คสช.กับภารกิจซ่อมสร้างการประมง

คสช.กับภารกิจซ่อมสร้างการประมง

เมื่อ 24 ม.ค. 2562


ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายเป็นหนึ่งในปัญหาที่ คสช. ให้ความสำคัญอย่างมาก โดยในบรรดากฎหมายหลายร้อยฉบับที่ คสช. ผลักดันให้เกิดขึ้นมีจำนวนไม่น้อยกว่า 17 ฉบับที่เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (illegal, unreported and unregulated Fishing – IUU Fishing) ลักษณะของการออกกฎหมายในประเด็นนี้ไม่ได้ทำครั้งเดียวแล้วจบไป แต่หลายปีที่ผ่านมาต้องเป็นออกกฎหมายและระเบียบเรื่อยมาตามวาระจำเป็นเพื่อซ่อมสร้างอุตสาหกรรมการประมง

 

เหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากในเดือนเมษายน 2558 คณะกรรมาธิการยุโรป สหภาพยุโรปประกาศให้ "ใบเหลือง" จัดไทยอยู่กลุ่มประเทศที่ถูกเตือน (Warned Countries) อย่างเป็นทางการให้แก้ไขปัญหาในอุตสาหกรรมการประมงให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของสหภาพยุโรปที่เกี่ยวข้องกับ IUU  Fishing ภายในหกเดือน โดยไทยต้องดำเนินตามมาตรการต่างๆ เพื่อถอดถอนใบเหลือง หากทำไม่ได้ ผลที่เกิดขึ้น คือ ไทยจะสามารถส่งสินค้าประมงไทยไปในยุโรปเพื่อทำการค้า ซึ่งคณะกรรมาธิการยุโรป สหภาพยุโรปได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของไทย คือ การไม่มีระบบติดตามการทำประมง การประมงที่ไร้การควบคุมและไม่มีระบบตรวจสอบย้อนกลับในสายพานการผลิต และการกำหนดโทษในความผิดที่เกี่ยวข้องกับการกระทำไม่เหมาะสม

 

อะไรคือ IUU Fishing


วันที่ 1 มกราคม 2553 คณะกรรมาธิการ สหภาพยุโรปได้บังคับใช้ระเบียบว่าด้วยการทำประมงที่ผิดกฎหมาย (IUU Fishing) กำหนดให้สัตว์น้ำที่นำเข้าไปยังสหภาพยุโรปต้องระบุว่า ไม่ได้มาจากการทำประมงที่ผิดกฎหมาย (IUU Fishing) โดย IUU Fishing ย่อมาจาก illegal-unreported-unregulated Fishing

 

Illegal fishing คือ การทำประมงที่ผิดกฎหมาย หมายถึง การทำประมงที่ไม่ได้รับการอนุญาตจากรัฐที่มีอำนาจเหนือน่านน้ำหรือขัดต่อกฎหมายและกฎเกณฑ์ของรัฐที่มีอำนาจเหนือน่านน้ำหรือข้อผูกผันระหว่างประเทศ


Unreported fishing คือ การประมงที่ไม่รายงาน หมายถึงการไม่รายงานข้อมูลเกี่ยวกับการทำประมง เช่น ปริมาณสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมงครั้งหนึ่ง หรือรายงานผิดจากข้อเท็จจริงต่อรัฐที่มีอำนาจเหนือน่านน้ำที่ทำการประมง


Unregulated fishing คือ การประมงที่ไร้กฎเกณฑ์ควบคุม หมายถึงการทำประมงโดยเรือไม่ระบุสัญชาติหรือไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาชิกขององค์การบริหารจัดการทรัพยากรระดับภูมิภาค (RFMO) โดยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรการที่องค์การระหว่างประเทศกำหนด และการจับสัตว์น้ำโดยที่ยังไม่มีมาตรการอนุรักษ์

 

ขณะที่รายงานขององค์กร Environmental Justice Foundation ระบุว่า การทำประมงผิดกฎหมายมีความสัมพันธ์ของปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมประมง โดยการจัดการอุตสาหกรรมการประมงที่ไร้ประสิทธิภาพ ขาดการติดตาม,ควบคุมและตรวจตรานำไปสู่การทำประมงที่มากเกินกว่าขีดจำกัดของธรรมชาติ (Over fishing) จนกระทั่งระบบนิเวศเสื่อมโทรม จึงทำให้ปริมาณการจับสัตว์ทะเลในน่านน้ำเดิมลดลงจากที่เคยจับได้ ปัจจัยดังกล่าวบีบให้ผู้ประกอบการต้องออกเดินเรือไปไกลกว่าเดิมและใช้เวลาในทะเลนานขึ้น ซึ่งทำให้เกิดช่องว่างในการตรวจสอบและภาวะขาดแคลนแรงงาน ดังนั้นการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายจำต้องเดินคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาแรงงาน

 

การแก้ไขประมงผิดกฎหมายก่อนรัฐประหาร 2557

 

ก่อนหน้าการติดใบเหลือง สหภาพยุโรปเคยเตือนไทยไม่น้อยกว่า 3 ครั้งคือ ในปี 2554, 2556 และ 2557 ช่วงเวลาก่อนที่จะมีการให้ใบเหลืองไทยอย่างเป็นทางการในเดือนเมษายน 2558 ไทยก็ออกกฎหมายเพื่อแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมายเรื่อยมา มีการรายงานถึงผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาเป็นระยะและมีความพยายามออกกฎหมายในรูปแบบต่างๆ แต่ก็เป็นไปอย่างลุ่มๆดอนๆดังนี้


๐ ร่าง พ.ร.บ.ประมง
 

ในปี 2550 ได้มีความพยายามในการออกพ.ร.บ.ประมง ฉบับใหม่ โดยเริ่มร่างกฎหมายเมื่อปี 2542 ผ่านการรับฟังความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่ปี 2553 จะเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร แต่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรเสียก่อน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เจ้าของเรื่องจึงขอถอนร่างเพื่อทบทวนใหม่ จนกระทั่งในปี 2555 พ.ร.บ.ดังกล่าวก็ถูกบรรจุเป็นวาระเข้าพิจารณาอีกครั้ง กรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงสาเหตุของความล่าช้าที่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง
 

นอกจากความล่าช้าแล้วหลังยังไม่ปรากฏแนวปฏิบัติที่จำเป็นต่อการแก้ไขปัญหา IUU  Fishing เห็นได้จากหนังสือตอบกลับความเห็นเรื่องข้อเสนอ แนวทาง มาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในรูปแบบแรงงานประมงของกระทรวงกลาโหม ลงวันที่ 19 กันยายน 2555 ปรากฏข้อความว่า “การจัดระเบียบเรือประมงเข้าระบบอย่างถูกต้องทั้งตัวเรือและตัวบุคคลเรือเป็นอำนาจตามกฎหมายของหลายหน่วยงาน ซึ่งยังไม่มีหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง และไม่มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน...ทั้งนี้การมีเครื่องมือ/อุปกรณ์ และระบบฐานข้อมูลแรงงานต่างด้าวอย่างเพียงพอจะทำให้การปฏิบัติมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และในส่วนของการควบคุมเรือเข้า-ออกท่า กองทัพเรือยังไม่มีกฎหมายรองรับการปฏิบัติที่ชัดเจน”

 

๐ ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. ...


