ย้อนรอยคดี “ทวงคืนผืนป่า” บ้านแม่กวัก เมื่อมาตรการอนุรักษ์มีไว้รังแกประชาชน

ย้อนรอยคดี “ทวงคืนผืนป่า” บ้านแม่กวัก เมื่อมาตรการอนุรักษ์มีไว้รังแกประชาชน

เมื่อ 11 ธ.ค. 2562
 
ข้อมูลจากมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ
 
 
 
 
 
 
“เขาบอกว่าถ้าเราไม่ตัด เขาจะเอาคดีมาให้ ตอนนั้นยางเราก็ใกล้จะกรีดแล้ว ลูกเราก็เรียนอยู่ ก็ต้องตัดไปทั้งน้ำตา เพราะไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนไปส่งลูกเรียน”
 
 
“วันหนึ่ง ยาวิชัยป้อม” หรือชื่อเดิม “แสงเดือน ตินยอด” หญิงชาวบ้านแม่กวัก  ต.บ้านอ้อน อ.งาว จ.ลำปาง กล่าวอย่างสิ้นหวังเมื่อนึกถึงเหตุการณ์ในปี 2556 ที่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) บังคับให้ตัดฟันยางพาราของตัวเอง จากนั้นเธอได้ออกจากที่ดินดังกล่าว แต่ในปี 2560 เธอกลับถูกดำเนินคดีทั้งที่อออกจากที่ดินดังกล่าวแล้วในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนฯ และมีอาวุธไว้ในครอบครอง โดยวันที่ 25 มิถุนายน 2562 พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องคดี ศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 18 ธันวาคม 2562
 
 
 
ก่อนหน้านี้วันหนึ่งได้เข้าร่วมการแก้ไขปัญหาในนามสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) เพื่อเรียกร้องให้แก้ไขปัญหา เนื่องจากเป็นคดีความนี้มีความไม่เป็นธรรม วันหนึ่งไม่ได้เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินแปลงที่เป็นเหตุในคดีและไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่บ้านแม่กวักแล้ว เนื่องจากหย่าร้างกับสามี และย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่จังหวัดเชียงราย พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อจากแสงเดือน ตินยอดเป็นวันหนึ่ง ยาวิชัยป้อม เป็นผลพวงจากการดำเนินการของภาครัฐ ซึ่งทำให้เกิดความเกรงกลัวและไม่สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข 
 
 
นอกจากนั้นจากกระบวนการลงพื้นที่ตรวจสอบโดยคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า พื้นที่ทำกินผืนนี้ไม่เคยมีการบุกรุกเพิ่มเติมตามที่เจ้าหน้าที่หน่วยงานพิทักษ์ป่าที่ 13 (แม่โป่ง) กล่าวอ้างแต่อย่างใด ถึงแม้กรรมการที่เป็นตัวแทนจากภาครัฐและเครือข่ายชาวบ้านจะมีความเห็นร่วมกันแล้วว่าไม่ได้มีการบุกรุกป่า แต่กรมอุทยานแห่งชาติและเจ้าหน้าที่หน่วยงานพิทักษ์ป่าที่ 13 (แม่โป่ง) กลับอ้างว่าได้ส่งเรื่องไปให้อัยการแล้วและยากจะแก้ไขหรือถอนฟ้อง  
 
 
 
