
หลังจากการหายตัวของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมชาวไทยในประเทศกัมพูชา ผู้คนจากหลายภาคส่วนต่างเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและกัมพูชาเร่งสืบสวนติดตามหาตัววันเฉลิม หาสาเหตุ และหาตัวผู้กระทำความผิด แต่ระหว่างที่เรื่องของ “คนหาย” ยังไม่ได้รับความยุติธรรม ในทางตรงกันข้ามคนที่ออกมาเรียกร้องกลับถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมอย่างน้อย 14 คนแล้ว
วันที่ 8 มิถุนายน 2563 สมาชิกจากคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) 4 คน เดินทางไปยื่นหนังสือที่หน้าสถานทูตกัมพูชา เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเร่งติตามการหายตัวของวันเฉลิม โดยไม่มีแม้แต่คนออกมารับหนังสือ แต่หลังจากนั้นตำรวจ สน.วังทองหลางออกหมายเรียกทั้งสี่คนให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาฐานชุมนุม ทำกิจกรรม ในลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ขณะที่ไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศเกินกว่าหนึ่งเดือนแล้ว และกฎหมายในระบบปกติที่จะใช้ควบคุมโรคติดต่อก็มีอยู่เพียงพอ แต่รัฐบาลที่ไม่ตามหาตัวคนหายยังคงเดินหน้าต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พร้อมกับใช้ข้ออ้างเรื่องโรคโควิดปิดกั้นการแสดงออกของประชาชน
วันที่ 9 กรกฎาคม 2563 เป็นกำหนดนัดที่ผู้ต้องหาสี่คนจะต้องไปรายงานตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.วังทองหลาง แต่ไม่เพียงแค่นั้น ผู้ต้องหาทั้งสี่ ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะเป็นโจทก์ยื่นฟ้องพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และควบคุมโรคระบาดด้วยกฎหมายปกติ ที่การใช้อำนาจถูกตรวจสอบถ่วงดุลได้
กำหนดการกิจกรรมในวันที่ 9 กรกฎาคม 2563
09.30 น. นัดเจอกันที่ MRT ลาดพร้าว เพื่อจัดขบวนเดินเท้าไปยื่นคำฟ้องต่อศาลแพ่ง
10.00 น. เดินทางถึงศาลแพ่ง ยื่นคำฟ้องยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
10.40 น. ยื่นฟ้องเสร็จ เตรียมขบวนรถแห่เพื่อเดินทางไปยัง สน. วังทองหลาง
11.30 น. เดินทางถึง สน. วังทองหลาง ทำกิจกรรมหน้า สน. ทวงถามความยุติธรรมให้วันเฉลิม
12.30 น. รับประทานอาหารกลางวัน
13.00 น. ร่วมให้กำลังใจ ผู้ต้องหาสี่คนรับทราบข้อกล่าวหาพร้อมทนายความ