เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 'เพียงดิน รักไทย' หนึ่งในผู้ลี้ภัยทางการเมืองได้ออกมาเปิดผ่านช่องทางยูทูปว่า ชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือ “ลุงสนามหลวง” , สยาม ธีรวุฒิ หรือ “สหายข้าวเหนียวมะม่วง” และกฤษณะ ทัพไทย หรือ “สหายยังบลัด” ผู้ลี้ภัยการเมืองในลาว ซึ่งถูกจับกุมที่เวียดนามเมื่อเดือนมกราคม 2562 ถูกส่งตัวกลับไทยแล้ว แต่ไม่มีความคืบหน้า
ทั้งนี้ คาดว่า การจับกุมสีบเนื่องมาจากทั้งสามคนใช้พาสปอร์ตอินโดนีเซียปลอมเดินทางเข้าเวียดนาม ส่วนที่เหตุที่ต้องข้ามจากลาวไปเวียดนามอาจเป็นเพราะการที่มีเจ้าหน้าที่ไม่ทราบฝ่ายพยายามที่จะติดตามและกวาดล้างกลุ่มผู้ลี้ภัยทางการเมืองในลาว
จากบุคคลที่คสช. ต้องการตัวสู่การสูญหายไม่ทราบชะตากรรม
ก่อนหน้าที่ผู้ลี้ภัยชาวไทยทั้งสามคนจะหายตัวไป พวกเขาได้ลี้ภัยไปประเทศลาว ภายหลังการรัฐประหาร 2557 เพราะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนโยบายรื้อฟื้นทุกคดีที่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายมาตรา 112
ชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือ ลุงสนามหลวง หนึ่งในผู้ลี้ภัยที่สูญหายเคยถูก คสช. ออกคำคำสั่งเรียกให้ไปรายงานตัวหลังการรัฐประหาร แต่ได้ลี้ภัยไปประเทศเพื่อนบ้าน และยังเคลื่อนไหวทางการเมืองบนโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง
ต่อมา ลุงสนามหลวง ถูกเชื่อมโยงกับกลุ่มสหพันธรัฐไท ในฐานะแกนนำ และมีการกวาดจับกลุ่มคนที่คาดว่าเกี่ยวข้องในไทย โดยมีหลักฐานเป็นเสื้อยืดสีดำ มีป้ายสี่เหลี่ยมสีขาวสลับแดงที่หน้าอก พร้อมตั้งข้อหาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร อีกทั้งยังมีการควบคุมตัวภรรยาและลูกของลุงสนามหลวงในค่ายทหารช่วงเดือนธันวาคม 2561
นอกจากนี้ข้อมูลจาก Lumendatabase ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่เปิดเผยข้อมูลการปิดกั้นบนโลกออนไลน์ระบุว่า ทางการไทยยังมีความพยายามในการบล็อคเว็บไซต์ของลุงสนามหลวง (sanamluang2008.blogspot.com) ด้วยเหตุผลว่า เนื้อหาบนเว็บไซต์ขัดต่อกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และสนับสนุนการก่อการร้าย
ส่วน สยาม ธีรวุฒิ เป็นหนึ่งในนักกิจกรรมกลุ่ม 'ประกายไฟ' เคลื่อนไหวประเด็นประเด็นการต่อต้านมหาวิทยาลัยนอกระบบ การต่อต้านสงครามอิรัก ฯลฯ จากนั้นหลังการรัฐประหารปี 2549 หนุ่มสาวเหล่านี้ได้ร่วมต่อต้านการรัฐประหาร และทำกิจกรรมกับกลุ่มแรงงาน
สยามตกเป็นเป้าของทางการเมื่อเข้าไปเกี่ยวข้องกับละครเวที ‘เจ้าสาวหมาป่า’ ละครการเมืองที่ถูกคนแจ้งความดำเนินคดีตาม ‘มาตรา 112’ ไว้ในปี 2556 และมีผู้เกี่ยวข้องกับการจัดทำละครอย่าง ภรณ์ทิพย์ มั่นคง และ ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม วัย 25 ปีถูกจับกุมตัวและต้องโทษจำคุก 2 ปีเต็ม
