จากคดี "ทนายสมชาย" ถึงอุ้มหายวันเฉลิม จะเอาผิดคนร้ายในไทยได้ต้องแก้กฎหมายก่อน

จากคดี "ทนายสมชาย" ถึงอุ้มหายวันเฉลิม จะเอาผิดคนร้ายในไทยได้ต้องแก้กฎหมายก่อน

เมื่อ 11 มิ.ย. 2563

 

ปี 2547 ทนายสมชาย นีละไพจิตร นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนถูกอุ้มหายในประเทศไทย การดำเนินการเเพื่อทวงถามความเป็นธรรมเต็มไปด้วยอุปสรรคนานัปการ และจนถึงตอนนี้ยังดำเนินการลงโทษผู้กระทำความผิดไม่ได้ ขณะที่นักกิจกรมทางการเมืองไทยหลายคนที่ตัดสินใจที่จะลี้ภัยทางการเมืองไปต่างประเทศ และต้องเผชิญความเสียงต่อชีวิต อย่างน้อย 9 คน ถูกอุ้มหายไปโดยยังไม่มีคนถูกดำเนินคดีและลงโทษ
 
4 มิถุนายน 2563 ต้าร์-วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทย ถูกอุ้มหายไปจากหน้าที่พักในประเทศกัมพูชา ซึ่งตำรวจของทั้งไทยและกัมพูชายังปฏิเสธ เป็นกรณีสะเทือนขวัญล่าสุดที่เกิดขึ้น 
 
ไอลอว์ลองชวนดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับคนไทย แม้เหตุการณ์จะเกิดในต่างประเทศแต่กฎหมายไทยยังมีเขตอำนาจอยู่มากน้อยเพียงใด และตัวอย่างจากคดีการหายตัวของทนายสมชาย ทำให้เราเรียนรู้อะไรสำหรับการอุ้มหายที่เกิดขึ้น 16 ปีให้หลังได้บ้าง
 
 
คดีอุ้มหายที่ยังเอาผิดไม่ได้ ตัวอย่างคดีทนายสมชาย สู้ถึงศาลฎีกา
 
เหตุการณ์การสูญหายของทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ที่เกิดขึ้นในปี 2547 มีตำรวจ 5 คน ตั้งใจขับรถชนรถยนต์ของทนายสมชาย เป็นเหตุให้ทนายสมชายต้องลงมาดูเหตุการณ์ จนถูกตำรวจทั้งห้านำตัวขึ้นรถอีกคันโดยไม่ยินยอม หลังจากนั้นก็ยังไม่พบว่า เกิดอะไรขึ้นกับทนายสมชาย หรือเป็นตายอย่างไร
 
อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของทนายสมชาย ร่วมกับลูกๆ เป็นโจทก์ดำเนินคดีกับตำรวจ 5 คนเป็นจำเลย 
 
 
จำเลยทั้งห้าถูกฟ้องว่าได้กระทำอันมีลักษณะบังคับให้ให้ทนายสมชายต้องขึ้นรถ โดยชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์เป็นพยานว่า ได้ยินเสียงทนายสมชายร้องให้ปล่อยตัว อีกทั้งเห็นว่าทนายสมชายมีท่าทีขัดขืนแต่ไม่สามารถต้านทานแรงจำเลยได้จึงถูกบังคับให้เข้าไปอยู่ในรถในที่สุด เป็นการที่จำเลยที่ห้าทำให้ทนายสมชายจำยอมขึ้นรถโดยใช้กำลังเป็นเหตุให้ทนายสมชายถูกพรากไปซึ่งเสรีภาพในการเคลื่อนไหว จึงถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 309 ฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้นหรือจำยอมต่อสิ่งนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
 
