NLA Weekly (3 - 9 ธันวาคม 2561): คสช. ประกาศยืนยันวันเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 2562 แน่นอน!

NLA Weekly (3 - 9 ธันวาคม 2561): คสช. ประกาศยืนยันวันเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 2562 แน่นอน!

เมื่อ 9 ธ.ค. 2561
ความเคลื่อวไหวในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) สัปดาห์นี้ สนช. ได้ผ่านร่างกฎหมายที่น่าสนใจ สองฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฯ ที่เกี่ยวกับการตัดสิทธิ์คนหนีคดีในการไม่ให้ใช้วิธีการทางศาลได้ และพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ที่เกี่ยวกับเรื่องการจัดเก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์ นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้านหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีการนัดหมายประชุมพรรคการเมือง และกำหนดวันเลือกตั้งที่แน่นอนแล้ว คือวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 พร้อมทั้งกำหนดวันต่างๆ ในการทำงานของรัฐบาลและ สนช. 
 
ขณะที่สัปดาห์หน้า สนช. มีความเคลื่อนไหวดังนี้ วันที่ 13 ธันวาคม 2561 มีการนัดประชุม สนช. โดยมีวาระที่น่าสนใจคือ จะมีการให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และพิจารณาเห็นชอบร่างกฎหมายอีกเจ็ดฉบับเป็นกฎหมาย ได้แก่ 
1. ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 
2. ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร
3. ร่าง พ.ร.บ.สถาบันพระบรมราชชนก 
4. ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน 
5. ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการรัฐสภา
6. ร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา, ร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 
7.ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา  
 
ส่วนในวันที่ 14 ธันวาคม 2561 มีการนัดพิจารณารับหลักร่างกฎหมายอีกห้าฉบับ ได้แก่ 
1. ร่างพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์
2. ร่างพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ 
3. ร่างพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ 
4. ร่างพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย
5. ร่างพระราชบัญญัติข้าว 
 
4 ธันวาคม 2561 
 
สนช. แก้ ป.วิ.อาญา ตัดสิทธิคนหนีคดีฟ้องศาล-แก้ฟ้องซ้ำ-กันฟ้องปิดปาก
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จำนวนห้ามาตรา ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่มีมหรรณพ เดชวิทักษ์เป็นประธาน โดยที่ประชุมลงมติเห็นชอบร่างฯ ในวาระสองและสามด้วยคะแนน 149 ต่อ 0 งดออกเสียง 3 เสียง เตรียมประกาศใช้ พ.ร.บ. ต่อไป
 
เนื้อหาสำคัญที่อยู่ใน พ.ร.บ. ก็คือมาตรา 5 ที่ให้เพิ่มข้อความเข้าไปต่อจากมาตรา 161 ทั้งนี้ ป.วิ.อาญา มาตรา 161 ที่มีบัญญัติไว้อยู่แล้ว มีใจความว่า ถ้าฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้ศาลสั่งโจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องหรือยกฟ้องหรือไม่ประทับฟ้อง และโจทก์มีอำนาจอุทธรณ์คำสั่งเช่นนั้นของศาล โดยเพิ่มข้อความ คือ “มาตรา 161/1 ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ หากความปรากฎต่อศาลเองหรือมีพยานหลักฐานที่ศาลเรียกมาว่าโจทก์ฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือโดยบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลยหรือโดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าประโยชน์ที่พึงได้โดยชอบ ให้ศาลยกฟ้อง และห้ามมิให้โจทก์ยื่นฟ้องในเรื่องเดียวกันนั้นอีก”
 
“การฟ้องคดีโดยไม่สุจริตตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงกรณีที่โจทก์จงใจฝ่าฝืนคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลในคดีอาญาอื่นซึ่งถึงที่สุดแล้วโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรด้วย”
 
ด้านคิงส์ลีย์ แอบบอต ที่ปรึกษาคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลทวีตต่อกรณีนี้โดยมองว่าการเพิ่มเติมเนื้อหาใน ป.วิ.อาญา นี้คือการผ่านกฎหมายต่อต้านการฟ้องปิดปาก (so-called Anti SLAPP law)
 
ที่มา: ประชาไท
 
สนช.ผ่าน กม.รีดภาษีผู้ค้าออนไลน์ ปรับโอน 400 ครั้งต่อปี ยอดรวม 2 ล้านแจ้งสรรพากร
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร จำนวน 5 มาตรา ในวาระ 2-3 ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรพิจารณาเสร็จแล้ว มีสาระสำคัญคือ การกำหนดให้สถาบันการเงินต้องรายงานข้อมูลของบุคคลและนิติบุคคลที่มีความเคลื่อนไหวทางบัญชีในการทำธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีเกิน 3,000 ครั้งต่อปี หรือการฝาก-รับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 200 ครั้ง ที่ยอดเงินตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไปต่อปี ส่งให้กรมสรรพากรตรวจสอบเพื่อประโยชน์ในการเก็บภาษีได้อย่างถูกต้อง โดยตั้งเป้าเรียกเก็บภาษีจากผู้ขายสินค้าผ่านทางออนไลน์ที่ปัจจุบันการติดตามข้อมูล เพื่อจัดเก็บภาษีไม่อาจดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าว โดย สนช. ให้ความเห็นชอบวาระ 3 ด้วยคะแนน 139 ต่อ 0 งดออกเสียง 7
 
