Election Weekly (5 – 11 มกราคม 2562): เพื่อไทยถูกห้ามใช้สถานที่ปราศัย ขณะที่วันเลือกตั้งยังไม่เกิด

Election Weekly (5 – 11 มกราคม 2562): เพื่อไทยถูกห้ามใช้สถานที่ปราศัย ขณะที่วันเลือกตั้งยังไม่เกิด

เมื่อ 12 ม.ค. 2562

 

 

เข้าสู่สัปดาห์ที่สองของปีหมูทอง (ปี 2562) การเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ตามสัญญาของ คสช. ดูจากเลือนลางออกไป ขณะที่เส้นตายสุดท้ายของวันเลือกตั้งตามโรดแมปรัฐธรรมนูญ 9 พฤษภาคมนี้ ก็ใกล้เข้ามาทุกทีแต่ยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนจากผู้มีอำนาจ นอกจากนี้ยังมีเรื่องใหญ่ที่ต้องถกเถียงกันอีกว่าระยะเวลา 150 วัน ในการจัดเลือกตั้งต้องรวมการประกาศผลการเลือกตั้งที่ กกต. ต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 60 วัน หรือไม่ ซึ่งหากรวมนั้นหมายความว่าการกำหนดวันเลือกตั้งจะล่วงเลยไปเกินกลางเดือนมีนาคมไม่ได้ เรื่องนี้ทำให้หลายฝ่ายกังวลใจถ้าเลื่อนออกไปอาจทำให้การเลือกตั้งเป็นโฆฆะเลื่อนไปอีกยาวไม่รู้เมื่อไร

 

แม้วันเลือกตั้งจะยังไม่ชัดเจน แต่บรรดาพรรคการเมืองต่างเดินหน้าลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยไฮไลท์สัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่พรรคเพื่อไทยเพราะพบกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคจังหวัดบุรีรัมย์ ถูกควบคุมตัวจนอดเดินทางไปปราศัยกับประชาชน หรือจังหวัดเชียงรายตำรวจนอกเครื่องแบบติดตามทีมงานสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ตั้งแต่เช้ายันมื้อเย็น และที่พีคที่สุดคือการยกเลิกไม่ให้ใช้สถานที่ของ อบจ. พะเยา แม้จะได้รับการอนุญาตก่อนหน้าแล้วก็ตาม

 

กกต. ยังหาวันเลือกตั้ง คสช. ยันยืนได้เลือกตั้งล้านเปอร์เซ็นต์

 

วันเลือกตั้งยังคงเป็นปริศนาของประเทศไทย ยิ่งเมื่อเห็นหนังสือเวียนจากกรมการปกครอง  ที่ให้เจ้าหน้าที่ระงับการดำเนินการตามแผนงานเตรียมการเลือกตั้ง ก็ยิ่งชัดเจนว่าการเลือกตั้งคงเลื่อนอีกไปเป็นรอบที่ห้า แม้กรอบระยะเวลากำหนดวันเลือกตั้งตามโรดแมปจะบีบขึ้นมาทุกขณะแต่ กกต. ก็ยังกำหนดวันที่ชัดเจนไม่ได้ ส่วนผู้มีอำนาจใน คสช. ทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองหัวหน้า คสช. และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดาการ ยืนยันเหมือนกันจะมีเลือกตั้งล้านเปอร์เซ็นต์ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ขณะที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี คาดเลือกตั้งจะเกิดขึ้นไม่เกินเดือนมีนาคม 2562 แต่จะเกิดขึ้นวันใดเป็นอำนาจของ กกต.

 

ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศและระเบียบ กกต. 9ฉ.

 

11 มกราคม 2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศและระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จำนวน 9 ฉบับ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยฉบับที่น่าสนใจคือ ระเบียบว่าด้วยการหาเสียง และลักษณะต้องห้าม ซึ่งกำหนดลักษณะต้องห้ามการหาเสียงเช่น ห้ามนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้อง ห้ามนักร้อง นักแสดง สื่อมวลชน ใช้ความสามารถเพื่อช่วยพรรคการเมืองหาเสียง ห้ามแจกจ่ายเอกสารหาเสียงเลือกตั้งด้วยวิธีการวางในทีสาธารณะ นอกจากนี้ในการหาเสียงออนไลน์ กกต. สามารถสั่งให้พรรคการเมืองแก้ไขหรือลบข้อมูลในออนไลน์ได้ ยังมีรายละเอียดหยิบย่อยอีกมากที่ผู้สมัคร ส.ส. และพรรคการเมือง ต้องศึกษาให้รอบคอบ ไม่งั้นอาจโดน กกต. ลงโทษได้

 

กกต. จับมือ กองทัพจัด รด. จิตอาสาช่วยเลือกตั้ง

 

วันเลือกตั้งยังคงต้องรอ แต่การเตรียมการยังคงเดินหน้า วันที่ 10 มกราคม 2562 อิทธิพล บุญประคอง ประธาน กกต. กับ พล.อ.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ ผู้ช่วย.ผบ.ทบ. ได้ร่วมประชุมชี้แจงแนวทางการจัดกรรมเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับเลือกตั้ง โดยการเลือกตั้งครั้งนี้จะทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในวันเลือกตั้ง และช่วยรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง

 

เพื่อไทยถูกห้ามใช้สถานที่ปราศัย

 

สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์ที่วุ่นวายของพรรคเพื่อไทย เมื่อ สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง เดินทางลงพื้นที่พบประประชาชนในภาคอีสานและเหนือ ความวุ่นวายแรกเกิดขึ้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรชัย ศรีสุริยันโยธิน ถูกเจ้าหน้าตำรวจค้นบ้านพร้อมจับกุมตัว จนทำให้ไม่สามารถขึ้นเวทีปราศรัยพูดคุยกับประชาชนได้ และเมื่อขึ้นเหนือมาที่เชียงรายก็เจอตำรวจนอกเครื่องแบบติดตามถ่ายรูปตั้งแต่งเช้ายันค่ำ จน สุดารัตน์ ต้องเดินไปถามไถ่เป็นใครมาจากนั้นจนคลิปนี้กระจายไปทั่วโลกออนไลน์ จนอีกวันเวทีปราศัยของพรรคเพื่อไทยถูกห้ามใช้สถานที่ของ อบจ. พะเยา จนต้องปราศัยกันข้างถนนพร้อมกับประชาชนรอฟังจำนวนมาก