วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญโดย “สุจริต” ทำได้ แค่ไม่หยาบคาย เสียดสี อาฆาตมาดร้าย

วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญโดย “สุจริต” ทำได้ แค่ไม่หยาบคาย เสียดสี อาฆาตมาดร้าย

เมื่อ 24 ก.พ. 2563
“การวิจารณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยคดีที่กระทำโดยสุจริตและมิได้ใช้ถ้อยคำหรือมีความหมายหยายคาย เสียดสี หรืออาฆาตมาดร้าย ไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล”
 
ซึ่งพูดถึงเรื่อง “การห้ามละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ”
 
โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรักษาความสงบเรียบร้อยของการพิจารณาคดี ในส่วนที่บุคคลเข้ามาในบริเวณที่ทำการศาล โดยศาลอาจมีคำสั่งให้บุคคลกระทำหรืองดกระทำเพื่อให้การพิจารณาคดีดำเนินไปโดยสงบเรียบร้อยและรวดเร็ว ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับการห้ามละเมิดอำนาจศาลของศาลทั่วไป
 
การละเมิดอำนาจศาลมีบทลงโทษตามมาตรา 39 ตั้งเเต่ การตักเตือน การไล่ออกจากบริเวณศาล ไปจนถึงการลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
 
นอกจากนั้น การละเมิดอำนาจศาลยังรวมถึง "วิจารณ์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ" ที่กระทำด้วยความ ‘ไม่สุจริต’ ซึ่งหมายถึงการบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย รวมถึงการวิจารณ์ที่ใช้ถ้อยคำหรือความหมายที่ ‘หยาบคาย’ ‘เสียดสี’ ’อาฆาตมาดร้าย’ อีกด้วย
 
เท่ากับว่า หากเป็นการวิจารณ์โดย ‘สุจริต’ และการใช้ถ้อยคำหรือมีความหมาย ‘ไม่หยาบคาย’ ‘ไม่เสียดสี’ ’ไม่อาฆาตมาดร้าย’ ย่อมกระทำได้ ไม่ถือว่าเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
 
ในส่วนนี้ อุดม รัฐอมฤต เคยให้ความเห็นว่า การป้องกันการวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญโดยไม่สุจริตนั้นให้ครอบคลุมการใช้สื่อและสังคมออนไลน์ และรวมถึงการปลุกระดมมวลชนที่มาล้อมกดดันศาลด้วย 
 
ทั้งนี้ การวิจารณ์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีแนวทางปฏิบัติในรายละเอียดที่ชัดเจนว่าการวิจารณ์แบบใดทำได้หรือทำไม่ได้ และยังไม่มีตัวอย่างความผิด เพราะการห้ามละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ พึ่งมีขึ้นครั้งแรกใน พ.ร.ป. วิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งผ่านโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ถูกแต่งตั้งโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และใช้บังคับในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561 หรือประมาณ 1 ปีเท่านั้นเอง