แถลงการณ์
“หยุดนโยบายทวงคืนผืนป่า คืนความเป็นธรรมให้คนจน”
ภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 รัฐบาลทหารได้มีคำสั่ง คสช. ที่ 64 และ 66/2557 เรื่องการปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ พร้อมกับประกาศใช้แผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “แผนทวงคืนผืนป่า”
ถึงแม้แผนดังกล่าวจะมีเจตนาที่มุ่งเน้นเอาผิดกับนายทุนที่ถือครองที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ แต่ในทางเป็นจริงกลับพบว่า เกษตรกร ชาวไร่ชาวนา คนยากจนต้องตกเป็นเหยื่อจากการดำเนินการของเจ้าหน้าที่จำนวนมาก ทั้งการตัดฟันทำลายผลอาสิน เช่น ยางพารา เป็นต้น การข่มขู่คุกคาม จำกัดสิทธิในการทำประโยชน์ที่ดิน รวมทั้งการฟ้องดำเนินคดี
แม้ว่าคำสั่ง คสช. ที่ 64 และ 66/2557 ได้ถูกยกเลิกแล้ว แต่การปฏิบัติการต่าง ๆ ตามคำสั่งให้ถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ตามข้อ 8ของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562ฉะนั้นปฏิบัติการทวงคืนผืนป่ายังคงดำเนินการต่อไปตามแผนแม่บทป่าไม้ที่เป็นความร่วมมือของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ กอ.รมน.
กรณีปัญหาอุทยานแห่งชาติไทรทอง อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ เป็นอีกรูปธรรมหนึ่งที่สะท้อนความจริงข้างต้น ตลอดระยะเวลากว่า 28ปีของพื้นที่แห่งนี้ ชะตากรรมของประชาชนตกอยู่ภายใต้เส้นทางการจัดการที่ดินและทรัพยากรแบบอำนาจนิยมมาโดยตลอด นับตั้งแต่การดำเนินโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมโทรม หรือ คจก. ของรัฐบาล รสช. ในปี พ.ศ. 2534 – 2535 ทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องถูกอพยพออกจากพื้นที่ทำกิน และที่อยู่อาศัย เมื่อรัฐไม่สามารถจัดหาพื้นที่รองรับได้ จึงมีมติให้กลับมายังพื้นที่เดิม ซึ่งรัฐได้ประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติในเวลาต่อมา
เหตุการณ์ความขัดแย้ง และการคุกคามสิทธิ์เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง เมื่อรัฐบาลได้ดำเนินนโยบายทวงคืนผืนป่า หลังช่วงปี พ.ศ. 2557เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่ได้สนธิกำลังเข้าปฏิบัติการ “ขอคืนพื้นที่” จากเกษตรกรที่ทำการผลิต โดยการให้ “เซ็นต์ยินยอมออกจากพื้นที่” กลางไร่มันสำปะหลัง ในสภาพเช่นนี้ จึงมีแต่ความหวาดกลัว และต้องจำยอมเท่านั้นสำหรับคนจน
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านซับหวายซึ่งเป็นหนึ่งในห้าชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติไทรทอง จ.ชัยภูมิ จึงเป็นที่มาของการรวมกลุ่มผู้เดือดร้อนทั้ง 5ชุมชน เพื่อยื่นหนังสือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทั่งมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาระดับจังหวัดขึ้น ซึ่งเป็นที่มาของการตรวจสอบข้อเท็จจริง การจำแนกลักษณะความเดือดร้อน รังวัดขอบเขตที่ดินรายแปลง และมีมติเห็นชอบแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน
กระนั้นก็ตาม แม้กระบวนการแก้ไขปัญหาร่วมจะมีพัฒนาการที่คืบหน้าเป็นลำดับ แต่อีกด้านหนึ่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ฟ้องดำเนินคดีกับชาวบ้านซับหวายทั้งสิ้น 14ราย 19คดี นับตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2559เป็นต้นมา กระทั่งปัจจุบัน ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำเลยเป็นผู้กระทำผิดตามโจทก์ฟ้อง และชดใช้ค่าเสียหาย และนำมาสู่สภาพการเป็น “ผู้ต้องขัง” ของชาวบ้านทั้งสิ้น 13คน โดยในจำนวนนี้ จำแนกเป็นผู้หญิง 9คน ชาย 4คน เฉพาะครอบครัว “ม่วงกลาง” ประกอบด้วย แม่ และลูกสาว รวมทั้งสิ้น 4คน
บทเรียนสำคัญจากกรณีข้างต้น พบว่า แผนปฏิบัติการทวงคืนผืนป่า เกิดขึ้นภายใต้พื้นฐานแนวคิดการจัดการทรัพยากรแบบอำนาจนิยม และการปฏิบัติการที่มีความผิดพลาดบกพร่อง กระทั่งนำมาสู่การสูญเสียอิสรภาพของประชาชน ในขณะเดียวกัน กระบวนการแก้ไขปัญหา และการตัดสินใจทางนโยบายที่ล่าช้า ไม่ทันการณ์ และการจงใจใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการจัดการ ทำให้ชะตากรรมของชาวบ้านทั้ง 14ราย ตกอยู่ในสภาพดังที่กล่าวแล้ว
ด้วยเหตุดังนี้ เครือข่าย องค์กรตามรายชื่อที่ร่วมลงนามท้ายแถลงการณ์นี้ จึงมีข้อเรียกร้องเพื่อให้รัฐบาลเร่งพิจารณาดำเนินการ ดังต่อไปนี้
เราหวังว่า หากข้อเรียกร้องทั้งหมดข้างต้น ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในระดับพื้นที่จะยุติลง อีกทั้งจะนำไปสู่การสร้างบรรทัดฐานการจัดการที่ดินและทรัพยากรโดยประชาชนในขอบเขตทั่วประเทศ และเกิดมาตรการทางกฎหมาย นโยบายในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน หาไม่แล้ว ปัญหาข้อพิพาทเช่นกรณีอุทยานแห่งชาติไทรทอง จะเกิดขึ้น และลุกลามไปไม่รู้จบสิ้น
ด้วยความสมานฉันท์