27 พฤษภาคม 2563 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฏรเตรียมประชุมสมัยสามัญ โดยมีภารกิจคือ การพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงินหนึ่งล้านล้านบาทเพื่อรับมือสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 โดยทางวิปฝ่ายค้านแถลงร่วมกันว่า ให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบการใช้เงินและให้รัฐบาลรายงานบัญชีต่อสภาต่อเดือน มิฉะนั้น ฝ่ายค้านจะลงมติ‘ไม่ให้ผ่าน’
โดยการประชุมสภาผู้แทนฯ จะมีการอภิปรายเพื่อพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ อันได้แก่ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้าน) ,พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019(พ.ร.ก.Softloan 500,000 ล้าน ให้กับ SMEs) และพ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ร.ก.ตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพของตราสารหนี้บริษัทเอกชน 400,000 ล้าน) รวมถึง พ.ร.ก.ประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ อีก 1 ฉบับ
ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา สุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือ วิปฝ่ายค้าน พร้อมด้วย นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รองประธานวิปฝ่ายค้าน และพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมแถลงผลการประชุมวิปฝ่ายค้าน โดยทางรองหัวหน้าพรรคก้าวไกลได้กล่าวถึงสัดส่วนของอภิปรายว่าสามวันแรก (27-29 พฤษภาคม 2563) จะเป็นการอภิปราย พ.ร.ก.กู้เงินหนึ่งล้านล้านบาท และวันที่ 4 (30 พฤษภาคม2563) จะเป็นการพิจารณา พ.ร.ก. ให้ ธปท. ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Softloan) 5 แสนล้านบาท และวันที่ 5 (31 พฤษภาคม 2563) จะพิจารณา พ.ร.ก.อุ้มตราสารหนี้ 4 แสนล้านบาท และพิจารณา พ.ร.ก. การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่อโดยจะแยกลงมติทีละฉบับ
เปิดห้าประเด็นหลัก พ.ร.ก.กู้เงิน หนึ่งล้านล้าน ฝ่ายค้านเตรียมซักฟอกรัฐบาล
ประเด็นหลักที่ฝ่ายค้านเตรียมเปิดอภิปราย ประกอบไปด้วย
หนึ่ง ฝ่ายค้านเห็นว่า มาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากพิษโควิด -19 ยังไม่มีประสิทธิภาพ พิจารณาจากการออกมาตรการเงินเยียวยา 5,000 บาทของรัฐบาล มีปัญหาตรงที่มีผู้ที่ลงทะเบียนขอรับสิทธิกว่า 24 ล้านคน ซึ่งฝ่ายค้านระบุว่ารัฐบาลประเมินเป้าหมายต่ำกว่าความเป็นจริงอย่างมาก รวมถึงปัญหาที่คนส่วนใหญ่ลงทะเบียนแล้วแต่ยังไม่ได้รับเงิน หรือกรณีที่ประชาชนหลายคนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนแต่ไม่ผ่านเกณฑ์การขอรับเงินชดเชยรอบแรก ทำให้มีความวิตกว่ารัฐบาลยังช่วยผู้เดือดร้อนได้ไม่ทั่วถึงและไม่ทันเวลา นอกจากนี้ ฝ่ายค้านเห็นว่า รัฐบาลต้องทบทวนหลักเกณฑ์ในการได้รับเงินดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิการเยียวยาจากผลกระทบโควิด-19อย่างเท่าเทียมเพราะ ประชาชนทุกคนเดือดร้อนและทุกคนทุกอาชีพมีสิทธิได้รับ
สอง ร่างพ.ร.บ.โอนงบรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 ที่จะโอนงบจากหน่วยงานต่างๆ 10% ในตอนแรกที่รัฐบาลคำนวณว่าจะดึงงบจากทุกกระทรวงเป็นเงิน 100,395,000,000 ล้านบาท แต่ปรากฎว่ารัฐบาลดึงงบมาได้เพียง 88,452,597,900 ล้านบาท อีกทั้งกระบวนการจัดทำ และการชงเรื่องเข้าสภาพิจารณา ทำได้ล่าช้า ทั้งที่เป็นเรื่องเร่งด่วน และควรจะเปิดสภาสมัยวิสามัญตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม
สาม การใช้เงินกู้จำนวน 1 ล้านล้านบาท ไม่มีการตรวจสอบที่เข้มงวดและรัดกุมเพียงพอ โดยรัฐบาลตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด ตาม มาตรา 7 วรรคแรกแห่ง พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกจิและสังคม ที่ได้รับกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ชื่อว่า ‘คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ ประกอบด้วย เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, ปลัดสานักนายกรัฐมนตรี, ปลัดกระทรวงการคลัง , ผู้อำนวยการสานักงบประมาณ, ผู้อำนวยการสานักงานบริหารหน้ีสาธารณะ, ผู้อำนวยการสานักงานเศรษฐกิจการคลัง และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่เกินห้าคน เป็นกรรมการ ให้รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคนหน่ึงซึ่งเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมอบหมายเป็นเลขานุการ และผู้แทนสำนักงบประมาณ และผู้แทนสานักงานบริหารหนี้สาธารณะ เป็นผู้ช่วยเลขานุการร่วม และให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรับผิดชอบงานวิชาการและธุรการของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ซึ่งจากข้อมูลล่าสุด วันที่ 24 พฤษภาคม 2563 นายกรัฐมนตรีตั้งผู้ทรงคุณวุฒิไปเพียง 1 คน คือเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่ออนุมัติโครงการที่จะใช้เงิน แต่ทว่า พรรคฝ่ายค้านเกรงว่าจะมีการใช้งบประมาณอย่างไม่คุ้มค่า เนื่องจากคณะกรรมการส่วนใหญ่มาจากฝ่ายราชการ ซึ่งอาจไม่ได้สะท้อนปัญหาของภาคประชาชนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะเม็ดเงิน 4 แสนล้านสำหรับฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ยังไม่มีการลงรายละเอียดว่าเป็นการใช้เงินเป็นอย่างไร ทำให้ฝ่ายค้านคาดการณ์ว่าสุดท้าย โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจจะเข้าทำนองเดิมคือ ขุดลอก ถนนหนทาง บ่อน้ำ เหมือง ฝาย
สี่ ฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตว่า พ.ร.ก.ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 500,000 ล้านบาท ที่ให้กับ SMEs การกำหนดเพดานวงเงินให้ธุรกิจ SMEs รายละไม่เกิน 500 ล้านบาทนั้นกระจุกตัวอยู่ SMEs รายใหญ่ ทำให้ธุรกิจรายเล็กที่ต้องใช้เงินไม่เกิน10 - 50 ล้านบาทไม่สามารถกู้ได้ รวมถึง เม็ดเงินจำนวน 500,000 ล้านบาทนี้ จะปล่อยให้ความช่วยเหลือ SMEs ได้เพียง 5 พันรายเท่านั้น จากจำนวน SMEs ทั้งหมด 3.4 หมื่นล้านราย ซึ่งหากปล่อยให้ธุรกิจรายย่อยที่เหลือล้มละลาย ก็อาจกลายเป็นโดมิโนระบบการเงินในอนาคต
ห้า พ.ร.ก.ตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพของตราสารหนี้บริษัทเอกชน 400,000 ล้าน หรือที่มีชื่อว่ากองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (Corporate Bond Stabilization Fund: BSF) ฝ่ายค้านมองว่าเป็นแผนของรัฐบาลในการ “อุ้มคนรวย” ช่วยเหลือกลุ่มนักลงทุนและภาคเอกชนรายใหญ่ มากกว่า “ช่วยคนจน” โดยสามกลุ่มบริษัทที่คาดว่าจะได้รับการสนับสนุน ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยว ตั้งแต่สายการบิน โรงแรง พลาซ่า, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ขายบ้านและคอนโดมิเนี่ยมเป็นหลัก และ ธุรกิจสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์
อย่างไรก็ดี ประธานวิปฝ่ายค้าน ได้กล่าวว่า จากการพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงินทั้ง 3 ฉบับพบว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนทั้งหมดเนื่องจากมีข้อมูลว่ารัฐบาลเพิ่งดำเนินการกู้เงินไปเพียงบางส่วนเท่านั้น จึงเห็นว่าถ้ารัฐบาลจะดำเนินการเช่นนี้เงินส่วนที่เหลือที่จะต้องกู้ตามพระราชกำหนดควรเปลี่ยนมาเป็นการดำเนินการกู้ผ่านการร่างพระราชบัญญัติงบประมาณกลางปีแทน เพื่อให้สภาได้ตรวจสอบ นอกจากนี้ ฝ่ายค้านจะเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อตรวจสอบการใช้เงินกู้จำนวนนี้ซึ่งทางพรรคก้าวไกลได้เสนอญัตติเข้าสู่สภาไปแล้ว ประธานวิปฝ่ายค้าน ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่าในการพิจาณาพ.ร.ก.ทั้งสามฉบับนี้ หากจะให้ผ่านไปเลยคงไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และเนื่องจากยังไม่มีรายละเอียดการใช้เงินที่ชัดเจน รัฐบาลจึงต้องให้รายละเอียดและตอบคำถามของฝ่ายค้านให้ได้และต้องรับปากว่าจะรายงานการใช้เงินกู้จำนวนนี้ต่อสภาเดือนละครั้ง เช่นนั้น ฝ่ายค้านจึงอาจจะลงมติให้ผ่านได้ แต่ถ้าในที่ประชุมรัฐบาลยังไม่สามารถตอบรายละเอียดได้ชัดเจน ฝ่ายค้านก็อาจต้องยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความซึ่งถือเป็นทางเลือกสุดท้าย