 
วันหนึ่ง ยาวิชัยป้อง ชื่อเดิมแสงเดือน ตินยอด ชาวบ้านแม่กวัก อ.งาว จ.ลำปาง
 
 
ลำดับเหตุการณ์ทวงคืนผืนป่าบ้านแม่กวัก สู่คดีของวันหนึ่ง
 
 
พื้นที่บ้านแม่กวัก ต.บ้านอ้อน อ.งาว จ.ลำปาง ถูกประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่โป่งตั้งแต่ปี 2514  จากประวัติชุมชนและคำบอกเล่าจากชาวบ้านชี้ชัดว่า ชาวบ้านแม่กวักอยู่มาก่อนการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าว โดยหลังจากนั้นในปี 2528 เจ้าหน้าที่ป่าสงวนฯ ได้ทำโครงการอนุญาตให้ชาวบ้านใช้พื้นที่ในรูปแบบใบแสดงว่ามีสิทธิ์ทำกิน (ส.ท.ก.1) ให้ชาวบ้านแม่กวักได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแม่โป่ง เรื่อยมาจนถึงการอนุญาตให้ชาวบ้านต่ออายุใบขออนุญาตทำกินในรูปแบบ ส.ท.ก.2 เมื่อปี 2538 เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้แสดงเจตจำนงในการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ต่อ 
 
 
หลังจากนั้นในปี 2535 ได้มีเจ้าหน้าที่เข้ามาติดป้ายประกาศเป็นเขตเตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท โดยไม่ลงมาชี้แจงทำความเข้าใจ ทำให้ชาวบ้านเริ่มเดือดร้อน ผลพวงหลังจากนั้นคือ ในปี 2540 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้เข้ามาชี้แจงชาวบ้าน กำชับไม่ให้เข้าไปทำประโยชน์ในพื้นที่อีก จนเกิดการจับกุมดำเนินคดี เสาร์แก้ว โพรโส ผู้ครอบครองเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ ข้อหาบุกรุกพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานฯ ทั้งที่เจ้าตัวให้การว่าทำกินมาก่อนหน้านั้น คดีที่สองเกิดขึ้นในปี 2555 ธงชัย ใจเย็น ถูกตั้งข้อหาบุกรุกพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานฯ แม้จะมีหลักฐานใบ สทก. เพื่อแสดงว่าตนได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่อยู่ก่อนและทำกินมาตั้งแต่บรรพบุรุษ 
 
 
วันที่ 2 กรกฎาคม 2556 วันหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) ขู่ให้ตัดยางพาราในพื้นที่ทำกิน 10 ไร่ จำนวน 760 ต้น ว่า หากไม่ดำเนินการจะถูกดำเนินคดี เจ้าหน้าที่อ้างว่า หากดำเนินการตัดเองแล้วจะสามารถทำกินได้เช่นเดิม วันหนึ่งจำเป็นต้องดำเนินการ วันหนึ่งต้องจำใจตัดฟันยางพาราที่อีกไม่นานจะถึงเวลาได้กรีดของตัวเองทั้งน้ำตา จากนั้นวันหนึ่งเลิกกับสามีและไปอยู่อาศัยที่จังหวัดอื่น 
 
 
 
ในปี 2558 ชาวบ้านแม่กวักได้ร่วมมือกันจัดทำแผนที่ชุมชนประกอบการแก้ไขปัญหาตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน แต่ถูกนายอำเภอข่มขู่ไม่ให้ชาวบ้านดำเนินการในรูปแบบของโฉนดชุมชนอ้างว่า ผิดกฎหมาย และจะยึดคืนข้อมูลทั้งหมดพร้อมทั้งดำเนินคดีชาวบ้าน แม้จะยืนยันว่าใช้ประโยชน์ต่อจากบรรพบุรุษมาตั้งแต่ปี 2508 และมีเอกสาร ส.ท.ก. ตั้งแต่ปี 2537 แล้ว แต่เจ้าหน้าที่กลับอ้างว่า ส.ท.ก. ไม่ใช่เอกสารสิทธิ ไม่สามารถนำมาเป็นหลักฐานยืนยันการใช้ประโยชน์ในที่ดินได้
 
 
วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ 2560 เจ้าหน้าที่นำเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจและจอดลงในพื้นที่ทำกินบ้านแม่กวักโดยไม่ได้แจ้งให้ชาวบ้านทราบ ซึ่งชุดปฏิบัติงานนั้นมีทั้งกำลังเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ตำรวจ และทหาร โดยได้ชี้แจงว่า ชาวบ้านบุกรุกพื้นที่สวนป่าเดิม ซึ่งชาวบ้านก็ได้ชี้แจงว่า แนวเขตสวนป่าอยู่ข้างบนไม่ได้ครอบคลุมที่ทำกินชาวบ้าน แต่ทางเจ้าหน้าที่ยืนยันว่า เนื้อที่สวนป่าครอบคลุมทั้งหมด
 
