อ.ดร.พัชร์ นิยมศิลป
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรระหว่างวันที่ 25 มีนาคม 2563 – 30 เมษายน พ.ศ. 2563 ทำให้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ) เป็นกฎหมายหลักในการต่อกรกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมีการต่ออายุจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 การตกอยู่ภายใต้กฎหมายฉุกเฉินฉบับนี้เพื่อต่อกรกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดทำให้สิทธิเสรีภาพของพลเมืองหลายๆ ประการสูญหายไป ผู้เขียนจึงขอเชิญผู้อ่านร่วมพิจารณาว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นจำเป็นหรือไม่และทำไมเราจึงไม่ควรพึ่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการแก้วิกฤติโควิด-19
ประเด็นแรก การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจำเป็นหรือไม่
ก่อนที่จะไปพิจารณาถึงเหตุความจำเป็น เราควรทำความเข้าใจกับคำว่า “สถานการณ์ฉุกเฉิน” เสียก่อน
ตามหลักสากลภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ใจความสำคัญของคำว่า “สถานการณ์ฉุกเฉิน” อยู่ที่องค์ประกอบว่ามี “ภาวะที่คุกความความอยู่รอดของชาติ” หรือไม่ ประเทศไทยมีพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นภาคีเมื่อ 29 ตุลาคม 2539 ข้อ 4 ของ ICCPR อนุญาตให้รัฐภาคีสามารถยกเว้นสิทธิเสรีภาพบางอย่างที่ได้รับรองใน ICCPR ได้หากรัฐนั้นตกอยู่ในภาวะฉุกเฉินสาธารณะซึ่งคุกคามความอยู่รอดของชาติ และมาตรการเช่นว่านี้จะต้องไม่ขัดแย้งต่อพันธกรณีอื่นภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นการเลือกปฏิบัติเพียงเหตุแห่งเชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา หรือเผ่าพันทางสังคม
กล่าวสั้นๆ คือ เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้น รัฐภาคี ICCPR ก็สามารถยกเว้นสิทธิบางประการที่ได้รับรองตาม ICCPR ได้ เช่น เสรีภาพในการเดินทาง เสรีภาพในการชุมนุม เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
UN Commission on Human Rights ได้อธิบาย
“ภาวะที่คุกความความอยู่รอดของชาติ” ภายใต้ ข้อ 4 ของ ICCPR หมายถึงเหตุการณ์ที่เป็นภาวะคุกคามที่ไม่ปรกติและเป็นภัยที่ใกล้จะถึง (a situation of exceptional and actual or imminent danger which threatens the life of the nation) ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบ 2 ประการ คือ (1) เป็นภัยที่กระทบต่อประชาชนต่อประชาชนทั้งหมดในพื้นที่หนึ่งๆ และ (2) เป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของประชากร ต่อรัฐหรือต่อการทำหน้าที่ของสถาบันหลักที่ปกป้องสิทธิที่ได้รับรองภายใต้ ICCPR
ทั้งนี้หลังจากเกิดการระบาดของโรคโควิด 19 และประเทศต่างๆ ได้มีแนวโน้มที่จะใช้มาตรการฉุกเฉินเพื่อควบคุมโรคระบาด สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Office of the High Commissioner for Human Rights – OHCHR) ได้ออกมาแสดงความกังวลว่า รัฐบาลหลายๆ ประเทศมีแนวโน้มที่จะใช้กฎหมายฉุกเฉินโดยไม่คำนึงถึงพันธกรณีภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ OHCHR
จึงวางแนวปฏิบัติเกี่ยวกับมาตรการฉุกเฉินกรณี Covid19 โดยเน้นย้ำว่า การใช้อำนาจฉุกเฉินนั้นจะต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายใต้กรอบของ ICCPR การใช้อำนาจฉุกเฉินนั้นจะต้องมีกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนและมีจุดประสงค์เพี่อทำให้สถานการณ์กลับมาเป็นปรกติให้เร็วที่สุด
