหนังสือรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่งในสาขาทันตกรรมซึ่งเป็นผู้รักษา
 
ดังนั้น อยากให้เพิ่มเพื่อให้ครอบคลุมสาขาของการแพทย์ทุกสาขา เห็นควรเพิ่มผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยสาขาเวชกรรมไทยหรือผู้ประกอบวิชาชีพแผนไทยประยุกต์ร่วมอยู่ด้วย
 
 
สนช. รับหนังสือจากเครือข่ายประชาสังคมกัญชาการแพทย์ เรียกร้อง 4 ข้อ ย้ำต้องใช้ทางการแพทย์เท่านั้น
 
สนช. รับหนังสือ จาก นายปานเทพ พัวพงษ์พันธุ์ เครือข่ายประชาสังคมกัญชาทางการแพทย์สำหรับประชาชน เรื่อง ขอให้แก้ไขร่างพ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่..)พ.ศ. .... ที่เสนอโดย สนช. จำนวน 44 คน ตามข้อเสนอของเครือข่ายประชาสังคมกัญชาทางการแพทย์สำหรับประชาชน 
 
โดยมีข้อเรียกร้องจำนวน 4 ข้อ คือ ให้พิจารณาไม่ให้เกิดการผูกขาดการใช้ประโยชน์จากกัญชาไว้เฉพาะทางราชการหรือต่างชาติหรือเอกชนรายใดรายหนึ่งโดยเด็ดขาด ให้ยกเลิกคำขอการจดสิทธิบัตรกัญชาทุกฉบับโดยทันที หยุดสร้างอุปสรรคขัดขวางการสร้างนวัตกรรมและการวิจัย รวมถึงการใช้ข้ออ้างเรื่องงานวิจัยเพื่อขัดขวางการใช้ประโยชน์ของกัญชาในทางการแพทย์ และปลดล็อคการใช้กัญชาให้แพทย์แผนไทยเพื่อสืบสานมรดกการแพทย์ภูมิปัญญาพระราชทานจากบูรพมหากษัตริย์ไทย
 
 
23 พฤศจิกายน 2561 
 
สนช. รับหลักการ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ปลดล็อคกัญชาให้ใช้ทางการแพทย์ได้ 
 
สนช. ประชุมพิจารณาร่างพ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ โดยร่างกฎหมายยาเสพติดให้โทษเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มีสาระสำคัญในการให้นำกัญชา ใบกระท่อม ซึ่งอยู่ในหมวดยาเสพติดให้โทษประเภท 5 มาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ มีจำนวน 17 มาตรา 12 หลักการ 
 
ที่ประชุมทำการลงมติ และปรากฏผลรับหลักการด้วยเสียง 145 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง โดยไม่มีผู้ไม่เห็นด้วย พร้อมกำหนดตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาทำหน้าที่พิจารณาจำนวน 29 คน กรอบเวลาทำงาน 60 วัน กำหนดแปรญัตติภายใน 7 วัน