เปิด 4 โมเดล "สสร." เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

เปิด 4 โมเดล "สสร." เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

เมื่อ 22 มี.ค. 2563
 
ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่สูงขึ้นนับตั้งแต่หลังการเลือกตั้งในปี 2562 ทำให้โฟกัสทางการเมืองพุ่งเป้าไปที่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 เพราะถูกมองว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาเพื่อให้คสช. สืบทอดอำนาจ และอาจกล่าวได้ว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2560 เป็นเป็นรัฐธรรมนูญของคสช. ที่ร่างโดยคสช. และร่างเพื่อคสช. ไม่ว่าจะเป็นกลไกอย่างวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งที่คัดเลือกโดยคสช. ที่พ่วงอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี หรือการสืบทอดอำนาจผ่านองค์กรอิสระมาทำหน้าที่ตัดกำลังคู่แข่งทางการเมือง
 
ด้วยสถานการณ์ความขัดแย้งข้างต้น ทำให้ในปี 2563 ทั้งภาคประชาชนและกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษาจากทั่วประเทศ ได้มีข้อเสนออย่างหนึ่งที่ตรงกันว่า ต้องการให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน แต่ทว่า ยังไม่มีรายละเอียดของรูปแบบและวิธีการได้มาซึ่ง สสร.
 
ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 รูปแบบและวิธีการได้มาซึ่ง สสร. ที่ยึดโยงกับประชาชน มีคนเสนอไว้แล้ว อย่างน้อยสี่รูปแบบที่แตกต่างกัน ดังนี้
 
 
 
จำนวน สสร. : 99 คน
วิธีการได้มา: การเลือกตั้งทางอ้อม
ประเภท สสร.: สองแบบ ได้แก่ ตัวแทนจังหวัดและผู้ทรงคุณวุฒิ
 
หลังเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม ปี 2535 หรือที่เรียกกันว่า "พฤษภาทมิฬ" ที่ประชาชนไม่พอใจการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารและเรียกร้องประชาธิปไตยที่ประชาชนจะเป็นเจ้าของประเทศได้มากขึ้น ได้มีการเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2534 เพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จนเกิดเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2539 (สสร. ปี 39 - 40) ซึ่งเป็นสภาที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ประกอบไปด้วยสมาชิกจำนวน 99 คน โดยแบ่งมีที่มาออกเป็นสองส่วน ได้แก่
 
หนึ่ง ตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมในแต่ละจังหวัด โดยให้มีการคัดเลือกกันเองในจังหวัดให้เหลือจังหวัดละ 10 คน 76 จังหวัด (จำนวนจังหวัดในขณะนั้น) รวมเป็น 760 คน จากนั้นส่งรายชื่อทั้ง 760 คน ให้ รัฐสภาเลือกคัดเลือกขั้นสุดท้ายให้เหลือจังหวัดละ 1 คน รวม 76 คน 
 
สอง ตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิ 23 คน ซึ่งมาจากผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน ผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ และผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการร่างรัฐธรรมนูญ โดยตัวแทนกลุ่มดังกล่าวให้มาจากการคัดเลือกกันเองของสภาสถาบันอุดมศึกษาในสาขานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือรัฐประศาสนศาสตร์แต่ละแห่งคัดเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติประเภทต่างๆ แล้วจึงส่งให้รัฐสภาเลือกคัดเลือก
 
 
 
จำนวน สสร. : 99 คน
วิธีการได้มา: เลือกตั้งโดยตรงผสมเลือกตั้งทางอ้อม
ประเภท สสร.: สองแบบ ได้แก่ ตัวแทนจังหวัดและผู้ทรงคุณวุฒิ  
 
หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่ร่างขึ้นโดยสภาที่มาจากการคัดเลือกโดยคณะรัฐประหารในปี 2549 พรรคพลังประชาชน ที่ประกอบไปด้วยสมาชิกจากอดีตพรรคไทยรักไทยของ 'ทักษิณ ชินวัตร' เป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง แต่ก็ไม่วายถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคอีก จนต้องมีตั้งพรรคใหม่ครั้งที่สามในชื่อ "พรรคเพื่อไทย" 
 
เมื่อพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งในปี 2554 จึงมีความพยายามผลักดันให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงและโดยอ้อมผสมกัน โดย สสร. ที่พรรคเพื่อไทยเสนอประกอบไปด้วยสมาชิกจำนวน 99 คน โดยแบ่งมีที่มาออกเป็นสองส่วน ได้แก่  
 
หนึ่ง ตัวแทนจังหวัด ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจังหวัดละ 1 คน จาก 77 จังหวัด รวมเป็น 77 คน
 
สอง ตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิ 22 คน ซึ่งมาจากผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน ผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ และผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการร่างรัฐธรรมนูญตามหลักเกณฑ์ที่ประธานรัฐสภากำหนด 
 
        
 
จำนวน สสร. : 99 คน
วิธีการได้มา: เลือกตั้งแบบแบ่งเขต
ประเภท สสร.: แบบเดียว คือ ตัวแทนจังหวัด
 
