รอบอาทิตย์ ที่ 4

รอบอาทิตย์ ที่ 4

เมื่อ 2 ต.ค. 2553

 

ความเคลื่อนไหวในแง่มุมกฎหมายและเรื่องที่น่าสนใจ ประจำสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนกันยายน มีดังต่อไปนี้
 
 
 
นายกฯย้ำ ไม่ทบทวนประเภทกิจการรุนแรง
 
สืบเนื่องจากกรณีที่ครม.ได้มีมติรับรองประเภทโครงการรุนแรงตามที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเสนอ คือ 11 โครงการนั้น
 
วันที่ 27 ก.ย. นายกฯได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยในการประชุมไม่ได้มีการพิจารณาจะเพิ่มเติมประเภทกิจการรุนแรงตามที่หลายภาคส่วนเรียกร้องแต่อย่างไร ทั้งนี้ ในการแก้ปัญหามาบตาพุด นายกฯยังได้ย้ำว่า จะ 11 โครงการ หรือ 18 โครงการ ก็ไม่มีสิ่งใดที่แตกต่างในพื้นที่มาบตาพุดเลย
 
รัฐมนตรีสาธารณสุข คาด ได้ข้อสรุป พรบ.คุ้มครองผู้เสียหาย 12 ต.ค. นี้
 
เนื่องจากในวันที่ 12 ต.ค. ที่จะถึงนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการสร้างเสริมความสมานฉันท์ในระบบบริการสาธารณสุขอีกครั้ง ซึ่งน่าจะได้ข้อสรุปจากการประชุมคราวนี้
 
ทั้งนี้ได้มีกลุ่มแพทย์ส่วนหนึ่ง ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างพรบ.นี้ ได้วอล์กเอาท์จากการประชุมคณะกรรมการสร้างเสริมความสมานฉันท์ในระบบบริการสาธารณสุข ที่ประชุมเมื่อวันที่ 28 ก.ย. โดยอ้างว่ามีวาระแอบแฝง
 
 
ผบ.ตร.เรียกร้องออก กม.ชุมนุมที่สาธารณะ รับมือสถานการณ์บ้านเมือง
 
เมื่อวันที่ 29 ก.ย. พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ในโอกาสมอบโล่เกียรติยศแก่ผู้บังคับบัญชาหน่วยที่มีการบริหารเหตุการณ์ และแก้ไขสถานการณ์วิกฤตในพื้นที่ดีเยี่ยม ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2553 พร้อมกับย้ำเจ้าหน้าที่ต้องฝึกซ้อม และปรับแผนตลอดเวลา เพื่อให้การทำหน้าที่มีประสิทธิภาพ พร้อมกับเรียกร้องให้เกิด พรบ.การชุมนุมในที่สาธารณะ เพื่อรับมือกับสถานการณ์บ้านเมือง และเจ้าหน้าที่จะไม่ถูกกล่าวหาว่าใส่เกียร์ว่าง จาก เดลินิวส์
 
 
29 องค์กรผลักดัน ร่างพรบ.ความเท่าเทียมทางเพศ
 
คณะทำงานส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ 29 องค์กร ร่วมกันหารือ เร่งให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผลักดันร่างนี้เข้าสภาโดยเร็ว ทั้งนี้ร่าง พรบ.ความเท่าเทียมทางเพศนี้ ครม.ได้เห็นชอบตั้งแต่ ปี 2550 ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของกฤษฎีกา
 
แบงค์ชาติสรุปค่าธรรมเนียม ค่าโอนเงิน - ถอนเงิน
 
ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ข้อสรุป 4 มาตรการ ลดค่าโอนเงิน-ถอนจากตู้เอทีเอ็ม ข้ามเขต โดยแบ่งเป็น 4 มาตรการ คือ
  1. การโอนเงินผ่านเอทีเอ็มธนาคารเดียวกันแต่ข้ามเขต ปัจจุบันคิดค่าบริการหมื่นละ 10 บาท บวกค่าธรรมเนียมอีกรายการละ 10 บาท เฉลี่ยรวมค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ 20 สูงสุดไม่เกิน 1,000 บาทต่อรายการแล้วแต่วงเงิน อัตราใหม่จะเปลี่ยนเป็นโอนเงินได้ฟรีในครั้งแรกของแต่ละเดือน ครั้งต่อไปคิดรายการละไม่เกิน 15 บาท ทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือแรงงานซึ่งป็นคนต่างจังหวัดในเขตกรุงเทพฯ หรือทำงานข้ามเขตมีความจำเป็น ต้องโอนเงินรายได้กลับบ้าน เริ่มใช้ไตรมาสแรกปี 2554
  2. การถอนเงินธนาคารเดียวกันแต่ข้ามเขต ซึ่งปัจจุบันธนาคารส่วนใหญ่คิดค่าบริการหมื่นละ 10 บาท สูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท เป็นอัตราใหม่ ไม่เกิน 15 บาทต่อรายการ ซึ่งจะใช้ในไตรมาสแรกปีหน้า เช่นเดียวกัน
  3. การทำธุรกรรมถอนหรือถามยอด ผ่านตู้เอทีเอ็มของต่างธนาคาร ซึ่งปัจจุบันในเขตกรุงเทพฯ จะถอนเงินหรือถามฟรีได้ 4 ครั้งแรกของเดือน ครั้งที่ 5 คิดรายการละ 5 บาท ส่วนต่างจังหวัด ถอนเงินคิด 20-25 บาทต่อรายการ และในครั้งที่ 5 จะคิดเพิ่มอีก 5 บาทต่อรายการ เปลี่ยนเป็น ให้ฟรี 4 ครั้งต่อเดือน ทั้งในต่างจังหวัดและกรุงเทพ ส่วนครั้งที่ 5 ขึ้นไป คิดไม่เกิน 10 บาทต่อรายการ เริ่มใช้ไตรมาส 2 ปีหน้า
  4. การถอนเงินต่างธนาคารข้ามเขตผ่านตู้เอทีเอ็ม ธนาคารส่วนใหญ่คิดค่าบริการหมื่นละ 10 บาท บวกค่าธรรมเนียมคู่สายอีก 10 บาท รวมขั้นต่ำ 20-25 ต่อรายการ และเพิ่มขึ้นตั้งแต่ครั้งที่ 5 เป็นต้นไปอีกครั้งละ 5 บาท เปลี่ยนใหม่เป็น ฟรี 4 ครั้งแรก ต่อเดือน ครั้งที่ 5 ไม่เกิน 20 บาทต่อรายการ โดยเริ่มบังคับใช้ไตรมาส 2 ปีหน้า

แรงงานนอกระบบเฮ! สภาฯลงมติเห็นชอบร่างพรบ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน แล้ว

วันที่ 29 ก.ย. 2553 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีการพิจารณากรณีวุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.... ทั้งนี้ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้านตามที่วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติม ด้วยคะแนน 344 /9 เสียงขั้นตอนกระบวนการนิติบัญญัติหลังจากนี้ คือ ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน นับแต่วันรับร่างนี้ เพื่อให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป

 

ที่มาภาพ : mandiberg

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: