The Post: เพราะสื่อ..ไม่ใช่เครื่องมือของรัฐ

The Post: เพราะสื่อ..ไม่ใช่เครื่องมือของรัฐ

เมื่อ 17 เม.ย. 2563
รีวิวโดย สิรวิชญ์ บุญประสิทธิการ
 
หลายครั้งการตีแผ่หรือป่าวประกาศ “ความจริง” ก็เป็นสิ่งอันตราย ยิ่งความจริงนั้นเป็นเรื่องลับลมคมในของผู้มีอิทธิพล การเผยแพร่ก็ยิ่งทวีความเสี่ยงจนผู้ที่เผยแพร่อาจต้องเอาชีวิตของตัวเองเป็นเดิมพัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผู้มีอิทธิพลรายนั้นคือรัฐบาล ผู้มีอำนาจในการควบคุมความเป็นไปของชาติ แล้วเสรีภาพในการแสดงออกจะเอาชนะอำนาจมืดของรัฐได้อย่างไร…
 
สตีเวน สปีลเบิร์ก พ่อมดแห่งฮอลลีวูดได้นำเรื่องราวการต่อสู้ระหว่างเสรีภาพจรรยาบรรณของสื่อกับการปกปิดข้อมูลของรัฐบาลมาตีแผ่ใน The Post หนังที่สร้างจากเรื่องจริงที่ถูกรัฐบาลสหรัฐซุกซ่อนช่วงต้นยุค 70 ช่วงเวลาที่สงครามเวียดนามกำลังครุกรุ่น รัฐบาลสหรัฐย้ำกับประชาชนว่า ตนเองไม่เกี่ยวข้องกับกิจการภายในของเวียดนาม รัฐบาลเพียงส่งทหารไปช่วยเหลือ ทั้งยังให้คำมั่นกับประชาชนว่า “สหรัฐกำลังจะชนะ” 
 
ขณะเดียวกันกับที่แคทเธอรีน เกรแฮม (Katharine Graham) สาวหม้ายสายมั่นที่ต้องดูแลกิจการหนังสือพิมพ์ The Washington Post ต่อจากสามีที่เสียชีวิต ต้องรับมือกับการตัดสินใจครั้งสำคัญเมื่อเบน แบรดลี (Ben Bradlee) บรรณาธิการผู้มุ่งมั่นของ The Washington Post ในขณะนั้น ต้องการจะตีพิมพ์เอกสารลับของเพนตากอนที่เปิดเผยว่าสหรัฐอเมริกามีส่วนร่วมในสงครามเวียดนามมานานกว่า 30 ปี ซึ่งชี้ให้เห็นว่าสื่อและประชาชนถูกโกหกผ่านทำเนียบขาวและประธานาดิบดีคนแล้วคนเล่าถึงสงครามที่ไม่มีทางชนะ ชีวิตของนายทหารที่ต้องสังเวยไม่มีรางวัลตอบแทนนอกจากการเป็นเครื่องมือให้รัฐไม่ต้องเสียหน้า รัฐบาลพยายามปกปิดความจริงนี้กับประชาชนมาโดยตลอด การตีพิมพ์เอกสารลับชุดนี้จึงอาจถูกตัดสินว่าเป็น ‘ภัยต่อความมั่นคงของชาติ’ และอาจมีสำนักพิมพ์และชีวิตของพนังงานทุกคนเป็นเดิมพัน
 
หนังจับเหตุการณ์ การต่อสู้ระหว่าง “ภาคประชาสังคม” กับ รัฐบาล “กึ่งเผด็จการ” สุดอื้อฉาวของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน การที่ศาลตัดสินห้าม The New York Times ที่ได้ตีพิมพ์ข้อมูลลับชุดนี้ไปก่อนไม่ให้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสงครามเวียดนามอีกก็ยิ่งตอกย้ำว่า สื่อกำลังถูกปิดกั้น ประชาชนกำลังถูกปิดหูปิดตา แล้ว The Washington Post ควรตัดสินใจอย่างไรในขณะที่ตัวเองกำลังจะเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ การตีพิมพ์เรื่องราวที่เสี่ยงถึงคุกเช่นนี้ อาจทำให้นักลงทุนหนีหาย แต่อีกฝั่งก็เป็นประชาชนผู้โชคร้ายถูกรัฐบาลปกปิดความจริง จึงพูดได้ว่านี่คือการห้ำหั่นกันของ 3 สิ่ง อันได้แก่ เสรีภาพจรรยาบรรณของสื่อ สังคมทุนนิยม และอำนาจของรัฐที่ต้องการควบคุมให้ประชาชนรับรู้เพียงข้อมูลที่จำเป็น(ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ซึ่งความมั่นคงของชาติเป็นหนึ่งในข้ออ้างนั้น)
 
นอกจากนี้ The Post ยังสอดแทรกบริบททางวัฒนธรรมร่วมสมัยได้อย่างกลมกลืน แต่ก็ทรงพลัง อาทิ ประเด็น Patriarchy หรือสังคมชายเป็นใหญ่ ผ่านตัวแคทเธอลีน ประธานของ The Washington Post ที่ต้องพาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์และทำการตัดสินใจที่ยากที่สุดในยุคที่เพศหญิงไม่เป็นที่ยอมรับในฐานะผู้นำ อีกทั้งหนังเรื่องนี้ยังนำเสนอประวัติศาสตร์ของสื่อ ในวันที่เทคโนโลยีการพิมพ์ไม่ได้รวดเร็วฉับไวเหมือนการรายงานข่าวทางทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊กในปัจจุบัน และหนังก็ไม่ลืมสะท้อนให้เห็นว่า หนังสือพิมพ์ในปี 1971 เป็นสื่อที่ทรงพลังและจำเป็นต่อการรับรู้ของประชาชนอย่างแท้จริง
 
ภายใต้เรื่องราวอันเข้มข้นที่คัดสรรถ่ายทอดโดย จอช ซิงเกอร์ มือเขียนบทผู้คว้ารางวัลออสการ์จากเรื่องจริงชวนช็อกใน Spotlight การต่อสู้ของนักหนังสือพิมพ์และอำนาจมืดก็ถูกขับเน้นอย่างน่าติดตามด้วยทัพนักแสดงคุณภาพอย่าง เมอรีล สตรีป และ ทอม แฮงส์ จึงทำให้ The Post ครบเครื่องทั้งเรื่องราวที่นำเสนอและการแสดงที่น่าจดจำ
 
คำพูดหนึ่งที่ทรงพลังและเชื่อว่าคนที่อินกับประเด็นสิทธิและเสรีภาพจะอดน้ำตาซึมไม่ได้คือ “บิดาผู้ก่อตั้งสื่อของสหรัฐฯ กำหนดให้เสรีภาพสื่อต้องได้รับการคุ้มครอง เพื่อให้ทำหน้าที่ที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตยของเรา สื่อมีหน้าที่รับใช้ประชาชน ไม่ใช่รัฐบาล” (ตอนที่พิมพ์ประโยคนี้ผมเองยังน้ำตาซึมไม่หยุด) ช่างเป็นคำพูดที่งดงามหรือเกิน และความงดงามของ The Post ก็ไม่ได้มีเพียงคำพูดนี้อย่างแน่นอน จึงต้องขอเชิญทุกคนร่วมพิสูจน์ว่า “สื่อ” ในเรื่องจะต้องตกเครื่องมือของรัฐเช่นเดียวกับสื่อในบางประเทศที่เรารู้จักดีหรือไม่ ร่วมต่อสู้ไปพร้อมกันใน “The Post เอกสารลับเพนตากอน”