
ในความขัดแย้งทางการเมืองของไทยในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา "สถาบันตุลาการ" เป็นส่วนหนึ่งของคู่ขัดแย้งผ่านคำวินิจฉัยและคำพิพากษาที่รับรองระบอบอำนาจนิยมในสังคมไทย ยิ่งในยามที่ที่มาของสถาบันตุลาการมีความเชื่อมโยงกับคณะรัฐประหาร
หลังการรัฐประหาร เมื่อปี 2557 สถาบันตุลาการโดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญถูกตั้งคำถามว่าเป็นกลไกในการพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตยหรือเป็นผู้บ่อนทำลาย โดยเฉพาะภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่ขยายอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญให้อยู่เหนือสถาบันการเมืองอื่นๆ
นักวิชาการทางนิติศาสตร์หลายคนนิยามปรากฎการณ์ที่สถาบันตุลาการกำลังแสดงแสงยานุภาพทางการเมืองว่า "ระบอบตุลาการธิปไตย" อันหมายถึงระบอบการปกครองที่ฝ่ายตุลาการมีบทบาทในทางการเมือง โดยเฉพาะการชี้ขาดข้อพิพาทต่างๆ ซึ่งทำให้แปรสภาพกลายเป็นองค์กรที่มีอำนาจเหนือกว่าสถาบันการเมืองอื่น
ด้วยเหตุนี้ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) จึงเลือกจัดเสวนาวิชาการในหัวข้อ "ประชาชนอยู่ตรงไหน เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน"
โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบไปด้วย
๐ ผศ.ธีระ สุธีวรางกูร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
๐ ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
๐ รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
๐ สัณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 13.00 - 16.00 น.
สถานที่: ห้องประชุมคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา ชั้น 4 อาคารคณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์