NLA Weekly (10-16 ธ.ค. 2561): คสช. ใช้ ม.44 ปลดล็อคให้พรรคการเมือง-ประชาชน ทำกิจกรรมทางการเมืองได้

NLA Weekly (10-16 ธ.ค. 2561): คสช. ใช้ ม.44 ปลดล็อคให้พรรคการเมือง-ประชาชน ทำกิจกรรมทางการเมืองได้

เมื่อ 16 ธ.ค. 2561
สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนัดพิจารณาร่างกฎหมายรวม 11 ฉบับ ซึ่งเป็นการรับหลักการ 8 ฉบับ คือ 1.ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... , 2.ร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... , 3.ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... , 4.ร่าง พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... , 5.ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... , 6.ร่าง พ.ร.บ.สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... , 7.ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ พ.ศ. .... และ 8.ร่าง พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
 
และเห็นชอบเป็นกฎหมาย 3 ฉบับ คือ 1.ร่าง พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... , 2.ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....  และ 3.ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
 
นอกจากนี้ ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองด้านต่างๆ ดังนี้
 
11 ธันวาคม 2561
 
คสช. ใช้ ม.44 ปลดล็อคให้พรรคการเมือง-ประชาชนทำกิจกรรมทางการเมืองได้
 
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561 เรื่อง การให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง โดยสาระสำคัญของคำสั่งดังกล่าว คือ ยกเลิกประกาศ คำสั่ง และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ห้ามพรรคการเมืองหรือประชาชนทำกิจกรรมทางการเมือง จำนวน 9 ฉบับ เช่น คำสั่งห้ามทำธุรกรรมทางการเงิน ห้ามบุคคลเคลื่อนไหวหรือสนับสนุนกิจกรรมทางการเมือง ห้ามไม่ให้พรรคการเมืองดําเนินการประชุม และห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
 
ที่มา: ไอลอว์
 
คสช. ใช้ ม.44 อุ้ม “ผู้บริหารระดับสูง” หน่วยงานรัฐอื่นของรัฐไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน
 
หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 21/2561 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่มีผลให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สามารถใช้ดุลยพินิจกำหนดว่า ผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐใดต้องยื่นหรือไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน
 
สาระสำคัญข้อแรกของคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้ คือ ยกเลิกบทนิยามคำว่า "ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง" ในมาตรา 4 ของ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. โดยให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจในการกำหนดตำแหน่งของคณะกรรมการและผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐที่ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินหรือหนี้สินซึ่งปกติแล้วตำแหน่งที่ถือว่าเป็น "ผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐ" เช่น ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาในกํากับของรัฐ ธนาคารแห่งประเทศไทย สถาบันพระปกเกล้า องค์การมหาชนต่างๆ เป็นต้น และสุดท้าย ให้ยกเลิกประกาศ ป.ป.ช. เรื่อง กําหนดตําแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ. 2561
 
ที่มา: ไอลอว์
 
13 ธันวาคม 2561
 
สนช. เห็นชอบให้มีการประกาศใช้ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน แก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการคุ้มครองสิทธิให้กับลูกจ้าง
 
ที่ประชุม สนช. พิจารณาเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นกฎมาย ด้วยเสียง 180 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง โดยไม่มีผู้ไม่เห็นด้วย สำหรับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 อาทิ กำหนดให้การเปลี่ยนตัวนายจ้างต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระจำเป็นไม่น้อยกว่า 3 วัน กำหนดให้ลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตรได้โดยถือเป็นวันลาเพื่อคลอดบุตรจำนวน 98 วัน เพิ่มอัตราชดเชยให้ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 20 ปี ขึ้นไป การแจ้งให้ลูกจ้างทราบภายในกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนดและต้องมีความชัดเจนเมื่อจะย้ายสถานที่ประกอบการไปสถานที่ใหม่ และการแก้ไขให้นายจ้างกำหนดค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ในอัตราเท่ากันทั้งลูกจ้างชายและหญิงที่มีค่าเท่าเทียมเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
 
 
สนช. มีมติให้ประกาศใช้ร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร สนับสนุนการค้ากับองค์การระหว่างประเทศ
 
ที่ประชุม สนช. ได้มีการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่กำหนดให้ใช้อัตราภาษีร้อยละ 0 ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายสินค้าหรือให้บริการกับองค์การระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีพันธกรณีความตกลงที่ต้องปฏิบัติเทียบเท่ากับสถานเอกอัครราชทูต องค์การสหประชาชาติ หรือทบวงชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ และสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าของต่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีความตกลง และส่งเสริมความสัมพันธ์ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับนานาประเทศ โดยที่ประชุม สนช. มีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้ร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ด้วยเสียง 175 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง โดยไม่มีผู้ไม่เห็นด้วย
 
 
สนช. เห็นชอบให้มีการประกาศใช้ร่างกฎหมายสถาบันพระบรมราชชนก
 
ที่ประชุม สนช. มีมติเห็นชอบให้มีการประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.สถาบันพระบรมราชชนก พ.ศ. .... ด้วยคะแนนเสียง 176 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง โดยไม่มีผู้ไม่เห็นด้วย ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าว เป็นการปรับสถานะของสถาบันพระบรมราชชนกซึ่งมีวิทยาลัยในสังกัดจำนวน 39 แห่ง เป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่จัดการศึกษาระดับปริญญา ที่มีความเป็นอิสระในการจัดการศึกษา มีการพัฒนาระบบบริหารและจัดการศึกษาเฉพาะทางได้อย่างคล่องตัว มีเสรีภาพทางวิชาการ ภายใต้การกำกับดูแลของสภาสถาบันพระบรมราชชนก และมีความสอดคล้องกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 เพื่อผลิตและพัฒนาบุคลากรตามความต้องการชองกระทรวงสาธารณสุข ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพ ทำการสอน วิจัย ให้บริการแก่สังคม รวมทั้งทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม
 
 
14 ธันวาคม 2561
 
สนช. มีมติ 139 เสียง รับหลักการร่างกฎหมายอนุญาโตตุลาการไว้พิจาณา
 
ที่ประชุม สนช. ได้มีการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดย วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงต่อที่ประชุมฯ ว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการแก้ไขกฎหมายฉบับเดิม เมื่อปี พ.ศ.2545 เพิ่มบทบัญญัติการตั้งให้คนต่างด้าวเข้ามาเป็นอนุญาโตตุลาการหรือผู้รับมอบอำนาจดำเนินการแทนคู่พิพาท จากเดิมที่อนุญาโตตุลาการผู้ไม่ใช่ตุลาการอาชีพรับหน้าที่วินิจฉัยระงับข้อพิพาทในคดีแพ่ง ภายใต้ความยินยอมของคู่กรณี ซึ่งภาคธุรกิจ การค้า นิยมใช้เพื่อระงับข้อพิพาท เนื่องจากความรวดเร็ว ลดความยุ่งยาก และประหยัดค่าใช้จ่าย  แต่ในหลายกรณีจำเป็นจะต้องเดินทางไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการในประเทศอื่น ซึ่งมักเป็นประเทศใกล้เคียงอย่าง สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง เนื่องจากในไทยยังมีข้อติดขัด โดยเฉพาะการเข้าเมืองของชาวต่างชาติที่จะเข้ามาทำหน้าที่อนุญาโตตุลาการในประเทศไทย ร่างกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นการส่งเสริมการพัฒนาอนุญาโตตุลาการในประเทศไทย และจะทำให้ไทยได้รับการยกย่องและพัฒนาไปจนถึงเป็นศูนย์กลางของการอนุญาโตตุลาการในอาเซียน ทั้งนี้ สนช. มีมติเห็นชอบรับหลักการร่าง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการไว้พิจารณาด้วยคะแนนเสียง 139 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง โดยไม่มีผู้ไม่เห็นด้วย
 
 
15 ธันวาคม 2561 
 
กกต. ออกระเบียบการหาเสียง ห้ามใช้รูปอดีตนายกรัฐมนตรี  
 
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร่างระเบียบเกี่ยวกับการหาเสียง ซึ่งกำหนดการจัดทำแผ่นป้ายหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เสร็จเรียบร้อบแล้ว โดยกำหนดว่า ผู้สมัคร ส.ส.เขต สามารถจัดทำแผ่นป้ายคัตเอาต์หาเสียงของตัวเองได้ จำนวนไม่เกิน 2 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในแต่ละเขต ขณะที่พรรคการเมืองสามารถจัดทำป้ายคัตเอาต์หาเสียงได้เอง จำนวนไม่เกิน 1 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในแต่ละเขต โดยในส่วนของ กกต.จัดทำแผ่นป้ายหาเสียงขนาด A3 ให้ผู้สมัครแต่ละคนอย่างเท่าเทียมกัน ขนาดและสถานที่ติดตั้งป้ายขึ้นอยู่กับ กกต. กำหนด
 
สำหรับแผ่นป้ายหาเสียง กกต. กำหนดให้ใช้เฉพาะรูปผู้สมัคร ส.ส.เขตแต่ละเขต หัวหน้าพรรค และ ว่าที่นายกรัฐมนตรี ตามที่พรรคการเมืองเสนอเท่านั้น ไม่สามารถใช้รูปบุคคลอื่น หรือผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในการหาเสียงได้ ทำให้พรรคเพื่อไทยและพรรคไทยรักษาชาติ ไม่สามารถใช้ภาพของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หาเสียงได้ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ก็ไม่สามารถใช้ภาพ ชวน หลีกภัย ในฐานะผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อได้เช่นกัน