แม้ว่าเสรีภาพบางประการ เช่น เสรีภาพในการเดินทาง เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุม สามารถถูกจำกัดได้ด้วยเหตุผลทางสาธารณสุข กระนั้น การจำกัดเสรีภาพเหล่านี้จะต้องสอดคลองกับหลักการพื้นฐาน ได้แก่ หลักความชอบด้วยกฎหมาย (Legality) หลักความจำเป็น (Necessity) หลักความได้สัดส่วน (Proportionality) หลักการไม่เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม (Non-discrimination) หลักความเสมอภาคภายใต้กฎหมาย (Non-arbitrary manner) และหลักการให้เหตุผลเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ (The authorities have the burden to justifying restrictions upon rights)
แถลงการณ์ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ยังย้ำอีกด้วยว่า มาตรการตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น จะต้องใช้ภายใต้จุดประสงค์ในการควบคุมการระบาดโควิดเท่านั้น รัฐไม่ควรใช้อำนาจฉุกเฉินในการจัดการกับผู้ที่เห็นต่าง และเมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว มาตรการต่างๆ เหล่านี้ก็ต้องตกอยู่ภายใต้การตรวจสอบจากรัฐสภาเป็นระยะๆ และข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจะต้องสามารถเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบโดยฝ่ายตุลาการได้ ดังนั้นในฐานะที่ประเทศไทยเป็นภาคี ICCPR รัฐบาลก็มีพันธกรณีระหว่างประเทศที่จะต้องเคารพหลักการเหล่านี้ด้วย พอมาพิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทย เราก็จะเห็นได้ว่า หลังจากมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งนี้ เราตกอยู่ในสภาพ “ถูกกฎหมายแต่ผิดหลักการ”
ผู้เขียนเห็นว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในวันที่ 25 มีนาคม และการต่ออายุในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2563 นั้น ไม่มีความจำเป็น เพราะบรรดากฎหมายที่มีอยู่ในขณะนั้นก็เพียงพอแล้วที่จะแก้ไขสถานการณ์ได้ และพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ใช้กับการจัดการโรคระบาดเป็นการเฉพาะ
หากพลิกดู
หมายเหตุท้ายกฎหมายของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะพบว่า เจตนารมณ์ของการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือ ให้รัฐมีเครื่องมือพิเศษในการรักษาความมั่นคงของรัฐและป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะในกรณีที่ไม่อาจแก้ไขปัญหาด้วยการบริหารราชการในรูปแบบปรกติได้ อย่างไรก็ดีผู้เขียนเห็นว่า รัฐบาลยังสามารถบริหารราชการเพี่อแก้ไขปัญหาวิกฤติโควิด 19 ในรูปแบบปรกติได้และพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็เป็นยาแรงที่ไม่ได้ตอบโจทย์ความท้าทายที่เกิดขึ้น
เมื่อพิจารณาเฉพาะเหตุผลที่ปรากฎในประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 จะพบว่า รัฐบาลให้เหตุผลในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหลัก ๆ เพียงสองประการ คือ
(1) การระบาดของโรคโควิดเป็นการระบาดใหญ่ ที่ไม่มีวัคซีนและไม่มียารักษาโดยตรง
(2) มีการกักตุนสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภค
ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลมักอ้างบ่อยครั้งว่า ไม่มีเครื่องมือในการจัดการวิกฤติโควิด จึงต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มา
บูรณาการณ์ โยกกฎหมาย 40 ฉบับ ที่เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ
มาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว ในความเป็นจริง หากไม่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ผู้เขียนก็เห็นว่า รัฐบาลก็สามารถใช้กฎหมายทั่วไปจัดการปัญหาโควิด 19 ได้ เช่น การตั้งคณะทำงานแบบบูรณาการนั้น นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลก็มีอำนาจทั่วไปตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (มาตรา 11) ในการบังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายบริหารทุกตำแหน่งอยู่แล้ว ดังนั้น นายกรัฐมนตรีก็สามารถตั้งคณะทำงานแบบบูรณาการ และใช้อำนาจตามมาตรา 11 นี้ยับยั้งการปฎิบัติราชการใดๆ ที่ขัดต่อนโยบายหรือมติของคณะรัฐมนตรีได้โดยไม่ต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และริบอำนาจรัฐมนตรีประจำกระทรวงแต่อย่างใด การตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ก็เป็นการใช้อำนาจในลักษณะนี้
ส่วนปัญหาเรื่องการกักตุนสินค้าและเวชภัณฑ์ รัฐบาลก็สามารถใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.สำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการในการแก้ไขปัญหาได้ สำหรับมาตรการในการควบคุมโรคโควิด 19 นั้น พ.ร.บ.โรคติดต่อ ก็ให้อำนาจเจ้าพนักงานควบคุมโรค สั่งห้ามออกนอกพื้นที่(เป็นรายกรณี) แยกกัก กักกัน หรือคุมตัวไว้สังเกตอาการ ณ สถานที่ที่กำหนด ปิดสถานที่เสี่ยง (มาตรา 35) ห้ามการเดินทาง และกักตัวผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ(มาตรา 39-40) นอกจากนั้น มาตรา 34(6) ยังให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคมีดุลยพินิจอย่างกว้างในการสั่งห้ามไม่ให้ผู้ใดกระทำการใดๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดแพร่ออกไป
สิ่งที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้อำนาจเป็นพิเศษที่ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ไม่ได้ให้ คือ “การประกาศเคอร์ฟิว” โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งเพราะไวรัสโควิดไม่ได้หยุดระบาดยามวิกาลและเคอร์ฟิวก็ไม่ใช่การล็อกดาวน์ 24 ชม. ผู้เขียนจึงเห็นว่า หากรัฐบาลบริหารราชการให้มีประสิทธิภาพ ลำพังกฎหมายที่สาธยายมานี้ก็เพียงพอแล้วจะที่แก้ไขการระบาดโควิด-19 ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่อย่างใด
หากพิจารณาในอีกมุมหนึ่ง สมมติว่า ข้อเท็จจริงปรากฎว่ากฎหมายที่มีอยู่มันไม่พอหรือกฎหมายที่มีอยู่ขัดกันจนก่อให้เกิดอุปสรรคในทางปฏิบัติจริงๆ การออกกฎหมายใหม่มาเป็นการเฉพาะเพื่อต่อกรกับโควิดนั้นก็อยู่ในวิสัยที่สามารถทำได้ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศฝรั่งเศส
ผ่านรัฐบัญญัติสร้างระบบกฎหมาย “สถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุข” ขึ้นมาเป็นการเฉพาะแยกออกจากสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกี่ยวกับความมั่นคงทางทหาร หลักคิดก็คือ วิธีแก้ปัญหาแบบความมั่นคงทางทหารนั้นไม่ตอบโจทย์ความท้าทายที่มาจากปัญหาความมั่นคงทางสาธารณสุข เช่น แทนที่จะใช้เคอร์ฟิวห้ามออกจากบ้านยามวิกาลแบบเหมาโหล ก็ใช้การกักตัวที่มีการสร้างข้อยกเว้น เช่น การเดินทางเพื่อไปทำงานในภารกิจที่จำเป็นไม่อาจเลี่ยงได้ อาทิ การเดินทางเพื่อไปซื้อของใช้จำเป็นในการดำรงชีพ การเดินทางด้วยเหตุผลทางการแพทย์ การเดินทางด้วยเหตุผลทางครอบครัวที่สำคัญ การดูแลผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ หรือ การดูแลเด็ก หรือ การออกกำลังกาย ในระยะทางที่ไม่ห่างจากตัวบ้านเกินกว่า 1 กิโลเมตร ภายในระยะเวลา 1 ชั่วโมง เป็นต้น
หากมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องการกฎหมายใหม่ ผู้เขียนก็เห็นว่ารัฐบาลสามารถใช้กลไกรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 ในการออกพระราชกำหนด เป็นกฎหมายมาจัดการกับปัญหาโควิดเป็นการเฉพาะได้ เพราะเงื่อนไขในการออกพระราชกำหนด คือ คณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ การออกพระราชกำหนดเป็นการเปิดช่องให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถเข้ามาตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายและเปิดช่องให้รัฐสภาสามารถเข้ามาตรวจสอบความเหมาะสมของมาตรการโควิดได้ในภายหลัง เพราะรัฐบาลมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญต้องนำพระราชกำหนดที่ประกาศใช้เข้าสู่การพิจารณาโดยรัฐสภาในวาระแรกที่สามารถทำได้
ประเด็นที่สอง เพราะเหตุใดเราจึงไม่ควรใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แก้ปัญหาโควิด 19 ?
