กองทัพไม่โปร่งใสเพราะกฎหมายไม่เอื้อให้ตรวจสอบ

กองทัพไม่โปร่งใสเพราะกฎหมายไม่เอื้อให้ตรวจสอบ

เมื่อ 9 ก.ค. 2563
 
 
 
กองทัพไทยกลายเป็นหน่วยงานที่ถูกตั้งแง่เรื่อง “ความโปร่งใส” มาโดยตลอด ทั้งจากเรื่องเงินงบประมาณที่ได้รับเพิ่มขึ้นแทบทุกปี หรือ กรณีการเกณฑ์ทหารเพื่อนำคนไปรับใช้ส่วนตัว หรือ กระบวนการฝึกที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน อาทิ ‘การซ่อม’ หรือ ‘ธำรงวินัย’ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บสาหัส หรือจะเป็นเรื่องกิจการพาณิชย์ภายในกองทัพที่นำไปสู่เหตุการณ์กราดยิงสุดสะเทือนขวัญที่จังหวัดนครราชสีมา
 
แม้ว่าผู้นำเหล่าทัพ อาทิ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) จะพยายามแก้ปัญหาการทุจริตในกองทัพ ผ่านสิ่งที่เรียกว่า “สายตรง ผบ.ทบ.” แต่ก็ไม่วายเกิดปัญหาอีกครั้ง จากกรณี “หมู่อาร์ม” หรือ ส.อ.ณรงค์ชัย อินทรกวี ที่ออกมา เปิดโปงการทุจริตภายในกองทัพแต่กลับต้องถูกลงโทษทางวินัยและถูกให้ออกจากราชการ ซึ่งจากกรณีดังกล่าว ได้สะท้อนให้เห็นว่ากลไกและกฎหมายภายในกองทัพเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้กองทัพไทยเป็นหน่วยงานที่ขาดความโปร่งใส-ตรวจสอบไม่ได้
 
 
 
หมู่อาร์ม ผู้เปิดโปงการทุจริตแต่ถูกปิดปากด้วยกฎหมายวินัยทหาร
 
 
 
ส.อ.ณรงค์ชัย อินทรกวี หรือ “หมู่อาร์ม” เข้ารับราชการตั้งแต่ปี 2554 มีตำแหน่งล่าสุดคือ ‘เสมียนงบประมาณ’ แผนกโครงการและงบประมาณ กองแผนและโครงการ ศูนย์ซ่อมสร้างสิ่งอุปกรณ์ กรมสรรพาวุธทหารบก 
 
หมู่อาร์ม เปิดเผยว่า ได้ร้องเรียนกระบวนการทุจริตภายในกองทัพ เริ่มตั้งแต่ปี 2554 ปี 2555 ปี 2560 และปี 2562 โดยลักษณะการทุจริตคือให้ หมู่อาร์มลงชื่อในเอกสารโครงการต่างๆ เพื่อเบิกเบี้ยเลี้ยง เบิกค่าเดินทางโดยที่ไม่ได้มีการเดินทางหรือโครงการที่ปรากฏในเอกสารเกิดขึ้นจริง
 
5 กันยายน 2562 หมู่อาร์มตัดสินใจยื่นเรื่องร้องเรียนกับผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้ตรวจสอบการทุจริตภายในศูนย์ซ่อมสร้างสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก โดยหมู่อาร์ม เปิดเผยว่า เหตุที่เลือกร้องเรียนกับองค์กรภายนอกเพราะไม่มีเชื่อมั่นในการตรวจภายในกองทัพ แต่หลังจากผู้ตรวจการแผ่นดินทำเรื่องกลับมายังหน่วยงานที่ถูกกล่าวหา หมู่อาร์ม เปิดเผยว่า เขาถูกกลั่นแกล้งและมีข้อพิพาทกับผู้บังคับบัญชาจนมีการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยทหารฐาน ‘ไม่เชื่อฟังผู้บังคับบัญชา’ และตามมาด้วยคำสั่งลงโทษจำขังเป็นเวลา 7 วัน เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ. 2476 (พ.ร.บ. วินัยทหาร)
 
ต่อมา หมู่อาร์มได้ตัดสินใจร้องเรียนไปยัง “สายตรง ผบ.ทบ.” พร้อมแจ้งเหตุการณ์แก่ผู้รับเรื่องร้องเรียน ว่าได้ร้องเรียนเรื่องทุจริตและกำลังถูกกลั่นแกล้งสั่งจำขัง และในวันเดียวกัน หมู่อาร์มได้รับโทรศัพท์จากหัวหน้าแผนก เพื่อให้ไปทำการ ‘ขอขมา’ ผู้บังคับบัญชา
 
ทั้งนี้ หมู่อาร์มเปิดเผยว่า มีการข่มขู่ว่ามีความเสี่ยงถึงชีวิต จนหมู่อาร์มตัดสินใจหนีออกมา และไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  (ป.ป.ช.) เรื่องการทุจริตในกองทัพและขอให้สั่งคุ้มครองพยานตามกลไกที่กฎหมายได้กำหนดไว้
 
 
 
พ.ร.บ.วินัยทหาร เปิดช่องทหารชั้นผู้ใหญ่แกล้งชั้นผู้น้อยได้กว้างขวาง
 
 
 
 
 
 
พ.ร.บ. วินัยทหาร เป็นกฎหมายซึ่งบังคับใช้มาแล้วกว่า 87 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อควบคุมให้นายทหารทุกคนเป็นระเบียบตามสายบังคับบัญชา โดยในหมวดสองที่ว่าด้วยวินัยทหาร ได้บัญญัติว่า ทหารต้องประพฤติตามแบบธรรมเนียมของทหาร และวินัยเป็นหลักสำคัญที่สุดสำหรับทหาร เพราะฉะนั้นทหารทุกคนจะต้องรักษาวินัยโดยเคร่งครัดอยู่เสมอ ผู้ใดฝ่าฝืนถือว่าผู้นั้นกระทำผิด และยังได้กำหนดตัวอย่างของกรณีที่เป็นการผิดวินัยทหารไว้ดังต่อไปนี้ 
 
 
 
1) ดื้อ ขัดขืน หลีกเลี่ยง หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเหนือตน
2) ไม่รักษาระเบียบการเคารพระหว่างผู้ใหญ่ผู้น้อย
3) ไม่รักษามรรยาทให้ถูกต้องตามแบบธรรมเนียมของทหาร
4) ก่อให้แตกความสามัคคีในคณะทหาร
5) เกียจคร้าน ละทิ้ง หรือเลินเล่อต่อหน้าที่ราชการ
6) กล่าวคำเท็จ
7) ใช้กิริยาวาจาไม่สมควร หรือประพฤติไม่สมควร
8) ไม่ตักเตือนสั่งสอน หรือลงทัณฑ์ผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำผิดตามโทษานุโทษ
9) เสพเครื่องดองของเมาจนถึงเสียกิริยา
 
 
 
จากตัวอย่างดังกล่าว มีข้อสังเกตว่าวินัยทหารบางประการใช้ถ้อยคำที่ค่อนข้างเป็นนามธรรม ไม่ปรากฏคำนิยามอื่นในกฎหมาย ไม่มีการขยายความเพิ่มเติมในรายละเอียด เช่น ดื้อ ขัดขืน ใช้กิริยาวาจาไม่สมควร ประพฤติไม่สมควร ละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเหนือตน ไม่รักษาระเบียบการเคารพระหว่างผู้ใหญ่ผู้น้อย การตีความว่าการกระทำใดเป็นการผิดวินัยจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวผู้กระทำผิด แต่ขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจลงโทษผู้ใต้บังคับบัญชา
 
 
 
 
 
 
แม้ว่าบทลงโทษตาม พ.ร.บ.วินัยทหาร จะวางกรอบเอาไว้เพียงห้าสถาน ได้แก่ หนึ่ง ภาคทัณฑ์ หรือ ทำทัณฑ์บนไว้ สอง ทัณฑกรรม เช่น ให้กระทำการสุขา การโยธา สาม กัน หรือ กักตัวไว้ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งตามแต่จะกำหนดให้ สี่ ขัง หรือ ขังในที่ควบคุมแต่เฉพาะคนเดียวหรือรวมกันหลายคน ห้า จำขัง หรือ ขังโดยส่งไปฝากให้อยู่ในความควบคุมของเรือนจำทหาร แต่ พ.ร.บ.วินัยทหาร ก็อนุญาตให้ผู้บังคับบัญชามีอำนาจในการ ‘ใช้อาวุธ’ เพื่อปราบปรามทหารผู้ก่อการกำเริบหรือบังคับทหารผู้ละทิ้งหน้าที่ให้กลับมาทำหน้าที่ โดยที่ผู้บังคับบัญชาหรือผู้ที่ช่วยเหลือในการใช้อาวุธลงโทษไม่ต้องรับโทษ อีกทั้ง ยังกำหนดให้การกระทำผิดต่อวินัยทหารเป็นเหตุให้สั่งถูกปลดจากประจำการ หรือถูกถอดจากยศทหาร ได้อีกด้วย
 
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาถึงอาชีพอื่นที่มีลักษณะการทำงานที่ต้องรักษาวินัยและปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาอย่างข้าราชการตำรวจ แม้ในพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 จะกำหนดให้ผู้บังคับบัญชาสามารถใช้อาวุธหรือ ‘กำลังบังคับ’ เพื่อประโยชน์ในการรักษาวินัยและปราบปรามตำรวจผู้กำเริบหรือบังคับตำรวจให้กลับมาทำหน้าที่แต่ก็มีเงื่อนไขว่าผู้บังคับบัญชาหรือผู้ช่วยเหลือจะไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญาถ้าทำไปโดย ‘สุจริตตามสมควรแก่เหตุ’ 
 
กล่าวคือ ผู้บังคับบัญชาต้องไม่มีเจตนาอื่นแอบแฝง มีเจตนาทำไปตามวัตถุประสงค์ที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น และตามสมควรแก่เหตุ ต้องไม่ลงโทษร้ายแรงเกินไปเมื่อเทียบกับลักษณะการกระทำของผู้ใต้บังคับบัญชา เช่น หากผู้บังคับบัญชาลงโทษหนักเกินสมควร กระทบต่อเนื้อตัวร่างกายหรือชีวิตของผู้ใต้บังคับบัญชา  ผู้บังคับบัญชาหรือผู้ช่วยเหลือก็ยังต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา ซึ่งต่างจากกรณีของทหารที่ไม่ได้กำหนดในรายละเอียดเช่นนี้ไว้
 
 
 
ทหารชั้นผู้น้อยร้องเรียนได้ แต่ต้องฝ่าด่าน "สารพัดข้อห้าม"
 
 
 
 
 
 
เพื่อป้องกันการใช้อำนาจบาตรใหญ่ของผู้บังคับบัญชา พ.ร.บ.วินัยทหาร ก็ได้กำหนดช่องทางการร้องทุกข์ไว้เป็นการเฉพาะ โดยได้นิยามการ “ร้องทุกข์” คือ คำชี้แจงของทหารว่าผู้บังคับบัญชากระทำแก่ตนด้วยการอันไม่เป็นยุติธรรม หรือผิดกฎหมาย หรือแบบธรรมเนียมทหารว่า ตนมิได้รับผลประโยชน์หรือสิทธิตามที่ควรจะได้รับในราชการนั้น
 
แม้คำนิยามจะดูสวยหรู แต่การร้องทุกข์ของทหารนั้นกลับเต็มไปด้วย ‘ข้อห้าม’ โดยอาจพิจารณารายละเอียดการร้องทุกข์ตามกระบวนการภายในกองทัพได้จากสิ่งที่ทำได้และต้องทำ และสิ่งที่ห้ามทำ ดังนี้
 
สิ่งที่ทำได้และต้องทำ ได้แก่ ทหารร้องทุกข์ได้แต่สำหรับตนเองเท่านั้น หากจะกล่าวโทษผู้ใดให้ร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาโดยตรงของตน หรือหากไม่ทราบชัดว่า ตนได้รับความเดือดร้อนเพราะผู้ใดแน่ ก็ให้ร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาโดยตรงของตน เพื่อเสนอไปตามสายบังคับบัญชาจนถึงที่สุด วิธีการร้องทุกข์ จะทำโดยวาจาหรือจะเขียนเป็นจดหมายก็ได้ และไม่ว่าวิธีใดก็ต้องมีการ ‘ลงลายมือชื่อ’ ของผู้ร้องเรียน ซึ่งนั่นหมายความว่าผู้ร้องเรียนไม่สามารถปฏิเสธการระบุตัวตนหรือร้องเรียนโดย ‘นิรนาม’ ได้เลย
 
สิ่งที่ห้ามทำ แยกพิจารณาเป็นกรณีได้ดังนี้
 
-          ห้ามมิให้ร้องทุกข์แทนผู้อื่น
-          ห้ามมิให้ลงชื่อรวมกัน หรือเข้ามาร้องทุกข์พร้อมกันหลายคน
-          ห้ามมิให้ประชุมกันเพื่อหารือเรื่องจะร้องทุกข์
-          ห้ามมิให้ร้องทุกข์ในเวลาที่ตนกำลังเข้าแถว หรือในขณะที่กำลังทำหน้าที่ราชการอย่างใดอย่างหนึ่ง
-          ห้ามมิให้ร้องทุกข์ก่อนเวลาล่วงไปแล้ว 24 ชั่วโมง นับตั้งแต่ที่มีเหตุจะต้องร้องทุกข์เกิดขึ้น หรืออาจอธิบายในทางตรงกันข้ามได้ว่า หากจะร้องทุกข์ต้องรอให้เวลาผ่านไปแล้ว 24 ชั่วโมง ซึ่งมีข้อสังเกตได้ว่าการกำหนดเช่นนี้อาจส่งผลต่อพยานหลักฐานได้
-          ห้ามมิให้ร้องทุกข์ว่า ผู้บังคับบัญชาลงทัณฑ์แรงเกินไป ถ้าหากว่าผู้บังคับบัญชานั้นมิได้ลงทัณฑ์เกินอำนาจตามที่กฎหมายกำหนด
 
และกฎหมายยังได้ทิ้งท้ายถึงการร้องทุกข์ไว้ว่า ถ้าหากปรากฏชัดว่าข้อความที่ร้องทุกข์เป็นความเท็จ หรือการร้องทุกข์นั้นกระทำไปโดย ‘ผิดระเบียบ’ ผู้ร้องทุกข์จะต้องมีความผิดฐานกระทำผิดต่อวินัยทหาร
 
 
 
กระบวนการยุติธรรมลายพรางยังขาดความโปร่งใส
 
 
 
ในวันที่ 22 มิถุนายน 2563 หมู่อาร์มต้องเดินทางมารายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหาหนีราชการที่ศาลทหารกรุงเทพ ซึ่งหมู่อาร์มมองว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีอันสืบเนื่องมาจากการเปิดโปงการทุจริตในกองทัพ ซึ่งหมู่อาร์มก็ต้องต่อสู้และพิสูจน์ตัวเองในกระบวนการยุติธรรมต่อไป เพียงแต่ไม่ใช่กระบวนการยุติธรรมปกติแต่เป็น “กระบวนการยุติธรรมลายพราง”
 
เนื่องจากตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร กำหนดให้กองทัพมีศาลเฉพาะเป็นของตัวเอง หรือที่เรียกกันว่า ‘ศาลทหาร’ ซึ่งแตกต่างจากศาลปกติหลายประการ อาทิ ในมาตรา 5 ที่กำหนดให้ โครงสร้างของศาลทหารอยู่ในสังกัดกระทรวงกลาโหมซึ่งสะท้อนว่าอำนาจของศาลทหารอาจไม่ได้แยกขาดจากอำนาจฝ่ายบริหาร ผู้มีอำนาจยังสามารถเข้ามาแทรกแซงกลไกกระบวนการยุติธรรมได้
 
หรือ ในมาตรา 30 กำหนดให้ตุลาการศาลทหารมาจากการแต่งตั้งกันเองโดยนายทหารระดับผู้บังคับบัญชา หรือ พูดง่ายๆ ว่ากระบวนการยุติธรรมลายพรางก็ถูกรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ผู้บังคับบัญชาอยู่ดี ดังนั้น การที่ทหารชั้นผู้น้อยจะลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจทหารชั้นผู้ใหญ่ก็อาจจะไม่มีหลักประกันในกระบวนการยุติธรรม
 
 
 
กลไกคุ้มครองพยานทั้งภายในภายนอกยังใช้ไม่ได้จริง
 
 
 
แม้ว่ากองทัพบกที่นำโดย พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้ ผบ.ทบ. จะพยายามแก้ปัญหาการทุจริตในกองทัพ ผ่านสิ่งที่เรียกว่า “สายตรง ผบ.ทบ.” แต่จากกรณีหมู่อาร์มก็สะท้อนให้เห็นแล้วว่า กลไกดังกล่าวล้มเหลวในการปกป้องและคุ้มครองพยานที่มาให้ข้อมูล อีกทั้ง ในท้ายที่สุด กองทัพก็พบว่าสิ่งที่หมู่อาร์มร้องเรียนนั้น "มีมูล" จนต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาเสียด้วยซ้ำ 
 
ในขณะเดียวกัน หมู่อาร์มเคยหันหน้าไปพึ่งหน่วยงานที่มีหน้ารับผิดชอบโดยตรง อย่าง ป.ป.ช. แต่การสนองรับต่อคำขอให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่นของผู้ชี้เบาะแสของหมู่อาร์มกลับล่าช้าและไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองผู้ชี้เบาะแส เพราะ ป.ป.ช.ใช้เวลาในการพิจารณากว่าสองเดือน จนท้ายที่สุดแล้ว หมู่อาร์มได้ถูกปลดจากราชการฐานหนีราชการเกินกว่า 15 วัน อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร ซ้ำยังถูกดำเนินคดีในศาลทหารฐานละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา และหนีราชการในเวลาปกติ 
 
เหตุการณ์ดังกล่าวสวนทางกลับคำอวดอ้างที่มีต่อรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่ถูกยกย่องเป็น “รัฐธรรมนูญปราบโกง” เพราะแม้จะมีบทบัญญัติในมาตรา 278 ว่า ต้องมีการออกกฎหมายที่กำหนดมาตรการและกลไกในการป้องกันและขจัดการทุจริต และได้บรรจุเรื่องการคุ้มครองผู้ชี้เบาะแสการทุจริตไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 อย่างเช่น ขอให้มีกลไกคุ้มครองพยาน หรือการกำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัยของผู้ชี้เบาะแส รวมถึง ในกรณีที่พบว่า น่าจะมีการกลั่นแกล้งรังแกผู้ชี้เบาะแส ก็สามารถเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการตามมาตรการที่กำหนด เช่น การโยกย้ายไปสังกัดยังหน่วยงานอื่น แต่ท้ายที่สุด การนำมาปฏิบัติใช้ยังไม่สัมฤทธิ์ผล เพราะกลไกดังกล่าวต้องพึ่ง “ดุลยพินิจ” ของ ป.ป.ช.
 
 
 
“ออกกฎหมายพิเศษ-ตั้งผู้ตรวจการกองทัพ” บทเรียนจากต่างประเทศ
 
 
 
 
 
ในสหรัฐอเมริกาเองก็เคยประสบปัญหาที่ล้ายคลึงกับกรณีของหมู่อาร์ม คือนายทหารหลายรายได้พบเห็นการทุจริตและได้พยายามร้องเรียนไปตามสายบังคับบัญชา แต่ก็ถูกผู้มีอำนาจกลั่นแกล้ง ทั้งการกล่าวหาว่าเป็นโรคจิตเภท การส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลจิตเวช กล่าวหาว่าละเมิดกฎแห่งเกียรติยศของกองทัพ ทั้งการพยายามลงโทษทางวินัยเนื่องจากข้าราชการโดยไม่ได้รับอนุญาต จนในท้ายที่สุดมีการยื่นเรื่องไปยังสภา congress และมีการตรากฎหมาย military whistleblower protection act สำหรับผู้ชี้เบาะแสในกองทัพขึ้นมา
 
โดยกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดช่องทางให้บุคลากรในกองทัพสามารถชี้เบาะแสการทุจริตไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือส.ว. และส.ส. ได้ ทั้งยังมีกลไกห้ามมิให้มีการกลั่นแกล้งตัวผู้ร้องเรียน และห้ามกองทัพขัดขวางการร้องเรียน  เช่น ห้ามเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหน้าที่อย่างมีนัยสำคัญ ห้ามโยกย้ายทหารผู้ร้องเรียนไปรับตำแหน่งอื่น ห้ามข่มขู่ คุกคาม ห้ามกระทำการเอาคืนเพราะเหตุที่ผู้ใต้บังคับบัญชาร้องเรียน เป็นต้น
 
ขณะที่อีกฟากหนึ่งอย่างสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีได้กำหนดให้มีผู้ตรวจการกองทัพ  (Commissioner for the Armed Forces : Wehrbeauftragten) เป็นการเฉพาะ โดยผู้ตรวจการกองทัพจะได้รับการเลือกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหพันธ์ (Bundestag) ทำหน้าที่พิทักษ์สิทธิขั้นพื้นฐานของบุคลากรในกองทัพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น บุคลากรในกองทัพสามารถร้องเรียนไปยังผู้ตรวจการกองทัพได้โดยตรง แม้กระทั่งปัญหาการถูกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ปัญหาหน้าที่ในกองทัพ ปัญหาในเรื่องราชการหรือเรื่องส่วนตัว
 
ทั้งนี้ ผู้ตรวจการกองทัพยังมีอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ และจัดทำรายงานประจำปีซึ่งสามารถเข้าถึงได้โดยสาธารณะผ่านทางเว็บไซต์อีกทั้งยังมีฉบับภาษาอังกฤษ โดยในรายงานประจำปีนั้นมีเนื้อหาทั้งในเรื่องการเงินกองทัพ สวัสดิการ คุณภาพชีวิตของบุคลากรในกองทัพรวมไปถึงกรณีการละเมิดต่อกฎหมายในกองทัพ