 
5 ธันวาคม 2561
 
ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศแต่งตั้ง 'เลิศวิโรจน์-ฐิติเชฏฐ์' เป็น กกต. เพิ่ม
 
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศแต่งตั้งกรรมการการเลือกตั้ง โดยมี พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นผู้รับสนองพระราชโองการ โดยประกาศ แต่งตั้งกรรมการการเลือกตั้ง ดังนี้
 
1. นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ เป็นกรรมการการเลือกตั้ง
2. นายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ เป็นกรรมการการเลือกตั้ง
 
สำหรับทั้งคู่ สนช. เพิ่งลงมติเห็นชอบ ไปเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยเลิศวิโรจน์ เป็นอดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขณะที่ ฐิติเชฏฐ์ เป็นอดีตที่ปรึกษาประธานศาลรัฐธรรมนูญ
 
ที่มา: ประชาไท
 
7 ธันวาคม 2561 
 
คอนเฟิร์มเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 2562 เปิดหาเสียง 2 มกราคม 2562 ได้รัฐบาลใหม่ พฤษภาคม - มิถุนายน 2561
 
ที่สโมสรทหารบก วิภาวดี พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการหารือร่วมระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐบาล คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และพรรคการเมือง ว่ามีการพูดคุยเรื่องขั้นตอนต่างๆ หลังจากนี้ ทั้งการที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 ธันวาคม 2561 รวมถึงกรอบเวลาจนถึงได้รัฐบาลชุดใหม่ ที่จะอยู่ประมาณเดือน พฤษภาคม - มิถุนายน 2562 
 
นอกจากนี้ กกต.ยังได้ชี้แจงบางขั้นตอนที่พรรคการเมืองจะนำไปปฏิบัติ โดยช่วงท้ายยังเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองซักถาม ซึ่งมีข้อสังเกตหลายอย่างจากพรรคการเมือง เช่น กังวลเรื่องเวลาการสังกัดพรรคการเมืองเพื่อให้คุณสมบัติครบที่จะลงรับสมัคร ส.ส.ได้ หรือค่าสมาชิกพรรค ซึ่งหัวหน้า คสช.และประธาน กกต.จะรับข้อสังเกตเหล่านี้ไปพิจารณาและดำเนินการต่อไปเท่าที่ทำได้ ส่วนวันเลือกตั้งมีการยืนยันในที่หารือว่ายังเป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562
 
พุทธิพงษ์กล่าวว่า ในส่วนของวันปลดล็อกที่จะให้พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมได้ จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ โดยอยู่ภายในเดือน ธันวาคมนี้แน่นอน ซึ่งจะมีการหารือเรื่องนี้ในที่ประชุม คสช.เร็วๆ นี้ อย่างไรก็ตาม การหารือครั้งนี้ไม่ได้มีการพูดถึงกรณีพรรคการเมืองใหญ่ไม่มาร่วม มีแต่หัวหน้า คสช.ได้ขอบคุณทุกพรรคการเมืองที่มาแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่างๆ ซึ่งจะนำไปปรับปรุงให้การเลือกตั้งเรียบร้อยต่อไป ส่วนพรรคการเมืองที่ไม่ได้มาคิดว่าคงได้ข้อมูล แนวทาง และกรอบเวลาที่จะปฏิบัติในระยะเวลาอันใกล้นี้ ซึ่งจริงๆ วันนี้ทุกอย่างแทบจะชัดเจน เพราะวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงกรอบเวลาต่างๆ ได้ชัดเจนมาก ว่าทุกอย่างเป็นไปตามข้อบังคับและกฎหมาย และรัฐบาลไม่ต้องทำหนังสือแจ้งพรรคการเมืองใหญ่ที่ไม่ได้มาร่วมหารือ เพราะเชื่อว่าคงได้ติดตามอยู่
 
ด้านวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมายได้ชี้แจงปฏิทินทางการเมือง เริ่มจากวันที่ 2 มกราคม 2562 จะประกาศใช้ พ.ร.ฎ.ให้เลือกตั้ง ส.ส.(เริ่มหาเสียงได้ เริ่มคิดค่าใช้จ่าย) วันที่ 4 มกราคม 2562 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะออกประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง วันรับสมัครจำนวน ส.ส.แต่ละจังหวัด เขตเลือกตั้ง สถานที่สมัคร แบบบัญชีรายชื่อ วันที่ 14-18 ม.ค.จะเปิดรับสมัคร พรรคแจ้งชื่อผู้จะเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี รวมระยะเวลา 5 วัน ส่วนวันที่ 25 มกราคม 2562 กกต.ประกาศรายชื่อผู้สมัครแบบแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อของทุกพรรค
 
จากนั้น วันที่ 4-16 กุมภาพันธ์ 2562 จะเป็นวันเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562  (สนช.) ต้องหยุดการพิจารณากฎหมาย วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2562 จะเป็นวันเลือกตั้งล่วงหน้า และวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 จะเป็นวันเลือกตั้งตามข้อเสนอของ กกต. ขณะที่เดือน มีนาคม 2562 ไม่มีการชี้แจงกิจกรรมเนื่องจากอยู่ในช่วงที่ กกต.รับรองผลเลือกตั้ง 
 
วันที่ 25 เมษายน 2562 จะเป็นวันสุดท้ายของการประกาศผลเลือกตั้ง และวันที่ 28 เมษายน 2562 จะเป็นวันสุดท้ายที่ คสช.จะคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ครบ 250 คน และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และรอการประกาศแต่งตั้ง ส.ว.