เสวนาวิชาการ "ดิจิทัลศึกษากับอนาคตสังคมไทย"

 

ในความรับรู้โดยทั่วไป เทคโนโลยีดิจิทัลมีแนวโน้มจะตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์เช่นเดียวกับอีกหลายๆ รูปแบบของการพัฒนาในกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยเฉพาะในแง่ที่มักมีการเชื่อมโยงการตัดสินคุณค่าเข้ากับบรรทัดฐานทางสังคมและจริยธรรม ซึ่งในขณะเดียวกันก็เปิดประเด็นคำถามและถกเถียงที่ท้าทายสำหรับการศึกษาทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เช่น เทคโนโลยีอย่างอินเทอร์เน็ตทำให้โลกของเรากว้างขึ้นหรือแคบลง? กระแสนิยมถ่ายภาพแบบเซลฟี่และอัลกอริธึมของสื่อสังคมออนไลน์ทั้งหลายกำลังลดทอนความเป็นมนุษย์ของเราจริงหรือ? แม้ดูเหมือนว่าสมาร์ตโฟนจะช่วยเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับผู้ประกอบการรายย่อย แต่ก็มีความกังวลว่าปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence: AI) จะทำให้คนส่วนใหญ่ตกงาน หรือ การสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตอาจไม่ได้ผลักให้เราแปลกแยกจากสังคม แต่กลับมีบทบาทเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในฐานะพลเมือง โดยเฉพาะในการเคลื่อนไหวผลักดันการจัดการปัญหาแห่งยุคสมัยอย่างสุขภาวะและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฯลฯ
 
นอกจากความหลากหลายของประเด็นคำถามเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลในฐานะที่เป็นเงื่อนไขสำคัญของกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมแล้ว แนวทางในการทำความเข้าใจเพื่อตอบคำถามดังกล่าวยังเชื่อมโยงกับองค์ความรู้ของหลากหลายสาขาวิชา นักวิชาการมีแนวโน้มจะขยับขยายพรมแดนความรู้ของตนเพ่ือทำความเข้าใจกระบวนการเปลี่ยนแปลงอย่างรอบด้าน ทำให้งานศึกษาว่าด้วยดิจิทัลกับสังคมมีลักษณะเป็นสหวิทยาการ (interdisciplinary) หรือ ข้ามศาสตร์ (transdisciplinary) แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงสะท้อนความสนใจและแนววิธีศึกษาเฉพาะสาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็นรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา จิตวิทยา นิเทศศาสตร์ รวมถึงคอมพิวเตอร์ศึกษา วิทยาศาสตร์สารสนเทศ วิศวกรรมศาสตร์ ฯลฯ เช่น นักเศรษฐศาสตร์สนใจศึกษาเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัล (digital economy) รัฐศาสตร์และสังคมวิทยาสนใจศึกษาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่ (new social movement) หรือการจัดโครงสร้างหรือสถาบันทางสังคมที่มีลักษณะเป็นเครือข่ายดิจิทัลมากขึ้น จิตวิทยาสนใจศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของอินเทอร์เน็ตต่อเด็กและเยาวชน เป็นต้น
 
งานสำรวจวรรณกรรมของโครงการอินเทอร์เน็ตศึกษาฯ จึงถือเป็นหมุดหมายสำคัญในการสำรวจสถานะองค์ความรู้และข้อเสนอเชิงนโยบายในประเด็นหลักๆ ของการศึกษาวิจัยว่าด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตกับสังคม อันได้แก่ 1) การเคลื่อนไหวทางสังคมและการมีส่วนร่วมทางการเมืองในยุคดิจิทัล 2) เด็กและเยาวชนกับอินเทอร์เน็ต 3) รัฐบาลในยุคดิจิทัล 4) เสรีภาพในการแสดงออกและการกำกับดูแลเนื้อหาในยุคดิจิทัล 5) ความเป็นกลางทางเครือข่าย และ 6) ความเป็นส่วนตัวในยุคดิจิทัล ซึ่งนอกจากจะเป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนากรอบแนวคิดและเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับงานศึกษาในบริบทสังคมวัฒนธรรมไทยแล้ว ยังถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเปิดพื้นที่สนทนากับแนววิธีศึกษาจากหลากหลายสาขาวิชาอีกด้วย
 

 

โครงการจัดตั้งกลุ่มวิจัยด้านสื่อดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ตระหนักถึงความสำคัญของการเปิดพื้นที่สนทนาดังกล่าว จึงร่วมมือกับโครงการอินเทอร์เน็ตศึกษาฯ จัดกิจกรรมเสวนาวิชาการ “ดิจิทัลศึกษากับอนาคตสังคมไทย” เพื่อเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะและส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ โดยได้รับความสนับสนุนจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากพหุสาขาวิชา ได้แก่ นิติศาสตร์ นิเทศศาสตร์ รัฐศาสตร์ มานุษยวิทยา วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และเศรษฐศาสตร์ มาร่วมแนะนำประเด็นศึกษาและแนวโน้มความสนใจของแต่ละสาขาวิชา นอกจากนี้ ยังจะได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับความเป็นไปได้และแนวทางพัฒนาความร่วมมือสู่การจัดตั้งเครือข่ายวิจัยระดับชาติด้านดิจิทัลศึกษาต่อไปอีกด้วย

 

เสวนาวิชาการ "ดิจิทัลศึกษากับอนาคตสังคมไทย"

26 พฤศจิกายน 2562 | 13.30-17.30

ห้องประชุมคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ชั้น 4 อาคารคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

กำหนดการ

  • 13.30-13.45 | ลงทะเบียน
  • 13.45-14.00 | กล่าวต้อนรับและเปิดงาน (TBA)
  • 14.00-17.00 | เสวนาวิชาการ “ดิจิทัลศึกษากับอนาคตสังคมไทย
    • ผศ.ดร.จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล
      ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
      คณะวิศวกรรมศาสตร์
      มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
    • ผศ.ดร.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์
      ศูนย์ศึกษากฎหมายกับเทคโนโลยี
      คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    • รศ.ดร.ธนะพงษ์ โพธิปิติ
      คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    • ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
      ภาควิชาการปกครอง
      คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    • ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต
      ภาควิชาวารสารสนเทศ
      คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    • รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร 
      คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
      มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
    • ร่วมอภิปราย-แลกเปลี่ยนโดย
      • วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง
        โครงการอินเทอร์เน็ตศึกษา
        สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.)
  • 17.00-17.30 | ตอบคำถามและแลกเปลี่ยนกับผู้ร่วมเสวนา