วันที่ 3 เมษายน 2555 กระทรวงแรงงานยกร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. ... (ร่างกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเลฯ) เพื่ออุดช่องว่างของกฎกระทรวงฉบับที่ 10 ที่กําหนดไม่ให้ใช้บังคับกับงานประมงทะเล ที่มีลูกจ้างน้อยกว่า 20 คน และไม่ใช้บังคับกับเรือประมงที่ดําเนินการประจําอยู่นอกราชอาณาจักรติดต่อกันตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ทำให้แรงงานไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างทั่วถึง แต่ในปี 2556 คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้ขอให้ชะลอการประกาศใช้ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวไปก่อน เนื่องจากเนื้อหาของร่างบางส่วนไม่สอดคล้องกับพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ และเสนอให้รับฟังความคิดเห็นจากแรงงานในกิจการประมงและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพิ่มเติม
 


การแก้ไขประมงผิดกฎหมายหลังรัฐประหาร 2557


หลังการรัฐประหาร 2557 คสช. แก้ไขปัญหา IUU  Fishing ไปควบคู่กับปัญหาการค้ามนุษย์ โดยมีแนวคิดว่า ปัญหาทั้งสองอาจจะกระทบต่อการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ที่ดีของไทยในสายตานานาชาติ รวมทั้งยังอยู่ภายใต้เรื่องของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ผลกระทบหลังการติดใบเหลืองที่เห็นอย่างเป็นรูปธรรม คือ สหภาพยุโรปได้ยกเลิกสิทธิพิเศษทางศุลกากรที่เคยให้แก่ไทยตามโครงการสิทธิพิเศษศุลกากรเป็นการทั่วไป (General Scheme of Preferences-GSP)

 

การแก้ไขปัญหา IUU Fishing แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ก่อนที่จะได้รับใบเหลืองในเดือนเมษายน 2558 และหลังจากที่ได้รับใบเหลืองในเดือนเมษายน 2558 โดยช่วงก่อนที่จะได้รับใบเหลืองในเดือนเมษายน 2558 นั้นการแก้ไขปัญหาจะเป็นลักษณะของการนำกฎหมายหรือโครงสร้างการแก้ไขปัญหาเดิมมาพิจารณาหรือใช้อีกครั้ง และหลังจากที่ได้รับใบเหลืองมีการเอาอำนาจของคณะรัฐมนตรีมาใช้ออกพระราชกำหนด และใช้ "มาตรา 44" ออกข้อกำหนดต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อนที่จะออกกฎหมายตามกระบวนการปกติให้สอดคล้องกันไป

 

ก่อนสหภาพยุโรปให้ใบเหลือง (22 พ.ค. 2557- 20 เมษายน 2558)


ปัดฝุ่นกฎหมายเก่า เร่งแก้ปัญหา IUU Fishing


 

การแก้ไขปัญหา IUU  Fishing ถูกพูดถึงโดยรัฐบาล คสช. ครั้งแรกๆ ในวันที่ 9 สิงหาคม 2557 พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของ คสช. ได้เสนอร่างพ.ร.บ.ประมง ฉบับใหม่ ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และต่อมาในวันที่ 1 ตุลาคม 2557 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้เร่งเสนอร่างกฎหมายที่มีความจำเป็นเร่งด่วนมติดังกล่าวส่งผลให้ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ IUU  Fishing ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาใหม่อีกครั้งหนึ่ง

 

โดยมีการร่างกฎหมายลำดับรอง เช่น กฎกระทรวงจำนวน 70 ฉบับ โดยเป็นกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการทำประมงที่ผิดกฎหมายจำนวน 12 ฉบับ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ กฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. 2557 วันที่ 30 ธันวาคม 2557 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่กฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. 2557 (กฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเลฯ) ที่กำหนดให้ยกเลิกข้อยกเว้นที่ไม่ให้ใช้บังคับแก่เรือประมงที่มีจำนวนลูกจ้างไม่ถึง 20 คน และไม่ให้ใช้บังคับแก่เรือประมงที่ไปดำเนินการประจำอยู่นอกราชอาณาจักรติดต่อกันตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป นอกจากนี้ยังกำหนดข้อบังคับเพิ่มเติม เช่น อายุของแรงงาน, ชั่วโมงพักการทำงานและการจัดทำสัญญาจ้าง เป็นต้น

 

