22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำรัฐประหารและครองอำนาจอยู่นานกว่า 5 ปี นับเป็นคณะรัฐประหารครองอำนาจยาวนานที่สุดเป็นลำดับที่ 2 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดย คสช. ปกป้องการกระทำของตัวเองด้วย “ความสงบเรียบร้อย ยุติความขัดแย้ง และสร้างความปรองดอง”
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกลับเป็น “ความสงบราบคาบ” ที่สังคมถูกกดกักการแสดงออก การแสดงความคิดเห็น เอาไว้ด้วยการใช้อำนาจของ คสช. ไม่ให้ขัดขืนต่อต้าน ผลพวงที่ตามมาจึงกลายเป็นแผลเป็นต่อสังคม แม้ คสช.จะไม่ได้ดำรงอยู่ต่อไปแล้วก็ตาม ถ้าหากไม่ชำระสะสาง เยียวยาแก้ไข หรือเรียนรู้เปลี่ยนแปลง ประวัติศาสตร์ของการเหยียบย่ำสิทธิเสรีภาพของประชาชนอาจวนมาอีกครา
เราจึงรวบรวมและจัดแสดงสิ่งที่เป็นหลักฐานของการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการต่อต้านขัดขืนไม่ยอมรับอำนาจอันไม่ชอบธรรม ด้วยหวังว่าสิ่งเหล่านี้จะพอช่วยย้ำเตือนถึงสิ่งที่เกิดขึ้น และเริ่มต้นส่งเสียงตะโกนว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้นซ้ำๆ พร้อมกับเปิดโอกาสในการร่วมเรียนรู้และแสวงหาหนทางเดินฝ่ามันออกไปด้วยกัน
กิจกรรมวันเปิดนิทรรศการวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562
18.00-18.15 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนแนะนำนิทรรศการ “Never Again: หยุด ย่ำ ซ้ำ เดิน”
18.15 – 18.45 น. “Free Space Talk - 5 ปี 5 ผู้คน 5 เรื่องราวประสบการณ์ที่ภายใต้การปกครองของ คสช.”
19.00 – 19.30 น. การแสดงจาก
• วง Rap Against Dictator: RAD
• วงสะเวินใจ (หมอลำแบงก์)
วันเวลา : 1-10 พฤศจิกายน 2562 เวลา 16.00 - 22.00 น.
สถานที่ WTF Gallery and Café ซอยสุขุมวิท 51
กิจกรรมต่อเนื่องในวันอื่นๆ
2 พฤศจิกายน 2562 : "คุยกับจ่านิว เจ็บตัวแต่ยังไปต่อ" เวลา 17.00-18.00 น.
เปิดใจสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว นักกิจกรรมทางการเมืองที่เลือกใช้สันติวิธีในการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาโดยตลอด จนทำให้เขาถูกดำเนินคดีหลายคดีแต่ก็ไม่เคยทำให้เขาต้องหยุดที่จะลุกมาทำสิ่งที่เขาเชื่อมั่น จนกระทั่งฝ่ายตรงข้ามเลือกที่จะใช้ความรุนแรงกับเขาถึงสองครั้งจนปรากฏเป็นหลักฐานของการใช้อำนาจนอกระบบกฎหมายเพื่อที่จะหยุดเขาให้ได้
3 และ 10 พฤศจิกายน 2562 : “ทนายความยุค คสช.” เวลา 17.00 น.
พื้นที่พบปะทนายความที่ต้องเผชิญหน้ากับกระบวนการยุติธรรมในยุค คสช. พวกเขาจะมาเล่าประสบการณ์และการทำหน้าที่ในคดีที่พวกเขาต้องพบต้องเผชิญในศาลทหารและศาลยุติธรรมจากคดีต่างๆ ที่ไม่เคยถูกเล่าที่ไหนมาก่อน
9 พฤศจิกายน 2562 : “หลักฐานมีชีวิต” เวลา 17.00 น.
อานนท์ ชวาลาวัณย์ จากพิพิธภัณฑ์สามัญชน (Museum of the Commoners) ผู้เก็บรวบรวมเอกสารและสิ่งของที่สร้างสรรค์โดยสามัญชน และเป็นผู้บันทึกข้อมูลการละเมิดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกจากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) อานนท์จะมาเล่าเรื่องราวของสามัญชนผู้เคลื่อนกงล้อประวัติศาสตร์ในยุคคสช. ผ่านสิ่งของที่เป็นหลักฐานของการต่อสู้ทางการเมืองและทางคดีของผู้คนในยุคสมัยนี้