เลือกตั้งท้องถิ่น : รู้จัก อบจ. และการเตรียมตัวก่อนไปเลือกตั้ง 20 ธันวาคม

เลือกตั้งท้องถิ่น : รู้จัก อบจ. และการเตรียมตัวก่อนไปเลือกตั้ง 20 ธันวาคม

เมื่อ 11 พ.ย. 2563
การปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นรูปแบบการปกครองตามหลักการกระจายอำนาจ มีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนในท้องถิ่นได้มีโอกาสตัดสินใจเรื่องในท้องถิ่นเอง และมีอำนาจปกครองกันเอง เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาและตอบสนองความต้องการของชุมชนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และตรงกับความต้องการของชุมนุมนั้นๆ โดยไม่ต้องอาศัยองค์กรจากส่วนกลางเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาทุกเรื่อง
 
 
รูปแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศไทย แบ่งออกเป็น องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล เมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร ซึ่งโดยหลักทุกองค์กรจะมีการเลือกตั้งตามวาระของตัวเอง คือ ทุก 4 ปี แต่เนื่องจากมีการรัฐประหารของ คสช. ทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นต้องถูก "แช่แข็ง" ไว้ และเว้นว่างไปนานกว่า 6 ปี หรือบางพื้นที่เป็นเวลากว่า 8 ปี
 
 
เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้ง อบจ. ทั่วประเทศขึ้นเป็นครั้งแรก โดยกำหนดให้วันที่  20 ธันวาคม 2563 เป็นวันเลือกตั้ง  
 
 
๐ 5 ข้อ ควรรู้ เพื่อเข้าใจ อบจ. ให้มากขึ้น 
 
อบจ. เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีความเกี่ยวพันและสำคัญกับชีวิตของคนในท้องถิ่นมากที่สุด อบจ. เปรียบเสมือนหัวหน้าห้องที่คอยดูแล บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับเพื่อนนักเรียนในห้อง ทั้งความใกล้ชิด และสนิทสนมของคนในพื้นที่ ย่อมทำให้การบริการสาธารณะด้านต่างๆ ตรงกับความต้องการของคนในท้องถิ่นนั้นได้อย่างแท้จริง 
 
 
1. องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ. เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ มีจังหวัดละ 1 แห่งทั่วประเทศ ยกเว้นกรุงเทพมหานคร มีเขตพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมอาฯาเขตของทั้งจังหวัด
 
 
อบจ. มีโครงสร้างการบริหาร ประกอบด้วย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร และมีสมาชิกสภาองค์การบริการส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ มีอำนาจพิจารณาออกกฎระเบียบต่างๆ และพิจารณาการจัดสรรงบประมาณ
 
 
2. การได้มาซึ่งนายกอบจ.และ ส.อบจ. นั้นมาจากเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน โดยที่การเลือกนายก จะใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และ ส.อบจ. ใช้อำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง โดยแต่ละจังหวัดจะมี ส.อบจ. จำนวนเท่าใด ขึ้นอยู่กับจำนวนราษฎรในจังหวัดนั้น โดยนำมาถัวเฉลี่ยแล้วแบ่งเขตเลือกตั้งภายในอำเภอนั้นๆ ตามตาราง
 

 

จำนวนราษฎรจำนวน ส.อบจ.

ไม่เกิน 500,000 คน

24 คน
เกิน 500,000 คน แต่ไม่เกิน 1 ล้านคน
30 คน
 

เกิน 1 ล้านคน แต่ไม่เกิน 1.5 ล้านคน 

36 คน

เกิน 1.5 ล้านคน แต่ไม่เกิน 2 ล้านคน

42 คน
เกิน 2 ล้านคนขึ้นไป
48 คน
 
นอกจากนี้ ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกอบจ.และ ส.อบจ. ไม่จำเป็นต้องมีสังกัดพรรคการเมืองเหมือนกับการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ผู้สมัครสามารถลงเลือกตั้งได้อย่างอิสระ รวมถึง ตัวผู้สมัคร ส.อบจ.เองก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ในสังกัดของผู้สมัครนายกอบจ.อีกเช่นเดียวกัน 
 
 
3. ภารกิจของอบจ. คือ การจัดทำบริการสาธารณะให้กับคนในท้องถิ่น เริ่มตั้งแต่การดูแลถนน เส้นทางคมนาคมต่างๆ สาธารณูปโภคทั้งการประปา ไฟฟ้า ไปจนถึงการสนับสนุนด้านการศึกษาและบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งมีหน้าที่จัดเก็บภาษีเพื่อเป็นรายได้
 
 
4. รายได้หลักของอบจ. มาจากการเก็บภาษีต่างๆ ในจังหวัด เช่น ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย เป็นต้น รวมถึงเงินอุดหนุนที่ได้รับจากรัฐบาลในทุกปีงบประมาณ โดยงบประมาณดังกล่าวจะต้องถูกนำมาจัดสรรเพื่อนำไปพัฒนาจังหวัดในด้านต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน 
 
 
5.นายกอบจ. มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง และจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้ ในส่วนของ ส.อบจ. ก็มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปีนับแต่วันเลือกตั้งเช่นเดียวกัน
 
 
 
 
๐ 5 ข้อ เตรียมพร้อมก่อนกลับบ้านไปเลือกตั้ง อบจ. 
 