เดิมทีกฎกระทรวงดังกล่าวถูกเขียนขึ้นในปี 2555 และชะลอไปจากคำขอของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายที่ให้ไปศึกษาความคิดเห็นเพิ่มเติมจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาเพิ่มเติม ซึ่งเพิ่งจะรับฟังความคิดเห็นแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2556

 

นอกจากนี้กรมประมง, กรมเจ้าท่าและกรมการปกครองได้เริ่มจดทะเบียนเรือประมง ออกใบอนุญาตทำการประมงและทำการรับจดแจ้งเครื่องมือในการทำประมง รวมทั้งดำเนินการจัดทำระบบติดตามตำแหน่งเรือ (VMS) ซึ่งจะมีการออกกฎกระทรวงบังคับให้เรือประมงติดระบบ VMS หลังการบังคับใช้พ.ร.บ.การประมง 2558 ที่วางแผนจะบังคับใช้ในเดือนมิถุนายน 2558

 

หลังสหภาพยุโรปให้ใบเหลือง (21 เมษายน 2558-ธันวาคม 2561)

 

แม้ว่า คสช.จะพยายามออกกฎหมายเพื่อแก้ไข IUU Fishing ให้ประเทศไทยพ้นจากใบเหลืองของสหภาพยุโรป แต่ด้วยปัญหาที่หมักหมมมานาน และการแก้ไขปัญหายังไม่ถูกที่นัก ทำให้ในวันที่ 21 เมษายน 2558 คณะกรรมาธิการ สหภาพยุโรปประกาศให้ใบเหลืองไทยอย่างเป็นทางการ เบื้องต้นเวลาแก้ไขปัญหาหกเดือน หากไม่สามารถแก้ไขปัญหา IUU Fishing ได้จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าประมงไปยังสหภาพยุโรป ทำให้ คสช. เร่งรีบในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการออกกฎหมายและคำสั่งตามมาตรา 44 หลายฉบับ


ดันพ.ร.บ.การประมง ขัดตาทัพใบเหลืองอียู


คล้อยหลังจากที่คณะกรรมาธิการยุโรป สหภาพยุโรปประกาศให้ "ใบเหลือง" จัดไทยอยู่กลุ่มประเทศที่ถูกเตือน (Warned Countries) อย่างเป็นทางการเพียงหนึ่งสัปดาห์ วันที่ 28 เมษายน 2558 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พ.ร.บ.การประมง 2558  โดยบังคับใช้เร็วกว่าแผนเดิมที่จะบังคับใช้ในเดือนมิถุนายน 2558 ราวหนึ่งเดือน

 

โดยสรุปพ.ร.บ.การประมง 2558 กำหนดว่า ให้อำนาจรัฐมนตรีหรือคณะกรรมการประมงประจําจังหวัดมีอำนาจกําหนดให้ผู้ประกอบอาชีพการประมงหรืออาชีพในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประมงในพื้นที่ดังกล่าวต้องมาจดทะเบียนขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนประกอบอาชีพได้ ยกเว้นผู้ประกอบการประมงพื้นบ้านสามารถทําการประมงในเขตประมงทะเลนอกชายฝั่งได้ โดยไม่ต้องมีใบอนุญาต รวมทั้งยังมีมาตรการควบคุมเรือสัญชาติไทยและต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักร

 

ในบทกำหนดโทษมีการเพิ่มโทษปรับจากเดิมที่พ.ร.บ.การประมง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2528 ที่กำหนดโทษปรับสูงสุด 200,000 บาท และโทษจำคุกสูงสุดหกปี เปลี่ยนเป็นโทษปรับสูงสุด 600,000 บาทและโทษจำตั้งแต่หนึ่งเดือนถึงหกปี ที่เพิ่มขึ้นจาก

 