ผู้เขียนเห็นว่า การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการแก้ปัญหาโควิด-19 เป็นการใช้ยาแรงที่ไม่ตรงกับโรค รัฐบาลไม่ควรใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ด้วยเหตุผลสองประการ คือ (1) พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ควบคุมโรคระบาด และ (2) พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขาดการตรวจสอบการใช้อำนาจอย่างมีประสิทธิภาพ
ประการแรก ที่ผู้เขียนเห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ควบคุมโรคระบาด ก็เนื่องจากเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้ มุ่งแก้ปัญหาความมั่นคงทางทหารที่เกิดขึ้นจากการก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยนิยามของ “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ภายใต้กฎหมายนี้ หมายความว่า
“สถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรืออาจทำให้ประเทศหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขันหรือมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา การรบหรือสงคราม ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขต ผลประโยชน์ของชาติ การปฏิบัติตามกฎหมาย ความปลอดภัยของประชาชน การดำรงชีวิตโดยปรกติสุขของประชาชน การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ความสงบเรียบร้อยหรือประโยชน์ส่วนรวม หรือการป้องปัดหรือแก้ไขเยียวยาความเสียหายเกิดจากภัยพิบัติสาธารณะอันมีมาอย่างฉุกเฉินและร้ายแรง”
ภายใต้นิยามอันยืดยาวนี้ จะสังเกตได้ว่า น้ำหนักของสถานการณ์ฉุกเฉินจะเน้นไปทางความมั่นคงทางทหารมากกว่าที่จะอรรถาธิบายการแก้ไขเยียวยาภัยพิบัติสาธารณะ
โครงสร้างของคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (ตามมาตรา 6) ที่ทำหน้าที่ติดตามและตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อเสนอแนะมาตรการที่เหมาะสมในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินต่อนายกรัฐมนตรี เน้นไปที่หัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางทหาร เช่น ผู้บัญชาการเหล่าทัพต่างๆ ผู้บัญชาการตำรวจ รัฐมนตรีและปลัดจากกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการต่างประเทศ ฯลฯ กระนั้น ไม่ปรากฏว่ามีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและปลัดกระทรวงเป็นกรรมการในคณะกรรมการดังกล่าว ในทัศนะของผู้เขียน กฎหมายที่มีเจตนารมณ์และออกแบบมาเป็นการเฉพาะในการควบคุมโรคระบาด คือ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ซึ่งมี “คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ” ซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานและมีกรรมการซี่งมีความรู้ทางการแพทย์และมีความเชี่ยวชาญในการควบคุมโรคติดต่อ นอกจากนั้นยังมี “คณะกรรมการด้านวิชาการ” ซึ่งแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ด้านโรคติดต่อ ทำหน้าที่ให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อีกทั้งยังมี “คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด” และ “คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร” ควบคุมการระบาดในพื้นที่รับผิดชอบของตน
ดังนั้น มาตรการในการต่อกรกับไวรัสโควิด จะสอดคล้องกับปัญหาที่อยู่หน้างาน ไม่ใช่การใช้มาตรการเหมาเข่งแก้ปัญหาในแบบเดียวกันหมดทั้งประเทศ
ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดอีกประการหนึ่งระหว่างการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับ การบังคับใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้นจะให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เช่น ทหาร ตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเป็นแกนหลัก แต่ พ.ร.บ.โรคติดต่อ จะมีเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อเป็นแกนหลัก ซึ่งตามประการคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ พ.ศ. 2559 กำหนดให้ผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อได้