ส่วน กฤษณะ ทัพไทย ยังไม่ปรากฎข้อมูลส่วนตัวของเขาต่อสาธารณะมากนัก แต่ทางการไทยเชื่อมโยงเขากับการก่อเหตุรุนแรงในช่วงที่มีการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. และปรากฎชื่ออยู่ในลิสต์ผู้ที่เกี่ยวข้องกับอาวุธสงคราม เมื่อปี 2557 ที่มี 'จักรภพ เพ็ญแข' อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทย
ในรอบสี่ปี มีผู้ลี้ภัยไทยสูญหายอย่างน้อย 8 คน ก่อนพบศพอย่างน้อย 2 คน
ที่ผ่านมามีผู้สูญหายและเสียชีวิตระหว่างลี้ภัยทางเมืองในลาวอย่างน้อย 5 คน คือ ดีเจซุนโฮ ในปี 2559, โกตี๋ ในปี 2560 และสุรชัย, สหายภูชนะและสหายกาละสลอง ในปี 2561 และเมื่อรวมกับสามผู้ลี้ภัยชาวไทยที่ยังสูญหายอีก 3 คน รวมแล้วมีผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยสูญหายอย่างน้อย 8 คน
- อิทธิพล สุขแป้นหรือดีเจซุนโฮ
ปี 2559 อิทธิพล สุขแป้น หรือดีเจซุนโฮ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองในลาวหายตัวไป ดีเจซุนโฮเป็นผู้นำกลุ่มเชียงใหม่ 51 คนเสื้อแดงในเชียงใหม่และเป็นนักจัดรายการวิทยุชุมชน หลังรัฐประหารดีเจซุนโฮถูกเรียกรายงานตัว แต่เขาลี้ภัยไปลาว ระหว่างนั้นเขายังวิพากษ์วิจารณ์ทหารผ่านยูทูปและเฟซบุ๊ก
วันที่ 19 มิถุนายน 2559 เป็นวันสุดท้ายที่ดีเจซุนโฮติดต่อกับบุคคลใกล้ตัว ต่อมา วันที่ 22 มิถุนายน 2559 มีรายงานว่า เขาถูกพบเห็นขณะที่รับประทานอาหารที่ร้านอาหารและขึ้นมอเตอร์ไซด์กลับบ้านของเขาในช่วงเที่ยงคืน ในช่วงค่ำมีชายคนหนึ่งได้ยินเสียงร้องในพื้นที่นั้น ก่อนจะพบรถมอเตอร์ไซด์และรองเท้ากีฬาข้างหนึ่งของเขาถูกพบห่างจากร้านอาหารไปหนึ่งกิโลเมตร
บุคคลที่เกี่ยวข้องกับดีเจซุนโฮได้รับข้อมูลว่า เจ้าหน้าที่ไทยจับตัวเขาไปไว้ที่ค่ายทหารในจังหวัดเพชรบูรณ์ แต่เมื่อสอบถามเจ้าหน้าที่กลับปฏิเสธการจับกุม อย่างไรก็ตามคสช.ยอมรับว่า มีการติดตามการเคลื่อนไหวของดีเจซุนโฮจริงแต่ไม่ได้มีการจับกุมหรือคุมขัง มาจนถึงปัจจุบันยังไม่ทราบชะตากรรมของดีเจซุนโฮ
- วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ โกตี๋
วันที่ 30 กรกฎาคม 2560 จอม เพชรประดับ นักข่าวและผู้ลี้ภัยทางการเมืองได้แจ้งผ่านเฟซบุ๊กว่า วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ โกตี๋ ถูกกลุ่มชายชุดดำประมาณ 10 คน คลุมหน้าด้วยหมวกไหมพรมพร้อมอาวุธครบมือ บุกเข้าจับตัวไป เมื่อเวลา 9.45 น. ตามเวลาท้องถิ่นในประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2560