 
คดีความของวันหนึ่งเริ่มขึ้นวันที่ 18 กันยายน 2561 โดยเจ้าหน้าที่หน่วยงานพิทักษ์ป่าที่ 13 (แม่โป่ง) ได้สนธิกำลังเข้าตรวจยึดแปลงยางพาราของวันหนึ่งที่ทำการฟันทิ้งไปตั้งแต่ปี 2556 และแจ้งข้อกล่าวหา “ร่วมกันยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง ทำไม้ เก็บหาของป่าหรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต" 
 
 
หมายเรียกวันหนึ่ง ยาวิชัยป้อม ในฐานะผู้ต้องหาคดีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ
 
 
หลังจากนั้น ในเดือนพฤศจิกายน 2561 วันหนึ่งได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ซึ่งเธอยืนยันว่า ต้องการเงินค่าชดเชยจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) ในการบังคับให้ตัดฟันยางพารา แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยินยอมให้เงินชดเชย อ้างว่า ไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการตัดฟัน เพราะวันหนึ่งตัดฟันด้วยตนเอง นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ยังอ้างว่าพื้นที่ของวันหนึ่งได้ถูกกันออกจากพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานฯ แล้ว จึงเป็นพื้นที่ดำเนินการของป่าสงวนแห่งชาติแม่โป่ง ไม่เกี่ยวข้องกับอุทยานแห่งชาติอีกต่อไป ซึ่งเจ้าหน้าที่ป่าสงวนฯ ที่เข้าไปดำเนินการยืนยันว่า วันหนึ่งบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนจริง
 
 
 
อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกันตามมติที่ประชุมแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปรากฏว่า วันหนึ่งได้ทำกินอยู่แต่เดิม และไม่ได้มีการบุกรุกพื้นที่เพิ่มตามข้อกล่าวหาแต่อย่างใด แต่ปัจจุบันคดีความอยู่ในศาลชั้นต้นแล้ว และยังไม่มีการยกฟ้องหรือเยียวยาผลกระทบอันเกิดจากการดำเนินการของรัฐ
 
 
 
ทั้งนี้ สถานการณ์ล่าสุดของกรณีวันหนึ่ง  เมื่อวัน 26-28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานทั้งฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลย โดย ชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ พยานปากสุดท้ายของฝ่ายจำเลยเบิกความต่อศาลว่า หลังจากได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่า มีความคลาดเคลื่อนในการจับกุมของเจ้าหน้าที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่โป่งจริง โดยจากภาพถ่ายทางอากาศชี้ชัดว่าแปลงที่ดินดังกล่าวมีการใช้ประโยชน์มาตั้งแต่ปี 2497 แล้ว และมีการใช้ประโยชน์ต่อเนื่องเรื่อยมาทั้งในปี 2510, 2545, 2557 และ 2562 นอกจากนั้นยังได้รับการคุ้มครองตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 ในระหว่างที่มีการจับกุม โดยปรากฏพบว่ามีที่ทำกินไม่เกิน 25 ไร่ ไม่มีที่ดินแปลงอื่น มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ถือว่า ไม่เข้าข่ายนายทุน 
 
 
 
หลังจากนี้ วันหนึ่งจะต้องขึ้นศาลชั้นต้นเพื่อรับฟังคำพิพากษาในวันที่ 18 ธันวาคม 2562 และหากคำพิพากษาของศาลไม่เป็นไปตามหลักฐานข้อเท็จจริงอันปรากฏชัดจากการลงพื้นที่ของ ชีวะภาพ ชีวะธรรม จะมีการนำเรื่องเข้าเจรจากับรัฐบาลในการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ต่อไปในวันที่ 20 ธันวาคม 2562 ที่ทำเนียบรัฐบาล