ปืนช็อตไฟฟ้า CONDUCTED ELECTRICAL WEAPONS (“TASERS”)
7 สิงหาคม 2564 การชุมนุมของกลุ่ม RE DEM ที่ประกาศนัดหมายผ่านเพจ Free Youth บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และประกาศจะเดินขบวนไปพระบรมมหาราชวัง ผู้สังเกตการณ์รายงานว่า ตำรวจควบคุมฝูงชนหรือ คฝ.จำนวนหลายนายพกพา “ปืนสั้นสีเหลือง” ไว้ที่บริเวณเอว ซึ่งภายหลังทราบว่าเป็น “ปืนช็อตไฟฟ้า (Taser)” โดยเหตุการณ์นี้จะไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้สังเกตการณ์พบเห็น คฝ. พกพาอาวุธปืนช็อตไฟฟ้า หรืออาวุธลักษณะใกล้เคียงกัน
สำนักข่าวอิศราออนไลน์รายงานว่า อาวุธปืนช็อตไฟฟ้าได้รับการจัดซื้อเข้ามาในประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้ลงนามสัญญาจัดซื้อปืนช็อตไฟฟ้า จำนวน 2,700 กระบอก สำหรับสถานีตำรวจ 1,483 แห่งทั่วประเทศ รวมเป็นเงิน 215,730,000 บาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 79,000 บาทต่อหนึ่งกระบอก จากบริษัท ฟิกซ์เทคจำกัด ตามสัญญา เลขที่ สพ. 23/2563 โดยในวันที่ 23 กันยายน 2563 ได้มีการเรียกตัวตำรวจทั่วประเทศเข้ามาฝึกใช้ปืนช็อตไฟฟ้า กองบัญชาการตำรวจแห่งละ 5 นาย ณ ห้องเรียนกองสรรพาวุธ
แนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุยชนของสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมายของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมุนษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ซึ่งระบุถึงหลักการใช้ปืนช็อตไฟฟ้าไว้ ดังนี้
• วิธีการใช้และการออกแบบ
โดยทั่วไปแล้ว ปืนช็อตไฟฟ้าทำหน้าที่ส่งพัลส์ของประจุไฟฟ้าซึ่งส่งผลให้กล้ามเนื้อของเป้าหมายหดเกร็งและทำงานไม่ประสานสัมพันธ์กันตลอดจนไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายได้ เรียกว่า “การสูญเสียการควมคุมกล้ามเนื้อ” โดยกระแสไฟฟ้าจะถูกส่งผ่านลูกดอกที่ถูกยิงไปทางเป้าหมายซึ่งเชื่อมต่อทางไฟฟ้ากับตัวปืนด้วยลวดแบบบาง เมื่อเป้าหมายสูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อ เจ้าหน้าที่จึงสามารถเข้าไปควบคุมตัวเป้าหมายได้โดยวิธีการตามปกติ อาทิกุญแจมือ เป็นต้น ปืนช็อตไฟฟ้าหลายๆ รุ่น ใช้ไนโตรเจนอัดเพื่อยิงลูกดอก 2 ลูก ซึ่งดึงสายไฟฟ้ากลับไปยังตัวปืน ทั้งนี้ เมื่อลูกดอกยิงไปโดนร่างกาย ประจุไฟฟ้าแรงสูงจะถูกส่งผ่านสายเคเบิลไปยังตัวเป้าหมาย
ปืนช็อตไฟฟ้าหลายๆ อันยังสามารถทำให้เกิดไฟช็อตได้อีกด้วย หากยิงใส่บุคคลโดยตรงหรือเรียกว่า Drive-Stun Mode อย่างไรก็ตามผลลัพธ์คือการสร้างความรู้สึกเจ็บปวดแก่เป้าหมาย แต่จะไม่ส่งผลให้เกิดการสูญเสียการควมคุมกล้ามเนื้อ
สถานการณ์ที่ปืนช็อตไฟฟ้าสามารถนำมาใช้ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
ปืนช็อตไฟฟ้าสามารถใช้งานได้โดยเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายยเท่านั้น เพื่อทำให้เป้าหมายสูญเสียความสามารถในการควบคุมตัวเองจากระยะไกล หากเป้าหมายมีพฤติกรรมที่อาจส่งผลให้ตนเองและผู้อื่นตกอยู่ในอันตราย ในบางสถานการณ์เจ้าหน้าที่อาจเลือกใช้ปืนช็อตไฟฟ้าแทนอาวุธปืนจริง และในสถานการณ์อื่นๆ ปืนช็อตไฟฟ้าถูกใช้แทนอาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำที่อาจเป็นอันตรายต่อเจ้าหน้าที่และเป้าหมายได้มากกว่า การใช้แสงเลเซอร์สีแดงหรือการเล็งอาจช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการบังคับใช้กฎหมายที่ชอบด้วยกฎหมายได้โดยไม่มีความจำเป็นต้องออกอาวุธ
ปืนช็อตไฟฟ้าทุกกระบอกควรมีระบบตัดไฟฟ้าแบบอัตโนมัติเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ต้องสงสัยถูกช็อตไฟฟ้านานเกินไป ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักตั้งค่าอยู่ที่ 5 วินาที อย่างไรก็ตามในปัจจุบันไม่ใช่อาวุธทั้งหมดจะมีระบบนี้
• ความเสี่ยงอันเกิดจากการใช้ปืนช็อตไฟฟ้า
1. ความเสี่ยงที่เกิดจากการใช้ปืนช็อตไฟฟ้า ได้แก่ อาการบาดเจ็บระดับปฐมภูมิจากประจุไฟฟ้า หรือจากการโดนลูกดอกฝังอยู่ในผิวหนัง โดยผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะได้รับการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อและกระดูกจากการหดตัวของกล้ามเนื้อที่เกิดจากปืนช็อตไฟฟ้าได้มากกว่าคนอื่นๆ
ปืนช็อตไฟฟ้าไม่ควรใช้กับเป้าหมายที่อยู่ในที่สูง เนื่องจากโดยปกติแล้วหากบุคคลโดนช็อตด้วยปืนช็อตไฟฟ้า ร่างกายจะไม่สามารถใช้มือรองรับแรงกระแทกได้หากตกจากที่สูง จึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับการบาดเจ็บระดับทุติยภูมิโดยเฉพาะที่บริเวณศีรษะ ซึ่งการบาดเจ็บดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้จากการตกลงสู่พื้นจากที่สูง หรือตกลงบนพื้นผิวที่แข็ง
2. ความเสี่ยงของการบาดเจ็บหนักหรือเสียชีวิตอาจเพิ่มขึ้นในบางสภาวะ เช่น บุคคลที่โดนไฟฟ้าช็อตเป็นโรคหัวใจ หรือได้รับยาตามคำสั่งของแพทย์ ตลอดจนเสพสารเสพติดหรือแอลกอฮอล์ หรือเหตุผลอื่นๆที่ส่งผลต่อการเกิดผลข้างเคียงต่อหัวใจ
ทั้งนี้ คำแนะนำของบริษัทเทเซอร์ (TASER™) เสนอแนะว่า หากเป็นไปได้ผู้ใช้งานควรหลีกเลี่ยงการยิงไปที่บริเวณหน้าอกซึ่งใกล้กับหัวใจเพื่อลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิตที่อาจเกิดขึ้นได้ อีกทั้งเด็กและผู้ใหญ่รูปร่างผอมบางมีความเสี่ยงที่จะได้รับการบาดเจ็บภายในจากลูกดอกที่เจาะเข้าไปในเนื้อเยื่อได้มากขึ้นเนื่องจากมีลำตัวทีบางกว่าคนอื่นๆ
การช็อตปืนไฟฟ้าอาจก่อให้เกิดอาการชักในผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคลมชักไม่ว่าลูกดอกจะฝังตัวในตำแหน่งไหนของร่างกายก็ตาม เจ้าหน้าที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ปืนช็อตไฟฟ้าในบริเวณอวัยวะเพศหรือส่วนบอบบางอื่นๆ ของร่างกายเช่นกัน
3. พฤติกรรมรุนแรงบางประเภทซึ่งอาจเกิดจากปัญหาทางสุขภาพจิต อุปสรรคทางภาษา ความผิดปกติทางการได้ยิน ความบกพร่องทางสายตา ความผิดปกติทางพัฒนาการหรือทางระบบประสาท หรือภาวะการเรียนรู้บกพร่อง มีส่วนทำให้เจ้าหน้าที่ใช้ปืนช็อตไฟฟ้า ดังนั้น เจ้าหน้าที่ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่า ผู้ที่ทำงานในสถานการณ์ที่มีความเป็นไปได้ที่จะพบกับกลุ่มบุคคลข้างต้น ได้รับคำแนะนำโดยละเอียดและได้รับการฝึกให้สามารถสังเกตและรับมือกับความเสี่ยงดังกล่าว ตลอดจนมีความรู้ ความสามารถ และมีเครื่องมือต่างๆ ที่จำเป็น ทั้งนี้ หากเป็นไปได้ให้ลดระดับสถานการณ์รุนแรงที่อาจทำให้เจ้าหน้าที่ต้องใช้ปืนช็อตไฟฟ้า
4. การใช้ปืนช็อตไฟฟ้าในบริเวณที่มีสารไวไฟหรือสารที่อาจก่อให้เกิดการระเบิด ส่งผลให้เกิดไฟไหม้ ไฟลุกลาม หรือกระทั่งการระเบิดได้ อีกทั้งสารละลายในสเปรย์ที่ทำให้ระคายเคืองอาจติดไฟได้ ซึ่งเป็นผลมาจากลูกดอกของปืนช็อตไฟฟ้า
5. การใช้ปืนช็อตไฟฟ้าเพื่อป้องกันหรือจำกัดพฤติกรรมการทำร้ายตัวเองของบุคคลต้องมีเหตุผลอันสมควรตามสถานการณ์
6. แม้ว่าการใช้ปืนช็อตไฟฟ้าในรูปแบบ Drive-stun จะถูกกฎหมาย แต่ก็ไม่อาจใช้ได้ผลดีกับบุคคลที่มีปัญหาทางสุขภาพจิต หรือกับบุคคลที่ไม่ตอบสนองต่อความเจ็บปวด เช่น ผู้ป่วยทางจิตที่ขาดสติหรือความตระหนักรู้จะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการบาดเจ็บสาหัส
สถานการณ์ที่การนำปืนช็อตไฟฟ้ามาใช้อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ปืนช็อตไฟฟ้าไม่ควรถูกนำมาใช้ในกรณีที่เป้าหมายไม่ได้แสดงอาการต่อต้านด้วยการต่อสู้ เมื่อเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการช็อตไฟฟ้าซ้ำๆ นานเกินไป หรือต่อเนื่องกัน
ความเสี่ยงที่เกิดจากความเจ็บปวดหรือความทรมานนั้นอาจมากจนถึงขั้นนับว่า เป็นการทรมานหรือการปฏิบัติอย่างโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือ เป็นการใช้อาวุธเกินเหตุจำเป็น และเมื่อปืนช็อตไฟฟ้าถูกใช้ในโหมด Drive-Stun เพื่อปล่อยกระแสไฟฟ้าสู่บุคคลโดยตรง อาจส่งผลให้บุคคลเกิดพฤติกรรมที่รุนแรงและก่อให้เกิดความเจ็บปวดในที่สุด
กระบองตำรวจ (Police Baton, Truncheon, or Nightstick)
เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 เวลา 18.00 น. รายการโอเวอร์วิว-วอยซ์ทีวี รายงานผ่านถ่ายทอดสดว่า เมื่อวันเสาร์ที่ 11 กันยายน 2564 มีรายงานเกี่ยวกับการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ต่อประชาชนผู้ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม เป็นผู้หญิงสองคนที่ขับรถมอเตอร์ไซค์กลับจากที่ทำงาน เมื่อมาถึงบริเวณที่ชุมนุมทั้งสองถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน ทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บสาหัสต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล รายหนึ่งมีอาการแขนบวม ศีรษะบวม ส่วนอีกรายศีรษะแตกเป็นแผลลึกกว่า 8 เซนติเมตร หลังเข้ารับการรักษาทั้งสองเปิดเผยว่าถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกาย โดยอาวุธที่เจ้าหน้าที่ใช้ทำร้ายร่างกายทั้งสองมีกระบองตำรวจรวมอยู่ด้วย
หากอ้างอิงตามคู่มือยุทธิวิธีตำรวจสำหรับครูฝึก ออกโดยกองบัญชาการศึกษา พ.ศ. 2561 การใช้อาวุธที่ไม่มีอันตรายถึงชีวิตรวมถึงกระบองตำรวจจัดเป็นการใช้กำลังขั้นที่ 5 จากทั้งหมด 6 ขั้น โดยเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนจะสามารถใช้กระบองตำรวจกับผู้ชุมนุมได้ต่อเมื่อ บุคคลเป้าหมายใช้อาวุธและอาจทำอันตรายต่อผู้อื่นถึงขั้นบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และไม่หยุดการกระทำดังกล่าวแม้จะถูกแจ้งเตือน ซึ่งกรณีของผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งสองคนข้างต้นน่าจะไม่อยู่ในเงื่อนไขที่เจ้าหน้าที่จะสามารถใช้กระบองได้
ในทางสากลแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุยชนของสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมายของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมุนษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ซึ่งระบุถึงหลักการใช้กระบองตำรวจที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนไว้ ดังนี้
๐ วิธีการใช้และการออกแบบ
กระบองตำรวจเป็นอาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำที่เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย (law enforcement officer) ใช้กันโดยทั่วไป กระบองตำรวจส่วนใหญ่ทำมาจากไม้ ยาง พลาสติก หรือโลหะ นอกจากนี้ ยังมีให้เลือกหลากหลายขนาด บางอันอาจมีความยาวถึงหนึ่งเมตร ลักษณะของกระบองที่มีขายอย่างแพร่หลายในปัจจุบันได้แก่ กระบองตรง กระบองที่มีด้ามจับ (ทอนฟา) และกระบองยืดสไลด์
กระบองมีประโยชน์หลายอย่างในขั้นตอนการบังคับใช้กฎหมาย สามารถใช้เป็นอาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำเพื่อให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายสามารถใช้ป้องกันตัวเองจากผู้ที่จู่โจมอย่างรุนแรง หรือยังสามารถใช้เพื่อทำการจับกุมโดยชอบด้วยกฎหมายต่อผู้ต้องสงสัยที่ขัดขืนอย่างรุนแรงอีกด้วย
๐ สถานการณ์ที่กระบองตำรวจสามารถนำมาใช้ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
โดยทั่วไปแล้ว กระบองถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับบุคคลที่ทั้งจะทำร้าย หรือขู่ว่าจะทำร้ายเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายหรือประชาชนทั่วไป เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายควรใช้กระบองจู่โจมไปที่ขาหรือแขนของผู้จู่โจมเท่านั้น
๐ ความเสี่ยงอันเกิดจากการใช้กระบองตำรวจ
การใช้กระบองฟาดไปยังบริเวณกระดูกหรือข้อต่อมีความเสี่ยงที่จะส่งผลให้เกิดภาวะข้อเคลื่อน กระดูกหัก และการบาดเจ็บบริเวณเนื้อเยื่ออ่อน ควรหลีกเลี่ยงการใช้กระบองกระทุ้งหรือกระแทกไปบริเวณทรวงอก คอ หรือศรีษะ เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บและอาจทำให้อวัยวะสำคัญฉีกขาด
๐ สถานการณ์ที่การนำกระบองตำรวจมาใช้อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เจ้าหน้าที่ผู็บังคับใช้กฎหมายควรหลีกเลี่ยงการใช้กระบองจู่โจมไปยังจุดบอบบางของร่างกาย ได้แก่ ศรีษะ คอและลำคอ กระดูกสันหลัง ไต และท้อง ไม่ควรใช้กระบองรัดคอเนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่ผู้ถูกรัดคอจะถึงแก่ความตาย หรือบาดเจ็บสาหัสจากการถูกกดทับที่เส้นเลือดใหญ่หรือทางเดินหายใจ และยังมีความเสี่ยงให้เกิดอาการบาดเจ็บบริเวณกล่องเสียง หลอดลม และกระดูกไฮออยด์ (กระดูกใต้โคนลิ้น) อีกด้วย
นอกจากนี้ ไม่ควรใช้กระบองกับผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือผู้ที่ไม่มีพฤติกรรมคุกคามรุนแรง เพราะการใช้งานแบบนั้นมีแนวโน้มที่จะมีความโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรี หรือแม้กระทั่งเป็นการทรมาณ
อ้างอิง :