การเลือกตั้งปี 2562 แม้จะมีหลายฝ่ายออกมาบอกว่า เป็นการเลือกตั้งที่สมรภูมิสื่อโซเชียลมีเดีย จะถูกใช้เพื่อแข่งขันมากที่สุด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า วิธีการหาเสียงแบบที่เคยปรากฎในวิทยุ โทรทัศน์ก็ยังมีความจำเป็นไม่น้อย เพราะเป็นสื่อที่เข้าถึงคนส่วนใหญ่ของประเทศได้มาก อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งผ่านทางวิทยุและโทรทัศน์ก็มีกฎหมายและระเบียบที่ออกมากำกับผู้สมัคร ส.ส. และพรรคการเมือง ซึ่งปรากฎอยู่ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 หรือกฎหมายเลือกตั้ง
กฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 69 ระบุว่าห้ามผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใดโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งทางวิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์ เว้นแต่ดำเนินการตามที่ได้รับการสนับสนุนตามมาตรา 81 คือการกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีหน้าที่สนับสนุนการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครและพรรคการเมือง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กกต. กำหนด ซึ่งเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2562 กกต. จึงออกระเบียบ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสนับสนุนการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจดังนี้

กกต. สนับสนุนการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งทางวิทยุและโทรทัศน์
ผู้สมัคร ส.ส. และพรรคการเมืองไม่สามารถหาเสียงเลือกตั้งทางวิทยุและโทรทัศน์ด้วยตัวเอง แต่จะเป็นหน้าที่ของ กกต. ต้องสนับสนุนวันและเวลาในการหาเสียงออกอากาศทั้งภาพและเสียงผ่านสื่อทั้งสองรูปแบบ โดยผู้สมัครมีเวลาหาเสียงคนละไม่เกิน 5 นาที และพรรคการเมืองกำหนดหาเสียงให้พรรคละไม่เกิน 10 นาที นอกจากนี้ยังให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองจัดทำสื่อเผยแพร่สำหรับการออกอากาศตามมาตรฐานของสถานี และมีความยาวไม่เกิน 10 นาทีอีกด้วย ทั้งนี้มีอำนาจในการสั่งระงับ เปลี่ยนแปลง แก้ไขโฆษณาหาเสียงของพรรคการเมืองผ่านช่องทางนี้ได้ โดยในระเบียบ กกต. ระบุถึงการหาเสียงช่องทางนี้ ดังนี้
1. การขอรับสนับสนุนโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งทางวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ให้แจ้งความประสงค์ก่อนปิดการสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ดังนี้
- ผู้สมัครแจ้งความประสงค์ต่อผู้อำนวยการสำนักงาน กกต. ประจำจังหวัดในจังหวัดที่สมัคร
- พรรคการเมืองแจ้งความประสงค์ต่อเลขาธิการ กกต.
2. ให้ผู้อำนวยการสำนักงาน กกต. ประจำจังหวัด ขอความร่วมมือผู้บริหารสถานีวิทยุกระจายเสียงในจังหวัดนั้น ให้การสนับสนุนการจัดสรรเวลาแก่ผู้สมัคร คนละไม่เกิน 5 นาที
3. ให้เลขาธิการ กกต. ขอความร่วมมือผู้บริหารสถานีวิทยุโทรทัศน์ ให้การสนับสนุนจัดสรรเวลาให้แก่พรรคการเมือง พรรคละไม่เกิน 10 นาที
4. ให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองจัดทำสื่อโฆษณาหาเสียง สำหรับออกอากาศตามมาตรฐานของสถานี และมีความยาวไม่เกิน 10 นาที ใช้ข้อความ ถ้อยคำที่สุภาพและรูปแบบที่เหมาะสม ไม่ใส่ร้ายหรือเสียดสีบุคคลหรือพรรคการเมืองใด ไม่ขัดต่อกฎหมาย ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
5. ให้ผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง ส่งสื่อโฆษณาหาเสียงสำหรับออกอากาศให้ผู้อำนวยการ กกต.ประจำจังหวัด ภายในระยะเวลาที่ ผู้อำนวยกกต.จังหวัดกำหนด ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดไม่ดำเนินการตามนี้ ให้ถือว่าไม่ประสงค์โฆษณาหาเสียงเลือกตั้งตามที่ได้รับจัดสรรเวลาไว้ ตามข้อ 2 และ ข้อ 3