พ.ร.บ.การประมง 2558 มีเนื้อหาส่วนใหญ่คล้ายคลึงกับร่างฉบับปี 2555 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนสหภาพยุโรปประกาศให้ใบเหลืองไทยอย่างเป็นทางการ และกำหนดข้อบังคับอย่างกว้าง ไม่ได้มีการกำกับในรายละเอียดเรื่อง การตรวจสอบ ติดตามและเฝ้าระวัง การทำประมงที่ผิดกฎหมาย(IUU Fishing) ตามข้อวินิจฉัยของคณะกรรมาธิการ สหภาพยุโรป เช่น การติดระบบติดตามการเดินเรือ Vessel Monitoring System (VMS) และศูนย์ควบคุมเรือเข้าออก (Port-in Port-out-PIPO)


แก้เกี้ยวพ.ร.บ.การประมง เร่งออกกฎหมายใหม่แบบไม่ผ่านสภาสองรอบ

 

ดังที่กล่าวมาในข้างต้นว่า คสช. มีความรีบเร่งในการแก้ไขปัญหา IUU Fishing อย่างมาก ใช้ทั้งการออกกฎหมายตามขั้นตอนสภา สนช.อย่างการออกพ.ร.บ.การประมงและมาตรา 44 ที่เป็นเอกสิทธิ์ทางลัดเฉพาะของคสช.ในการแก้ไขปัญหา  แต่ช่องทางการพิจารณาผ่านสภาและมาตรา 44 กลับไม่สามารถถอดถอนใบเหลืองได้ โดยในเดือนตุลาคม 2558 คณะกรรมาธิการ สหภาพยุโรปต่ออายุใบเหลืองให้เวลาแก้ไขปัญหาออกไปอีก ทำให้คสช. เปิดช่องทางลัดอีกทางคือ การออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ถึงสองครั้ง


๐ พ.ร.ก.การประมง 2558

 

วันที่ 13 พฤศจิกายน 2558 คสช. ได้ออก พ.ร.ก.การประมง 2558 ยกเลิกการใช้บังคับพ.ร.บ.การประมง โดยพ.ร.ก.ฉบับนี้มุ่งจัดระเบียบการประมงในประเทศและน่านน้ำทั่วไปเพื่อป้องกันการประมงที่ผิดกฎหมาย (IUU Fishing) และคุ้มครองแรงงานในอุตสาหกรรมประมง นอกจากนี้ยังกำหนดกรอบเวลาในกรณีกระทำความผิดซ้ำซากที่ชัดเจนและกำหนดโทษที่รุนแรงขึ้น โดยโทษจำคุกสูงสุดไม่เกินสองปีและปรับสูงสุด 30 ล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่จับได้ 

 

พ.ร.ก.การประมง 2558 ได้เพิ่มบทบัญญัติในการสร้างระบบการควบคุม, เฝ้าระวังและตรวจสอบการทําการประมงให้มีประสิทธิภาพ  และสร้างระบบการสืบค้นที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำตั้งแต่วงจรการผลิตไปจนถึงผู้บริโภค โดยกำหนดให้ติดตั้งระบบติดตามเรือประมง, จัดทําสมุดบันทึกการทําการประมง, แจ้งการเข้าออกท่าเทียบเรือประมงทุกครั้ง, จัดทําเครื่องหมายประจําเรือประมงและนำกลับเข้าท่าเทียบเรือประมง รวมทั้งคนประจำเรือต้องมีหนังสือคนประจําเรือและในกรณีคนประจําเรือไม่มีสัญชาติไทยต้องได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 

นอกจากนี้ยังวางข้อบังคับการทำประมงพื้นบ้านอย่างรัดกุมขึ้นจากเดิมพ.ร.บ.การประมง 2558 กำหนดไว้อย่างกว้าง โดยสรุป คือ จากเดิมให้ผู้ทําการประมงด้วยเครื่องมือทําการประมงที่มีใบอนุญาตหรือเครื่องมือทําการประมงพื้นบ้านทําการประมงในเขตประมงทะเลนอกชายฝั่งได้ โดยไม่ต้องมีใบอนุญาต เปลี่ยนเป็นเป็นผู้ใดจะทําการประมงพื้นบ้านโดยใช้เรือประมงหรือเครื่องมือที่มีขนาดหรือลักษณะตามกำหนดต้องได้รับใบอนุญาตทําการประมงพื้นบ้านเสียก่อนและห้ามไม่ให้ทําการประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่งหรือห่างจากชายฝั่งเกินสามไมล์ทะเล การออกใบอนุญาตให้ออกสําหรับเรือประมงแต่ละลํา  และต้องระบุจํานวน และประเภทเครื่องมือทําการประมงที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ทําการประมงไว้ในใบอนุญาตด้วย

 

อย่างไรก็ตามเงื่อนไขเพิ่มเติมและข้อบังคับที่จำกัดสิทธิเรือประมงพื้นบ้านทำการประมงในพื้นที่ชายฝั่งหรือห่างจากชายฝั่งไม่เกิน 3 ไมล์ทะเลนั้นไม่สอดคล้องกับจำนวนเรือประมงพื้นบ้าน ตามสถิติของกรมประมงมีเรือประมงพื้นบ้านจำนวน 28,875 ลำ (ขนาดเรือประมงน้อยกว่าสิบตันกรอส) โดยสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านชี้ว่า หากชาวประมงพื้นบ้านทั้งหมดถูกบังคับให้ทำการประมงเฉพาะในที่แคบๆ ในชายฝั่งทะเลจะเกิดการแย่งชิงทรัพยากรสัตว์น้ำ อีกทั้งยังไม่เป็นผลดีต่อการทำประมงที่ยั่งยืนเพราะเขตชายฝั่งทะเลควรเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ ขยายพันธุ์สัตว์น้ำ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลหายาก ดังนั้น ข้อห้ามดังกล่าวจะทำให้เกิดการทำลายพื้นที่อนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนมากยิ่งขึ้น
 

๐ พ.ร.ก.การประมง 2560


วันที่ 28 มิถุนายน 2560 ราชกิจจาเผยแพร่พระราชกําหนดการประมง  (ฉบับที่สอง) พ.ศ. 2560 (พ.ร.ก.การประมง 2560) ส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นมาจาก พ.ร.ก.การประมง 2558 เช่น เรื่องการใช้แรงงานในโรงงานเกี่ยวเนื่องอุตสาหกรรมประมง พ.ร.ก.ประมง 2560 แก้ไขให้มีรายละเอียดที่ยืดหยุ่นมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มรายละเอียดในการบันทึกตรวจสอบข้อมูลในสมุดบันทึกการทําการประมง


และแก้ไขข้อกำหนดของการทำประมงพื้นบ้าน โดยยังยืนยันในข้อห้ามที่ไม่ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทําการประมงพื้นบ้านทําการประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่ง แต่เพิ่มข้อยกเว้นให้กระทำได้หากได้รับอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย แม้ว่าจะเปิดช่องให้ชาวประมงพื้นบ้านทำการประมงนอกเขตชายฝั่ง 3 ไมล์ได้ แต่จากข้อมูลของเครือข่ายประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยระบุว่า นับถึงเดือนมีนาคม 2561 ชาวประมงพื้นบ้านยังไม่ได้ใบอนุญาตการทำประมงพื้นบ้านแม้แต่รายเดียว อันเกิดจากข้อกำหนดหลายประการ ที่จำกัดสิทธิชาวประมงพื้นบ้านไม่ให้ทำประมงได้ตามปกติ


โดยโทษตามพ.ร.ก.ประมง 2560 ยังคงยืนตามพ.ร.ก.ประมง 2558 คือ จำคุกสูงสุดไม่เกินสองปีและปรับสูงสุด 30 ล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่จับได้
 

 

ออกมาตรา 44 แก้ตัว ปะผุกฎหมายเฉพาะหน้า

 

ตลอดระยะเวลาสามปีกว่าที่ผ่านมา นับแต่สหภาพยุโรปประกาศให้ใบเหลืองการประมงไทยอย่างเป็นทางการคสช.ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.เพื่อแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย(IUU Fishing) ไม่น้อยกว่า 9 ฉบับ เช่น