 
หลังจากที่ประเทศไทยไม่ได้มีการเลือกตั้งมานาน การเลือกตั้งอบจ.ในครั้งนี้จึงมีความสำคัญ และย่อมสร้างความตื่นตัวให้กับประชาชนทั่วประเทศไม่มากก็น้อย ผู้ที่ดำรงตำแหน่งเดิมอยู่ยาวนานอาจใช้อิทธิพลที่มีอย่างเต็มที่เพื่อให้ตัวเองได้รับเลือกต่ออีกสมัย หรืออีกนัยหนึ่งประชาชนในพื้นที่ก็อาจจะเบื่อผู้บริหารชุดเดิมและต้องการความเปลี่ยนแปลงแล้วก็เป็นได้ 
 
 
เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนได้เตรียมความพร้อมชนิดที่ว่า สามารถเดินเข้าคูหาแล้วเลือกตัวแทนได้อย่างถูกต้อง มั่นใจ  ไอลอว์จึงได้รวบรวมสิ่งที่ควรรู้และขั้นตอนการไปเลือกตั้งมาให้ทุกคนได้เตรียมกันก่อนล่วงหน้า  ดังนี้
 
 
1. คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
 
ต้องมีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีในวันเลือกตั้ง และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อไม่น้อยกว่า 1 ปี 
 
 
2. หลักฐานที่ใช้แสดงตนในการลงคะแนนเลือกตั้ง 
 
บัตรประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้) หรือ บัตรหรือหลักฐานอื่นของทางราชการหรือหน่วยงานรัฐออกให้ที่มีรูปถ่ายและเลขประจำตัวประชาชน เช่น บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่รัฐ ใบขับขี่ หรือหนังสือเดินทาง 
 
 
3. การตรวจสอบรายชื่อตนเองก่อนวันเลือกตั้ง
 
สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 25 วัน ที่ศาลากลางจังหวัดหรือที่ว่าการอำเภอ องค์การบริหารส่วนจังหวัดที่เลือกตั้งหรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง หรือสามารถตรวจรายชื่อจากเอกสารท่ีแจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ส่งมายังเจ้าบ้านได้ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 15 วัน
 
หากตรวจสอบแล้วพบว่าตนเองไม่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นเพื่อขอเพิ่มชื่อ ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วัน 
 
 
4. ขั้นตอนการลงคะแนนเลือกตั้ง 
 
หนึ่ง ตรวจสอบรายชื่อและลำดับที่จากบัญชีรายชื่อที่ประกาศไว้หน้าหน่วยเลือกตั้ง
สอง แสดงหลักฐาน เช่น บัตรประชาชน ใบขับขี่ ต่อกรรมการการเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งพร้อมลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือในบัญชีรายชื่อและต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง
สาม รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แบ่งเป็น สำหรับเลือกนายกอบจ. 1 ใบ และเลือก ส.อบจ. อีก 1 ใบ 
สี่ เข้าคูหาลงคะแนนทำเครื่องหมายกากบาท  (X)  ลงในช่องทำเครื่องหมาย
              ๐ บัตรเลือกตั้งนายกอบจ. เลือกผู้สมัครได้ หนึ่งคน
              ๐ บัตรเลือกตั้ง สจ. เลือกผู้สมัครได้ หนึ่งคน                                                         
              ๐ หากไม่ต้องการเลือกผู้สมัครผู้ใด สามารถทำเครื่องหมายกากบาทในช่อง ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใดก็ได้ 
ห้า นำบัตรเลือกตั้งทั้งสองใบที่พับเรียบร้อยแล้วหย่อนลงในหีบบัตรเลือกตั้งด้วยตัวเอง
 
 
5. วันและเวลาลงคะแนนเลือกตั้ง 
 
วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม  2563 ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.                          
สิ่งสำคัญ คือ การเลือกตั้ง อบจ. จะต้องเดินทางกลับไปเลือกตั้งตามภูมิลำเนาที่ปรากฎอยู่ในทะเบียนบ้านที่ไม่ใช่กรุงเทพมหานครเท่านั้น จะไม่มีการให้เลือกตั้งล่วงหน้าหรือการเลือกตั้งนอกเขต