วันที่ 12 ธันวาคม 2561 ก่อนหน้าการเยือนลาวของรัฐบาลคสช.เพียงหนึ่งวัน มีรายงานว่า สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือสุรชัย แซ่ด่าน, ชัชชาญ บุปผาวัลย์ หรือ สหายภูชนะและไกรเดช ลือเลิศ หรือ สหายกาสะลองหายตัวไป ต่อมาวันที่ 27 ธันวาคม 2561 พบศพบริเวณตลิ่งตลาดนัดไทย-ลาว อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ต่อมาวันที่ 28 ธันวาคม 2561 พบศพที่สอง ที่ตำบลท่าจำปา อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม และวันที่ 29 ธันวาคม 2561 พบศพที่สามที่ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม นำไปสู่การตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ ภายหลังการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอพบว่า ดีเอ็นเอของสองในสามศพตรงกับสหายคนสนิทของสุรชัยสองคน
อย่างไรก็ตามยังคงมีข้อถกเถียงว่า ศพที่ลอยมาติดริมน้ำโขงมีสองหรือสามศพกันแน่ โดยทางตำรวจระบุว่า ระหว่างรอตรวจสอบศพที่สอง ศพได้หลุดตามน้ำไปจึงทำให้เชื่อว่า ศพที่พบบริเวณตำบลท่าจำปา อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม และศพที่พบบริเวณตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม เป็นศพเดียวกัน ทำให้ตำรวจเชื่อว่า มีเพียงสองศพเท่านั้น ขณะที่ปราณี ภรรยาของสุรชัยเชื่อว่า มีสามศพและศพของสุรชัยถูกทำลายไปแล้ว จนถึงปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าว่า สุรชัยอยู่ที่ใด
ทนายและครอบครัวเร่งตามหา-องค์กรต่างชาติเรียกร้องเปิดที่อยู่
เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 ภาวิณี ชุมศรี ทนายความศูนย์ทนายสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ทนายได้ติดตามความคืบหน้ากับกองบังคับการปราบปราม(กองปราบฯ)เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่ออกหมายจับทั้งสามคนไว้ในคดีสหพันธรัฐไท เมื่อสอบถามไปที่กองปราบฯ เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ไม่ได้รับทราบข้อมูลว่า มีการจับกุมตัวทั้งสามคน มาจนถึงวันนี้ยังไม่ทราบความเคลื่อนไหวไปมากกว่านี้
นอกจากนี้ กัญญา ธีรวุฒิ แม่ของสยามยังยื่นหนังสือขอทราบผลการจับกุมตัวสยามถึงผู้บังคับการการกองปราบปราม ให้ช่วยติดตามกรณีที่มีข่าวทั้งสาม โดยต้องการทราบว่าตอนนี้มีการจับกุมควบคุมตัวแล้วจริงหรือไม่ ถ้าจริงสยามจะถูกควบคุมตัวอยู่ที่หน่วยงานใด เพราะตอนนี้ครอบครัวเป็นห่วงสวัสดิภาพและความปลอดภัยของสยามมาก
ด้าน ฮิวแมนไรท์ วอทช์ องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยเปิดเผยที่อยู่ของลุงสนามหลวงและพวกรวมสามคน และให้อนุญาตให้ครอบครัวและทนายความเข้าพบ ขณะที่เจ้าหน้าที่ไทยไม่ได้ยอมรับถึงการจับกุมและการควบคุมตัว สร้างความกังวลใจอย่างมากว่า พวกเขาจะกลายเป็นเหยื่อของการบังคับสูญหาย
ในแถลงการณ์ระบุด้วยว่า หลังรัฐประหารเจ้าหน้าที่ไทยทำการติดตามลุงสนามหลวงและนักกิจกรรมที่ต่อต้านสถาบันกษัตริย์ที่เคลื่อนไหวอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่รัฐบาลไทยเรียกร้องให้ลาว, กัมพูชาและเวียดนามส่งตัวผู้ลี้ภัยการเมืองให้แก่ทางการไทยอยู่หลายครั้ง