๐ คำสั่งหัวหน้า คสช. 10/2558: จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจแก้ไขปัญหาประมง

 

วันที่ 28 เมษายน 2558 พ.ร.บ.การประมง 2558 (พ.ร.บ.ประมงฯ) จะประกาศให้มีผลบังคับใช้ ซึ่งไม่ปรากฏเนื้อหาข้อบังคับในการแก้ไขปัญหาการประมงที่ผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ในสาระสำคัญที่ควรจะเป็นตามข้อแนะนำและข้อวินิจฉัยของคณะกรรมาธิการ สหภาพยุโรป แต่คล้อยหลังเพียงหนึ่งวันคือ ในวันที่ 29 เมษายน 2558 คสช.ก็ได้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 10/2558 เรื่อง  การแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย  ขาดการรายงาน  และไร้การควบคุม เพื่อแก้ไขปัญหา (IUU Fishing)

 

โดยสรุปคือ ในการแก้ไขปัญหาจึงจัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย(ศปมผ.) ทำหน้าที่กำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการทําประมงผิดกฎหมาย และสั่งการอื่นอีกเช่น จัดทําสมุดบันทึกการทําการประมง  ตามรูปแบบ  ระยะเวลา, ให้ติดตั้งระบบติดตามเรือประมง (VMS), ไม่ให้เจ้าของเรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำการ เช่น ครอบครองเครื่องมือการทำการประมงที่ไม่ได้รับอนุญาต การนำเรือประมงที่มีเครื่องมือการทำการประมงที่ไม่ตรงกับอาชญาบัตรหรือไม่ได้รับอาชญาบัตรในการทำการประมงออกไปทำการประมง การนำเรือประมงที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายกำหนดออกทำการประมง เป็นต้น และควบคุมการนำเรือประมงออกไปยังน่านน้ำต่างประเทศ ฯลฯ

 

ซึ่งต่อมาข้อบังคับเหล่านี้ได้ไปปรากฏใน พ.ร.ก. การประมง 2558 ที่ตราขึ้นมาเพื่อยกเลิก พ.ร.บ.ประมงฯ และแก้ไขปัญหาการประมงที่ผิดกฎหมาย (IUU Fishing) โดยตรง และพ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.เรือไทยฯ พ.ศ.2561

 

๐ คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 24/2558: คุมจดทะเบียนเรือใหม่


วันที่ 5 สิงหาคม 2558 คสช.ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 24/2558 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย  ขาดการรายงาน  และไร้การควบคุม  เพิ่มเติม สั่งให้นายทะเบียนเรือตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทย งดการจดทะเบียนเรือไทยสําหรับการประมง  หรือเรืออื่นตามที่ศปมผ.กําหนด  ที่จะขอจดทะเบียนเรือใหม่ทุกประเภทและทุกขนาด  หรือเปลี่ยนประเภทการใช้เรือจากเรือประเภทอื่น มาเป็นเรือประมง  ทั้งนี้  จนกว่าจะมีการกําหนดให้มีการจดทะเบียนเรือไทยสําหรับการประมงหรือเรืออื่น เพิ่มเติมได้ตามหลักเกณฑ์ที่ศปมผ.ประกาศกําหนด

 

และควบคุมการใช้เครื่องมือการทำการประมงที่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ ห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อใช้ซึ่งเครื่องมือทําการประมง เช่น เครื่องมืออวนรุนที่ใช้ประกอบกับเรือยนต์, เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีขนาดช่องตาเล็กกว่า  2.5  เซนติเมตร  ทําการประมงในเวลากลางคืนและ เครื่องมืออวนลากที่มีช่องตาอวนก้นถุงเล็กกว่าห้าเซนติเมตร เป็นต้น

 