6. ถ้าปรากฏว่าสื่อโฆษณาหาเสียง สำหรับออกอากาศของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด มีข้อความ ถ้อยคำ หรือรูปแบบที่มีลักษณะต้องห้าม เช่น ใส่ร้ายหรือเสียดสีบุคคลหรือ หรือเป็นโฆษณาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ผู้อำนวยการ กกต.ประจำจังหวัด สามารถ สั่งแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือระงับการออกอากาศได้ กรณีเป็นของพรรคการเมืองให้เลขาธิการ กกต.สามารถ สามารถสั่งแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือระงับการออกอากาศได้เช่นกัน
7. ถ้าสถานีใดมีเหตุจำเป็น ไม่อาจออกอากาศสื่อโฆษณาหาเสียงสำหรับการออกอากาศของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดได้ตามกำหนด ให้สถานีดังกล่าวจัดสรรช่วงเวลาอื่นที่ทัดเทียมกันในการออกอากาศแทนตามควรแก่กรณี
8. สถานีอาจเชิญพรรคการเมืองไปออกรายการเพื่อแสดงวิสัยทัศน์หรืออภิปรายเชิงนโยบาย หรืออาจจัดรายการให้พรรคการเมืองตอบข้อซักถามหรือแสดงความคิดเห็นก็ได้ โดยสถานีต้องพิจารณาตามหลักวิชาชีพและจรรยาบรรณ และให้พรรคการเมืองมีโอกาสออกรายการแสดงวิสัยทัศน์เท่าเทียมกัน
ระเบียบหาเสียงวิทยุและโทรทัศน์ปี 2541 ให้พรรคการเมืองออกค่าใช้จ่ายเอง
เมื่อย้อนไปดูประกาศ กกต. ลักษณะเดียวกันเมื่อปี 2541 เรื่องหลักเกณฑ์และระยะเวลาการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งและการออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ มีบททั่วไปให้ การจัดสรรเวลาให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองต้องจัดสรรโดยให้มีโอกาสเท่าเทียมกัน เว้นแต่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดจะสละสิทธิ และรัฐจะเป็นผู้สนับสนุนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ และระเบียบได้ห้ามผู้สมัครหรือพรรคการเมือง หรือบุคคลใดซื้อหรือเช่าเวลาหรือรายการของสถานีวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์โดยมีค่าตอบแทน ซึ่งรายละเอียดของประกาศดังกล่าวมีดังนี้
1.รัฐจะสนับสนุนการโฆษณาหาเสียงของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ดังต่อไปนี้
- ออกอากาศโฆษณาเป็นข้อความสั้นๆ หรือสปอตเกี่ยวกับนโยบายของพรรคการเมือง
- ออกอากาศเพื่อแถลงนโยบายพรรคการเมืองทางสถานีที่มีสัญญาญกว้างไกล
- โฆษณาหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทางสถานีท้องถิ่น
2.การจัดสรรเวลาให้พรรคการเมืองให้คำนึงถึงจำนวนผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมือง ตามประธาน กกต. กำหนด และการออกอากาศโฆษณาเป็นข้อความสั้นๆ หรือสปอตเกี่ยวกับนโยบายของพรรคการเมือง หรือการออกอากาศเพื่อแถลงนโยบายพรรคการเมืองทางสถานีที่มีสัญญาญกว้างไกล ประธาน กกต.จะเป็นผู้กำหนดวันและเวลาออกอากาศเช่นกัน
3.ให้มีสถานีที่มีสัญญาณกว้างไกลจัดสรรเวลาให้พรรคการเมืองโฆษณาหาเสียงตามเวลาในข้อ 2 โดยหมุนเวียนไปจนครบทุกพรรค
4.พรรคการเมืองใดจะได้ออกอากาศก่อน ให้ใช้เกณฑ์วิธีจับสลากเรียงลำดับ
5.การโฆษณาหาเสียงให้พรรคการเมืองจัดทำสื่อเผยแพร่โฆษณาทั้งภาพและเสียง ตามมาตรฐานของสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์ พรรคการเมืองสามารถกำหนดรูปแบบนำเสนอได้ ทั้งนี้ต้องใช้ข้อความ ถ้อยคำหรือรูปแบบที่สุภาพ ไม่ขัดต่อกฎหมาย ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรมอันดีของประชาชน
6.ให้ส่งสื่อโฆษณาหาเสียงดังกล่าว ต่อ กกต. ภายในเวลาที่ประธาน กกต. กำหนด เพื่อส่งสถานีต่อไป หากพบรูปแบบการหาเสียงที่ต้องห้ามอาจถูกสั่งระงับการออกอากาศได้