 
และผลปรากฏว่า ศาลฎีกาสั่งยกฟ้องจำเลยทั้งห้า เนื่องจากคดีดังกล่าวไม่มีผู้มีอำนาจฟ้องคดีมาเป็นโจทก์ ในขณะที่ครอบครัวของทนายสมชายเองก็ไม่สามารถเป็นโจทก์ฟ้องคดีแทนทนายสมชายได้ เพราะกฎหมายระบุว่า กรณีที่ครอบครัวจะฟ้องคดีแทนผู้เสียหายได้ก็ต่อเมื่อเป็นกรณีที่ผู้เสียหายตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถดำเนินการเองได้เท่านั้น แต่การดำเนินคดีนี้เป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ และฐานข่มขืนใจผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 ครอบครัวของทนายสมชายจึงไม่อาจเข้ามาเป็นโจทก์ได้
 
 
นอกจากนี้ แม้โจทก์ได้นำพยานหลักฐานมาประกอบการกล่าวอ้างว่า จำเลยได้ร่วมกันบีบบังคับผู้ต้องหาในคดีเผาโรงเรียนและปล้นอาวุธของกองทัพรับสารภาพ โดยวิธีการต่างๆ เช่น กรอกอุจจาระใส่ปาก ช็อตไฟฟ้า ทนายสมชายทราบเรื่องจึงได้ทำหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานต่างๆว่า มีการใช้วิธีการที่ขัดต่อหลักมนุษยธรรม แต่ศาลฎีกาเห็นว่า มูลเหตุนี้รับฟังไม่ขึ้น เนื่องจากจำเลยเองก็ไม่อาจทราบได้ว่าทนายสมชายเป็นคนทำหนังสือ อีกทั้งการยื่นหนังสือดังกล่าวยังไม่ถึงขนาดกระทบต่อตำแหน่งราชการของจำเลย ที่โจทก์อ้างว่ามีพยานรู้เห็นเหตุการณ์ตอนที่มีกลุ่มคนพาทนายสมชายขึ้นรถนั้น พยานไม่ได้ยืนยันหนักแน่นว่ากลุ่มคนที่เห็นว่าฉุดกระชากทนายสมชายนั้นคือจำเลย ประกอบกับเวลาที่เห็นเหตุการณ์เป็นเวลามืด ระยะที่กลุ่มคนอยู่ก็ไกลมองเห็นได้ไม่ถนัด โจทก์อ้างเอกสารแสดงการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ท่ีจำเลยติดต่อกันถึง 75 ครั้ง พิกัดการใช้โทรศัพท์ของจำเลยมีลักษณะเป็นการติดตามการเคลื่อนไหวของทนายสมชาย แต่เอกสารที่แสดงการใช้โทรศัพท์กลับเป็นเป็นเอกสารสำเนาที่ไม่ผู้รับรองความถูกต้อง ศาลฎีกาจึงยกฟ้องคดีนี้ในที่สุด
 
 
 
คดีการหายตัวของทนายสมชายแสดงให้เห็นถึงจุดอ่อนที่ชัดเจนของกฎหมายเรื่องการอุ้มหาย เพราะการอุ้มหายนั้นผู้กระทำจงใจจะทำให้ไม่ปรากฏหลักฐานหลงเหลือว่า ผู้เสียหายเป็นหรือตายอย่างไร การจะดำเนินคดีฐาน "ฆ่าคนตาย" ก็ยังปราศจากหลักฐาน การเอาผิดกับจำเลยจึงทำได้ยากลำบากเป็นอย่างยิ่ง
 
 
 
 
 
เมื่อคดีอุ้มหายเกิดในต่างประเทศ ก็ยังดำเนินคดีที่ศาลไทยได้
 
 
ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยของไทยนั้น มีนักกิจกรรมทางการเมืองไทยหลายชีวิตที่ตัดสินใจย้ายไปอยู่ต่างประเทศ เพื่อหลีกหนีให้พ้นจากอำนาจการจับกุมดำเนินคดีโดยเจ้าหน้าที่รัฐของไทย และอย่างน้อย 9 คน หายตัวไประหว่างที่อยู่ในต่างประเทศ ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้มีประเด็นเกี่ยวกับอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐไทยที่จะสืบสวนและดำเนินคดีเอาตัวผู้กระทำความผิดมาขึ้นศาลไทย
 
โดยหลักการทั่วไปเมื่อเหตุการณ์ในคดีเกิดขึ้นที่ประเทศใดก็ต้องดำเนินคดีเอาผิดกับผู้กระทำความผิดในประเทศนั้น แต่หลักการนี้ก็มีข้อยกเว้นอยู่ตาม มาตรา 8 ของประมวลกฎหมายอาญาไทยซึ่งระบุถึงกรณีที่เกิดการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักรและสามารถนำคดีมาขึ้นศาลในไทยได้ ซึ่งมีลักษณะอยู่สองประการ
 
ประการแรก คือ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นคนไทย หากผู้เสียหายซึ่งเป็นคนไทยหรือรัฐบาลประเทศนั้นร้องขอ ก็สามารถที่จะนำความขึ้นพิจารณาในศาลไทยได้ 
 
ประการที่สอง คือ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นคนต่างชาติ และผู้เสียหายเป็นคนไทยหรือรัฐบาลไทยสามารถร้องขอให้นำคดีมาขึ้นสู่ศาลไทยได้ 
 
แต่ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่า ความผิดที่ได้ทำนอกราชอาณาจักรทุกฐานความผิดจะนำขึ้นสู่ศาลไทยได้ ต้องเป็นคดีตามที่มาตรา 8 ได้ระบุไว้เท่านั้นความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพฐาน "ข่มขืนใจผู้อื่น" ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309 นั้น ก็เป็นหนึ่งในฐานความผิดที่กฎหมายก็ได้ระบุให้นำคดีขึ้นสู่ศาลไทยได้ โดยมีข้อสังเกตว่า ความผิดดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเป็นความผิดตามกฎหมายต่างประเทศนั้นด้วย แม้เป็นความผิดตามกฎหมายไทยฝ่ายเดียวก็เพียงพอที่จะนำขึ้นพิจารณาคดีได้แล้ว 
 
อย่างไรก็ดี คดีความผิดที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร เมื่อจะดำเนินคดีในศาลไทย ผู้ที่จะต้องรับผิดชอบสอบสวนต้องเป็นอัยการสูงสุดตามที่มาตรา 20 ประมวลวิธีพิจารณาความอาญาของไทยได้ระบุเอาไว้ หรือจะมอบหมายให้พนักงานสอบสวนเป็นผู้รับผิดชอบโดยทำงานร่วมกับอัยการก็ได้ แต่คดีที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรตำรวจทั่วไปไม่มีอำนาจสอบสวนได้โดยลำพัง       
 
 

 

ประมวลกฎหมายอาญา

           มาตรา 5 บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้ (2) บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภรรยาเฉพาะแต่ในความผิดอาญา ซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้  
 
           มาตรา 8  ผู้ใดกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร
          (ก) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนไทย และรัฐบาลแห่งประเทศที่ความผิดได้เกิดขึ้น หรือผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ หรือ
          (ข) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนต่างด้าว และรัฐบาลไทยหรือคนไทยเป็นผู้เสียหาย และผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ
          ถ้าความผิดนั้นเป็นความผิดดังระบุไว้ต่อไปนี้ จะต้องรับโทษภายในราชอาณาจักร คือ
          (7) ความผิดต่อเสรีภาพ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 309 มาตรา 310 มาตรา 312 ถึงมาตรา 315 และมาตรา 317 ถึงมาตรา 320
 
 
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

           มาตรา 20 ถ้าความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทยได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทย ให้อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ หรือจะมอบหมายหน้าที่นั้น ให้พนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนคนใด เป็นผู้รับผิดชอบทำการสอบสวนแทนก็ได้
 

                                   

 
 
จากบรรทัดฐานศาลฎีกา ถ้าไม่แก้กฎหมายก็ยังดำเนินคดีใครไม่ได้
 
 
แม้ว่า มาตรา 8 ของประมวลกฎหมายอาญา เปิดช่องให้ดำเนินคดีกับคนชาติใดก็ตามที่กระทำผิดต่อคนไทยได้แม้การกระทำนั้นจะเกิดขึ้นนอกประเทศไทยก็ตาม แต่จะต้องมีองค์ประกอบสำคัญ คือ "ผู้เสียหาย" ต้องร้องขอ 
 
 
จากกรณีของวันเฉลิม มีลักษณะคล้ายกับกรณีของทนายสมชาย คือ มีข้อเท็จจริงเพียงว่า ผู้สูญหายถูกใช้กำลังบังคับเอาตัวไป แต่ไม่
ทราบชะตากรรมหลังจากนั้นและไม่พบศพ จึงยังไม่สามารถดำเนินคดีกับใครฐานฆ่าคนตายได้ หากมีการพบตัวผู้ต้องสงสัย ฐานความผิดที่สามารถนำมาใช้ได้ก็คือการข่มขืนใจผู้อื่น ตามมาตรา 309 เท่านั้น และจากบรรทัดฐานของศาลฎีกาในคดีอุ้มหายทนายสมชาย ความผิดฐานนี้ครอบครัวของผู้เสียหายไม่สามารถดำเนินคดีแทนผู้เสียหายได้ ต้องให้ผู้เสียหายมาดำเนินคดีเองเท่านั้น
 
 
เท่ากับว่า กรณีของวันเฉลิมจะดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดในประเทศไทยได้ ก็ต่อเมื่อตัววันเฉลิม มาเป็นผู้เสียหายและร้องขอให้ดำเนินคดีด้วยตัวเองเท่านั้น
 
 
ประเด็นนี้แสดงให้เห็นจุดอ่อนของกฎหมายไทยที่ยังไม่มีความผิดฐาน "อุ้มหาย" หรือการบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นการเฉพาะ และกฎหมายยังไม่เปิดช่องให้ครอบครัวของผู้ถูกบังคับให้สูญหายเข้ามามีฐานะเป็น "ผู้เสียหาย" เพื่อดำเนินคดีแทนตัวผู้ถูกบังคับให้สูญหายได้เช่นเดียวกับความผิดฐานฆ่าคนตาย เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ทำให้คดีการอุ้มหายที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรไม่สามารถเริ่มดำเนินคดีได้เลย เพราะไม่มีตัวผู้เสียหายมาร้องขอให้ดำเนินคดี 
 
 
จึงนำไปสู่ข้อเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายให้บัญญัติเรื่องความผิดฐาน "อุ้มหาย" ขึ้นเป็นการเฉพาะอย่างชัดเจน โดยการเสนอเป็นร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย 
 
 
อย่างไรก็ดี ระหว่างที่ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมาย ช่องทางที่เหลืออยู่ตามมาตรา 8 ที่จะเริ่มดำเนินคดีได้ คือ กรณีที่รัฐบาลของต่างประเทศร้องขอ ในกรณีของวันเฉลิม หากผู้เสียหายไม่สามารถมาริเริ่มดำเนินคดีเองได้ ก็ยังเหลือช่องทางหากรัฐบาลกัมพูชาเป็นผู้ร้องขอมายังรัฐบาลไทย การดำเนินคดีกับผู้ที่เอาตัววันเฉลิมไปก็ยังสามารถเกิดขึ้นในศาลไทยได้
 
 
กรณีนี้ยังต้องพิจารณาด้วยว่า ความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นเป็นความผิดที่ "ยอมความได้" ซึ่งมีอายุความ 3 เดือนนับตั้งแต่วันที่รู้ถึงการกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด หากทราบตัวผู้กระทำความผิดแล้วไม่มีผู้เสียหายมาร้องขอให้ดำเนินคดี หรือรัฐบาลกัมพูชาไม่ร้องขอให้ดำเนินคดีภายใน 3 เดือน ก็จะทำให้คดีขาดอายุความ