จะต้องผ่านการฝึกอบรมในหลักสูตรระบาดวิทยา หรือการเฝ้าระวัง การป้องกันหรือการควบคุมโรคติดต่อที่กรมควบคุมโรครับรอง อาทิ (1) วุฒิบัตรหรืออนุมัติบัตรเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงระบาดวิทยา (2) หลักสูตรระบาดวิทยาภาคสนาม (Field Epidemiology Training Program (FETP)) (3) หลักสูตรระบาดวิทยาภาคสนาม สำหรับแพทย์หัวหน้าทีมและผู้สอบสวนหลัก (4) หลักสูตรระบาดวิทยาและการจัดการทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว สำหรับแพทย์หัวหน้าทีมและผู้สอบสวนหลัก (Field Epidemiology and Management Training (FEMT)) (5) หลักสูตรนักวิชาการสาธารณสุข ด้านระบาดวิทยาภาคสนาม
ดังนี้ หากพิจารณาในแง่ของความรู้ความสามารถของเจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่ควบคุมโรคโควิด-19 แล้วนั้น การให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเป็นแกนหลักในการบังคับใช้มาตรการป้องกันโควิดนับว่าเป็นการใช้คนไม่ถูกกับงานและเป็นการใช้กฎหมายแบบผิดฝาผิดตัวเป็นอย่างยิ่ง
ประการที่สอง ผู้เขียนเห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขาดการตรวจสอบการใช้อำนาจอย่างมีประสิทธิภาพ กฎหมายฉบับนี้เป็นยาแรงที่ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐมากโดยขาดมาตรการการตรวจสอบการใช้อำนาจอย่างเพียงพอ เริ่มตั้งแต่การตรวจสอบว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นเหมาะสมหรือไม่ และ สถานการ์ที่เกิดขึ้นเป็น “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือไม่ กฎหมายฉบับนี้ให้ดุลยพินิจแก่นายกรัฐมนตรีในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แล้วจึงให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบภายในสามวัน (มาตรา 5) ในอดีตเราจึงเห็นว่ามีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมหรือป้องปรามการชุมนุมประท้วงทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง หากไม่นับเหตุการณ์การก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว การชุมนุมทางการเมืองก็เป็นสาเหตุหลักนำสู่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน [1]
การตรวจสอบว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินว่าเหมาะสมหรือไม่นั้น ในทางทฤษฎีควรตรวจสอบได้จากองค์กรที่เป็นอิสระจากฝ่ายปกครอง เช่น องค์กรอิสระ รัฐสภา และศาล แต่ในทางปฏิบัติเมื่อพิจารณาดุลอำนาจทางการเมืองภายใต้บริบทของรัฐธรรมนูญ 2560 แล้ว ผู้เขียนยังไม่เห็นว่าองค์กรใดจะมีบทบาทหรือทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของพลเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อนึ่งผู้เขียนเห็นว่าการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับเหตุที่ไม่ได้ฉุกเฉินรังแต่จะก่อให้เกิดการดื้อยา ดังเช่น การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับปัญหาการก่อความไม่สงบในสามจังหวัดภาคใต้ ที่ขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ไปมากกว่า 56 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งทุกวันนี้ฝ่ายความมั่นคงก็ยังเห็นว่าความไม่สงบนั้นเป็น “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ที่ยังดำรงอยู่ หากเทียบเคียงกับปัญหาโควิด-19 ก็มีความเป็นไปได้ว่าวิกฤติโควิดครั้งนี้ก็อาจนำสู่ภาวะการดื้อยาได้เช่นเดียวกัน
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังยกเว้น พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ซึ่งเป็นการยกเว้นหลักกฎหมายปกครองซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของระบบกฎหมายมหาชนกับมาตรการที่อาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ผู้เขียนไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงว่า เพราะเหตุใด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถึงยกเว้นระบบกฎหมายปกครองและศาลปกครองทั้งๆ ที่ หากพิจารณาทั้งทางรูปแบบและทางเนื้อหาก็จะเห็นได้ว่า มาตรการต่างๆ ภายใต้กฎหมายฉบับนี้เป็นเรื่องตำรวจทางปกครองไม่ใช่เป็นเรื่องตำรวจทางยุติธรรม การออกคำสั่งห้ามออกนอกเคหสถาน ห้ามชุมนุม ห้ามการเสนอข่าว ห้ามใช้เส้นทางคมนาคม การสั่งให้อพยพ มาตรการเหล่านี้เป็นการใช้อำนาจออกกฎและคำสั่งทางปกครองซึ่งควรที่จะได้รับการตรวจสอบ (judicial review) โดยศาลปกครอง
การตัดเขตอำนาจศาลปกครองส่งผลให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการที่อาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เสียเปรียบฝ่ายรัฐเมื่อนำคดีขึ้นสู่ศาล เช่น ผู้ที่สามารถฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมจะต้องเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแทนที่จะเป็นผู้เสียหายหรืออาจได้รับความเสียหายตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ
การฟ้องคดีต่อศาลปกครองนั้นชาวบ้านทำได้ง่ายกว่าและมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าฟ้องเป็นคดีในศาลยุติธรรม การดำเนินคดีในศาลปกครองนั้นไม่จำเป็นต้องจ้างทนายความ อีกทั้งยังมีพนักงานคดีปกครองให้คำแนะนำในการฟ้องคดี ศาลปกครองมีเพียง 2 ชั้นศาล ในขณะที่ศาลยุติธรรมมี 3 ชั้นศาล ในส่วนของระบบการพิจารณาคดีนั้น ศาลปกครองใช้ระบบไต่สวน ทำให้ศาลปกครองสามารถเรียกข้อมูล เอกสารที่อยู่ในฝ่ายปกครองได้เอง ไม่เป็นภาระของผู้ฟ้องคดีในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่หลักฐานอยู่ในมือเจ้าหน้าที่รัฐ ในแง่ของความเชี่ยวชาญนั้น ตุลาการศาลปกครองมีความเชี่ยวชาญหลักกฎหมายมหาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง กฎ และคำสั่งทางปกครอง มากกว่าศาลยุติธรรม ที่สำคัญที่สุดคือ ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมมีแนวโน้มที่จะเห็นว่าการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. เป็นดุลยพินิจโดยแท้ของรัฐบาลและปฏิเสธการตรวจสอบการใช้ดุลยพินิจนั้นว่าต้องตามหลักความจำเป็นและหลักความได้สัดส่วนหรือไม่
อุทาหรณ์ก็มีปรากฏแล้ว เช่น กรณีอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล คนไทยที่พำนักอยู่ ณ ไอร์แลนด์ ฟ้องขอให้เพิกถอนประกาศของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (ก.พ.ท.) ที่กำหนดให้ผู้โดยสารสัญชาติไทยประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทยในช่วงโควิด-19 ระบาด จะต้องมีใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่ามีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทางทางอากาศ (Fit to fly certificate) หากไม่มีการยืนยันก็จะทำให้ถูกปฏิเสธการขึ้นเครื่องได้
ศาลปกครองกลางพิพากษาไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาด้วยเหตุผลว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 16 ตัดอำนาจศาลปกครองที่จะพิจารณากรณีนี้ ในขณะที่ศาลแพ่งเห็นว่ากรณีดังกล่าวไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์เพราะเป็นมาตรการที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย (พ.รก.ฉุกเฉิน) และไม่ได้ทำหน้าที่ในการตรวจสอบมาตรการดังกล่าวตามหลักความจำเป็นและหลักความได้สัดส่วนตามหลักสากล
กล่าวรวบยอด สาเหตุที่รัฐบาลไม่ควรใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 เพราะว่า กฎหมายนี้เปิดช่องให้มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนมากเกินไป พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้จัดการปัญหาและความท้าทายที่เกิดจากไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมารัฐบาลก็ไม่ได้ให้เหตุผลอย่างมีน้ำหนักว่า มาตรการต่างๆ ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้นมีความจำเป็นอย่างไรและสอดคล้องกับหลักความจำเป็นและหลักความได้สัดส่วนภายใต้มาตรฐานสากลอย่างไร ซ้ำร้ายยังขาดการตรวจสอบการใช้อำนาจจากองค์กรอื่นที่เป็นอิสระ ตราบเท่าที่ยังไม่วัคซีนหรือยารักษาเป็นการเฉพาะ ปัญหาโควิด-19 ก็มีแนวโน้มที่จะอยู่กับเราไปอีกนาน
หากรัฐบาลเห็นว่า “สถานการณ์ฉุกเฉิน” นั้นดำรงอยู่ต่อไปเรื่อยๆ เมื่อใดที่ประชาชนอดรนทนไม่ไหว ถ้าไม่โชคดีว่า เป็นการประท้วงโดยสันติ ก็เป็นการก่อจลาจล ปล้นสะดม ก่อความวุ่นวาย เหมือนที่สหรัฐอเมริกาเผชิญอยู่ในขณะนี้ และเมื่อนั้น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็คงได้ทำหน้าที่ของมันตามเจตนารมณ์ที่แท้จริง
อ้างอิง
[1] สราวุธ ทับทอง. รัฐไทยกับการใช้อำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉิน : ศึกษากรณีการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในช่วง พ.ศ. 2552 – 2553. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คณะรัฐศาสตร์, 2557.