ให้เจ้าหน้าที่มีอํานาจดําเนินการยึดและให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน  หรือดําเนินการรื้อถอนหรือทําลายเครื่องมือทําการประมง  เรือที่ใช้ ทําการประมง  สัตว์น้ํา  และสิ่งอื่น ๆ  ที่ตกเป็นของแผ่นดินเว้นแต่เจ้าของหรือผู้ครอบครองสามารถแสดงหลักฐานได้ว่าทรัพย์สินนั้นชอบด้วยกฎหมายภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ถูกยึด ผู้ที่ฝ่าฝืนคําสั่งฉบับนี้ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000-500,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ         

 

ซึ่งต่อมาข้อบังคับเรื่องเครื่องมือประมงได้ไปปรากฏใน พ.ร.ก. การประมง 2558 และพ.ร.ก.การประมง 2560

 

๐ คำสั่งหัวหน้า คสช. 53/2559: อุดช่องว่าง พ.ร.ก. การประมง 2558 เรื่องเรือและแรงงานในเรือ

 

วันที่ 9 กันยายน 2559 คสช.ออกคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่  53/2559 เรื่อง  การแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย  ขาดการรายงาน  และไร้การควบคุม เพิ่มเติมครั้งที่  3  ที่เนื้อหาของคำสั่งนี้หลักแล้วเป็นการจัดระเบียบจำนวนเรือประมงให้มีความชัดเจนและควบคุมจำนวนเรือประมงในน่านน้ำ โดยสั่งให้เจ้าของเรือประมงที่ไม่มีทะเบียนหรือมีทะเบียน  แต่ไม่มีใบอนุญาตทำประมงแจ้งจุดจอดเรือเป็นลายลักษณ์อักษรต่อผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าฯและให้ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าฯหรือผู้ได้รับมอบหมายติดเครื่องมือติดตรึงพังงาหรือพวงมาลัยเรือ เพื่อไม่ให้เคลื่อนย้ายเรือประมง

 

ห้ามไม่ให้เจ้าของหรือผู้ควบคุมเรือประมงพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการประมงขนถ่ายคนประจําเรือระหว่างนําเรือออกไปทําการประมง  เว้นแต่เพื่อความปลอดภัยของคนประจําเรือ  หรือมีปัญหาข้อพิพาทหรือตามความประสงค์ของคนประจําเรือ  หรือในกรณีมีเหตุสุดวิสัยอื่น  โดยให้แจ้ง ต่อศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออกทันที ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวถูกแปลงไปอยู่ในระเบียบกรมเจ้าท่าว่าด้วยหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ทําการงานในเรือที่ใช้ทําการประมง  เรือบรรทุกสินค้าประมงห้องเย็น   เรือขนถ่ายเพื่อการประมง  เรือบรรทุกสินค้าห้องเย็น  เรือบรรทุกน้ํามันเพื่อการประมง   และเรือบรรทุกน้ําจืด  ขนาดตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไป พ.ศ.  2560 

 

ซึ่งต่อมาคำสั่งตามมาตรา 44 ทั้งสามฉบับดังกล่าวถูกพัฒนาเป็น พ.ร.ก.การประมง 2558 และ 2560 และพ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.เรือไทยฯ พ.ศ.2561 รวมถึงระเบียบของกรมเจ้าท่า แสดงให้เห็นว่า คสช.ได้ใช้ "มาตรา 44" เป็นเครื่องมือเพื่อแก้ไขความผิดพลาดเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นกับพ.ร.บ.การประมงที่เพิ่งผ่านออกมาในยุคของ คสช. เอง รวมทั้งกฎหมายอื่นที่สภาพบังคับไม่สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน ในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องใช้ความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ยังพบว่า ระหว่างการยกร่างแก้ไข พ.ร.บ.การประมงคสช. ได้ใช้กลไก ศปมผ. ออกประกาศออกมาใช้ให้ได้ก่อนที่ พ.ร.บ.ประมงฯและกฎหมายลำดับรองมีผลใช้บังคับด้วย

ประเภทเรื่องน่าสนใจ: