งานเสวนาการแย่งยึดที่ดินทำกินจากนโยบายทวงคืนผืนป่า

ความเป็นมา
 
 
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาการปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้จนนำมาซึ่งปฏิบัติการหรือนโยบายทวงคืนผืนป่า (แผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2557 ที่จัดทำโดย กอ.รมน. และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) ได้ทำให้ชาวบ้านทั่วทุกภูมิภาคจำนวนหลายพันคนถูกขับไล่ออกจากที่ดินทำกินของตนเอง และบางส่วนถูกดำเนินคดีไปแล้วไม่ต่ำกว่า 300 คดี จากข้อหาการบุกรุกที่ดินป่าไม้ของรัฐ ทั้ง ๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นการทำกินอยู่บนผืนดินบรรพบุรุษของตนมาก่อนที่จะมีกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ใช้บังคับ
 
 
หลายกรณีถึงแม้จะเป็นผู้เข้ามาหักร้างถางพงในที่ดินป่าไม้ของรัฐรายใหม่ก็ได้มีข้อตกลงเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยละมุนละม่อมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐมาเป็นลำดับขั้นตอนอย่างดีแล้วก็ตามก็ยังถูกอำนาจที่ไม่ชอบธรรมในหน่วยงานของรัฐด้วยกันเองเข้ามาล้มล้างกติกาที่หาทางออกอย่างประนีประนอมร่วมกันระหว่างรัฐกับชาวบ้านก่อนหน้านั้นทั้งหมด
 
 
ดังจะเห็นได้จากการกระทำของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่สนธิกำลังร่วมกับทหารและพลเรือนเข้าไปตัดโค่นไม้ยืนต้นเช่นยางพาราและพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านหลายกรณีตลอด 5 ปีที่ผ่านมา กรณีปัญหาอุทยานแห่งชาติไทรทองที่อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ ทับที่ดินทำกินของชาวบ้านก็เช่นเดียวกันที่โดนการกระทำจากอำนาจที่ไม่ชอบธรรมดังกล่าวเข้าไปจับกุมคุมขังและฟ้องคดีชาวบ้านทั้งสิ้น 14 คน จำนวน 19 คดี โดยศาลอุทธรณ์ได้อ่านคำพิพากษาครบหมดทุกคดีแล้ว เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยทุกคดีตัดสินให้ชาวบ้านมีความผิดและสั่งลงโทษจำคุกเกือบทั้งหมด ยกเว้นเพียงคดีเดียวที่รอลงอาญา
 
 
ซึ่งขณะนี้นักกฎหมายหลายท่านกำลังทยอยยื่นเรื่องขออนุญาตฎีกาเพื่อให้ศาลฎีกาอนุญาตให้ฎีกาเพื่อยื่นประกันตัวให้กับชาวบ้านออกมาต่อสู้คดีต่อได้ แต่ถ้าหากศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ฎีกาก็จะไม่สามารถประกันตัวชาวบ้านออกมาสู้คดีต่อได้ ซึ่ง 9 ใน 14 คนที่ถูกพิพากษาจำคุกเป็นผู้หญิง และ 2 ใน 9 ที่เป็นผู้หญิงเป็นผู้สูงอายุวัย 61 และ 74 ปี และ 4 ใน 9 คนที่เป็นผู้หญิงเป็นพี่น้องกันถูกพิพากษาจำคุกยกครอบครัว ช่างเป็นโศกนาฏกรรมอันแสนรันทดเมื่อเทียบกับพฤติกรรมและมาตรฐานของหน่วยงานรัฐในการดำเนินคดีกับนายทุนรุกป่าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ร่วมกับกรมป่าไม้และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจับกุมคดีรุกป่าของนายทุนหลายพันคดีในช่วง 4 – 5 ปีที่ผ่านมา โดยหวังว่าจะได้ป่าคืนแต่กลับไม่ได้คืนจริงเพราะนายทุนไปวิ่งเต้นคดีกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนทำให้เกิดการดองคดีและสั่งไม่ฟ้องคดี พอคดีหลุดนายทุนเหล่านั้นก็กลับเข้าไปประกอบธุรกิจในพื้นที่ป่าที่ตนเองเคยเข้าไปรุกล้ำได้เหมือนเดิม
 
 
เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะหน่วยงานรัฐหน่วยเดียวกันจะแสดงพฤติกรรมหรือมาตรฐานทางคดีที่แตกต่างออกไปจนทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ถูกจับกุมในคดีบุกรุกป่าและส่งฟ้องศาลจนถูกจำคุกเป็นจำนวนมาก ต่อกรณีอุทยานแห่งชาติไทรทองที่ใช้อำนาจและกระบวนการยุติธรรมฟ้องคดีและพิพากษาจำคุกชาวบ้านจะเห็นได้ชัดเจนว่ามีการใช้กฎหมายแบบเลือกปฏิบัติระหว่างนายทุนกับชาวบ้านที่ใช้พื้นที่ป่าในการทำกิจกรรมทางสังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจแตกต่างกันในระดับวิกฤติรุนแรงที่อาจจะก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจในระดับวิกฤติรุนแรงตามไปด้วย
กำหนดการ

09.30 น. ลงทะเบียน
10.00 -10.10 น. กล่าวเปิดงาน โดย​ ผศ.กิตติบดี​ ใยพูล​ คณบดี​คณะนิติศาสตร์​ มหาวิทยาลัย​ขอนแก่น​
10.10 – 11.40 น. สถานการณ์ปัญหาการแย่งยึดที่ดินทำกินจากนโยบายทวงคืนผืนป่า
โดย
 
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move)
เครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิจังหวัดสกลนคร
กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย จ.มุกดาหาร
เครือข่ายปัญหาที่ดินจังหวัดหนองบัวลำภู
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.)
ดำเนินรายการโดย อรนุช ผลภิญโญ
11.40 – 12.10 น. ประมวลสถานการณ์ปัญหาการแย่งยึดที่ดินทำกินจากนโยบายทวงคืนผืนป่า
โดย ปราโมทย์ ผลภิญโญ และณัฐพร อาจหาญ
12.10 – 13.10 น. พักรับประทานอาหารกลางวัน
 
13.10 – 15.10 น. ชำแหละนโยบายทวงคืนผืนป่า
กรณีไทรทอง บ่อแก้ว โดย สมนึก ตุ้มสุภาพ ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน
ผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าและกฎหมายอุทยานแห่งชาติฉบับใหม่ โดย ประยงค์ ดอกลำไย ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน
ประเมินนโยบายทวงคืน​ผืนป่า​ กรณี​ ภาคอีสาน​ ภาคใต้ โดย บุศรินทร์ แปแนะ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)
วิพากษ์นโยบายทวงคืนผืนป่า โดย อลงกรณ์ อรรคแสง วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
จากทวงคืนผืนป่าสู่นโยบาย คทช. เหล้าเก่าในขวดเก่า โดย ณตฤณ ฉอ้อนศรี จากสมัชชาคนจน​
15.10 – 15.25 น. พัก/อาหารว่าง
15.25 – 16.00 น. แลกเปลี่ยน ซักถาม
16.00 – 16.15 น. แถลงการณ์โดย เครือข่ายป่าไม้ที่ดินภาคอีสานและพันธมิตร
16.15 – 16.30 น. ยื่นจดหมายถึงหน่วยงานระดับนโยบายผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น
16.30 น. ปิดเวทีเสวนา และเดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