ในปี 2555 กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือที่รู้จักกันในชื่อ "นปช." เคยจัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมีข้อเสนอให้ตั้ง สสร. มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เนื่องจากเห็นว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2550 ไม่นับเป็นประชาธิปไตยทั้งที่มา เนื้อหาและกระบวนการ จึงจำเป็นต้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
 
ข้อเสนอของกลุ่มนปช. จะแตกต่างไปจาก สสร. 39 และ สสร. แบบเพื่อไทย โดยยกเลิกระบบผู้ทรงคุณวุฒิ และให้มี สสร.จำนวน 100 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน โดยวิธีการเลือกตั้งจะใช้วิธีการเดียวกับการเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต 
 
กล่าวคือ การแบ่งเขตเลือกตั้ง สสร. ให้คิดจากการเอาจำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่จะมีการเลือกตั้งมาเฉลี่ยหรือหารด้วยจำนวน สสร.100 คน จะได้ "เกณฑ์จำนวนราษฎรต่อ สสร. 1 คน" 
 
ยกตัวอย่างเช่น มีราษฎร 700,000 คน และมี สสร. 100 คน ดังนั้น สสร. 1 คน จึงเท่ากับราษฎร 7,000 คน
 
จากนั้นให้พิจารณาว่า ถ้าจังหวัดใดมีราษฎรไม่ถึงเกณฑ์ที่พึงจะมี สสร.1 คน ให้จังหวัดนั้นมี สสร. 1 คน ถ้าจังหวัดใดมีราษฎรเกินเกณฑ์พึงมี สสร.1 คน ให้มี สสร.เพิ่มขึ้น 1 คน ทุกๆ จำนวนราษฎรที่ถึงเกณฑ์ สสร.1 คน และให้นำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.มาบังคับใช้กับการเลือกตั้ง สสร. โดยอนุโลม 
 
ยกตัวอย่างเช่น กรุงเทพ มีราษฎร 14,000 คน เมื่อนำเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อ สสร. 1 คน มาหาร หรือ 7,000 มาหาร จะเท่ากับ กรุงเทพมี สสร. ได้ 2 คน 
 
ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะออกเสียงลงคะแนนเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิได้เขตละหนึ่งคนเท่านั้น หรือหมายความว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะเลือก สสร. ได้คนเดียวเฉพาะในเขตเลือกตั้งของตัวเอง
 
 
 
จำนวน สสร. : 200 คน
วิธีการได้มา: เลือกตั้งแบบรวมเขตเรียงเบอร์
ประเภท สสร.: แบบเดียว คือ ตัวแทนจังหวัด  
 
หลังการเลือกตั้งปี 2562 พรรคการเมืองที่ประกาศต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคสช. จำนวน 7 พรรค และเป็นพรรคฝ่ายค้าน ได้เสนอให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยใช้ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยรายละเอียดเท่าที่เปิดเผยสู่สาธารณะจะมี สสร. ทั้งสิ้น 200 คน และใช้วิธีการเลือกตั้งแบบรวมเขต หรือ ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง
 
วิธีการดังกล่าวจะคล้ายกับการเลือกตั้ง ส.ว. ในปี 2543 โดยเริ่มจากเอาจำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่จะมีการเลือกตั้งมาเฉลี่ยหรือหารด้วยจำนวน สสร.200 คน จะได้ "เกณฑ์จำนวนราษฎรต่อ สสร. 1 คน" 
 
จากนั้นให้นำเกณฑ์ดังกล่าวมาคำนวณว่าแต่ละจังหวัดจะมี สสร. ได้กี่คน ถ้าจังหวัดใดมีราษฎรไม่ถึงเกณฑ์ที่พึงจะมี สสร.1 คน ให้จังหวัดนั้นมี สสร. 1 คน ถ้าจังหวัดใดมีราษฎรเกินเกณฑ์พึงมีสสร.1 คน ให้มี สสร.เพิ่มขึ้น 1 คน ทุกๆ จำนวนราษฎรที่ถึงเกณฑ์ สสร.1 คน ในกรณีที่ยังได้ สสร. ไม่ครบตามจำนวนที่กำหนดให้จังหวัดใดที่เศษที่เหลือจากการคำนวณมากที่สุด มีสสร. เพิ่ม 1 คน จนครบ
 
ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งได้ตามจำนวน สสร. ที่พึงในจังหวัดนั้น หรือใช้วิธีการเลือกตั้งแบบเลือกผู้สมัครไว้หลายคน(เรียงเบอร์)แต่ไม่เกินจำนวนของผู้แทนหรือที่นั่งที่มีในเขตเลือกตั้งนั้น เช่น เขตเลือกตั้งหนึ่งมี ผู้แทนได้ 3 คน ก็มีสิทธิลงคะแนนเลือกผู้แทนได้ 3 คน โดยผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดเรียงตามลำดับจนครบจำนวนผู้แทนที่พึงมีในเขตนั้นเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง