ศาลรัฐธรรมนูญถูกก่อตั้งขึ้นครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ด้วยความคาดหวังว่า ศาลจะเป็นองค์กร "พิทักษ์รัฐธรรมนูญ" ทำหน้าที่วินิจฉัยข้อพิพาททางกฎหมายหรือตรวจสอบอำนาจรัฐให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แต่ทว่า หลังวิกฤติการเมืองที่เริ่มต้นในปี 2549 เป็นต้นมา ศาลรัฐธรรมนูญค่อยๆ ขยายบทบาทและเข้ามาเป็นผู้เล่นทางการเมืองเพื่อตอบสนองต่อกลุ่มที่เป็นปรปักษ์กับพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงข้างมากจากประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการล้มรัฐบาล หรือ การสร้างสูญญากาศทางการเมืองเพื่อเปิดทางไปสู่การรัฐประหาร ด้วยเหตุนี้ ศาลรัฐธรรมนูญที่ควรจะเป็นผู้ยุติข้อพิพาทก็กลับกลายไปเป็นผู้สร้างข้อพิพาททางการเมืองจนนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ พอจะแบ่งช่วงเวลาของความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้อย่างน้อย 4 ช่วงเวลา ดังนี้
1) ปี 2549 ล้มเลือกตั้ง สร้างเงื่อนไขรัฐประหาร ยุบพรรคการเมืองยอดนิยม
หลังการยุบสภาของรัฐบาล "พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร" ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 ผลปรากฏว่า พรรคฝ่ายค้านนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ได้ทำการ "บอยคอต" หรือปฏิเสธไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากเห็นว่า การยุบสภาครั้งดังกล่าวเป็นการ "เลี่ยงการตรวจสอบ" ของพรรคฝ่ายค้านที่ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซึ่งผลสุดท้ายทำให้การเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกายุบสภา หรือ การเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 ติดปัญหา อาทิ บางเขตเลือกตั้งมีแต่ผู้สมัครรับรับเลือกตั้งเพียงพรรคเดียว และมีผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้คะแนนเสียงไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง และมีการโจมตีว่า พรรคไทยรักไทยจ้างวานพรรคการเมืองขนาดเล็กให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง
หลังการเลือกตั้งมีผู้ร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ และในวันที่ 8 พฤษภาคม 2549 ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดย
คำวินิจฉัยระบุว่า ผลของการเลือกตั้งดังกล่าวไม่เที่ยงธรรม ไม่ได้ผู้แทนปวงชนอย่างแท้จริงตามระบอบประชาธิปไตย ทำให้การเลือกตั้งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ อีกทั้ง การจัดคูหาเลือกตั้งรูปแบบใหม่ไม่เป็นการลงคะแนนโดยลับตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด จึงวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะและให้มีการจัดเลือกตั้งใหม่ แต่ทว่า ยังไม่ทันจะมีการเลือกตั้งใหม่ก็เกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เสียก่อน
หลังการรัฐประหารที่นำโดย "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" หรือ คปค. ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ" หรือ คมช. ได้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวขึ้นมา โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้มี
"คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ" ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่แทนศาลรัฐธรรมนูญ และคณะตุลาการชุดดังกล่าวได้มีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรค "ไทยรักไทย" จากข้อกล่าวหาว่าจ้างให้คนสมัครรับเลือกตั้ง และมีการนำประกาศของคณะรัฐประหารมาใช้ลงโทษตัดสิทธิทางการเมือง ทั้งนี้ต่อมาภายหลังมีการ
เปิดโปงว่า มีการว่าจ้างพยานเท็จเพื่อกล่าวหาพรรคไทยรักไทยว่าจ้างให้มีคนสมัครรับเลือกตั้ง
อย่างไรก็ดี ผลจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ จนตามมาด้วยการรัฐประหารและการยุบพรรคไทยรักไทยได้นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองระลอกใหม่ที่แบ่งสังคมออกเป็น "สองสี-สองขั้ว" อย่างชัดเจน ระหว่าง "กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" หรือ "คนเสื้อเหลือง" ที่ต่อต้านรัฐบาลพรรคไทยรักไทย กับ "กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ" ที่ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น "แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ" หรือ นปช. หรือที่เป็นที่รู้จักในชื่อ "คนเสื้อแดง" ที่มีจุดยืนในการต่อต้านการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลไทยรักไทย
2) ปี 2551 - 2553 ล้มรัฐบาลสองชุด สร้างรอยร้าวการเมืองให้เพิ่มขึ้น
หลังคณะรัฐประหาร หรือ คมช. ได้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือ รัฐธรรมนูญ ปี 2550 เป็นอันเรียบร้อย รัฐบาล คมช. ได้มีการจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ แต่ผลปรากฏว่า พรรคการเมืองขั้วอดีตรัฐบาลที่ถูกยึดอำนาจ หรือ "พรรคพลังประชาชน" ซึ่งถูกมองว่าเป็นพรรคที่รับไม้ต่อมาจากพรรคไทยรักไทยได้กลายเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง โดยมี 'สมัคร สุนทรเวช' เป็นนายกรัฐมนตรี แต่หลังจากรับตำแหน่งได้ไม่ถึงหนึ่งปี ศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยให้ 'สมัคร สุนทรเวช' ต้องพ้นจากตำแหน่ง จากกรณีเป็นพิธีกรรับเชิญในรายการโทรทัศน์ ซึ่งขัดต่อคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ แต่ทว่า คำวินิจฉัยในคดีนี้ก็เป็นที่วิจารณ์ว่า เป็นการ
ตีความที่กว้างขว้างและไม่เป็นไปตามหลักกฎหมาย
หลังการพ้นตำแหน่งของ สมัคร สุนทรเวช พรรครัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลได้เสนอ "สมชาย วงศ์สวสัดิ์" เป็นนายกรัฐมนตรีแทน แต่ก็ดำรงตำแหน่งได้เพียง 75 วัน ศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชน จากข้อกล่าวหาว่า กรรมการบริหารพรรคทุจริตการเลือกตั้ง ทำให้ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและถูกตัดสิทธิทางการเมือง จนท้ายที่สุดก็นำไปสู่การเปลี่ยนขั้วทางการเมืองในรัฐสภา ส่งผลให้พรรคฝ่ายค้าน นำโดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน
หลังการขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้นำไปสู่การชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดงในปี 2552 เป็นต้นมา โดยเห็นว่า มีการแทรกแซงทางการเมืองจนนำมาสู่การยุบพรรคพลังประชาชน รวมถึงเรียกร้องให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ แต่ท้ายที่สุด รัฐบาลก็ได้เข้าสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 ที่มีผู้เสียชีวิตไม่น้อยกว่า 94 ราย และกลายเป็นอีกหนึ่งบาดแผลครั้งใหญ่ในความขัดแย้งทางการเมือง
3) ปี 2557 ขัดขวางแก้รัฐธรรมนูญ ล้มเลือกตั้งสร้างสุญญากาศการเมืองเพื่อการรัฐประหาร
หลังการเลือกตั้งทั่วประเทศในปี 2554 พรรคเพื่อไทย พรรคที่รับไม้ต่อมาจากพรรคพลังประชาชนกลับมาชนะเลือกตั้งอีกครั้ง และได้จัดตั้งรัฐบาล โดยมี 'ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' เป็นผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยในยุคนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้เข้ามามีบทบาทสำคัญทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญถึงสองครั้ง ได้แก่
หนึ่ง การแก้ไข้รัฐธรรมนูญ โดยเสนอให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มาจากการเลือกตั้งทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งให้สมาชิกรัฐสภาระงับการลงมติเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อน หลังจากนั้นจึงมีคำวินิจฉัยออกมาว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มี สสร. มาจัดทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ควรทำประชามติเสียก่อน
สอง การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเสนอให้สมาชิกวุฒิสภาต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้เข้ามาวินิจฉัยในประเด็นนี้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ หลังสภาผู้แทนราษฎรลงมติผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หรือ ที่เรียกว่า "ฉบับเหมาเข่ง" จนเกิดการชุมนุมใหญ่ของ "กลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" หรือ กลุ่ม กปปส. จนนำไปสู่การตัดสินใจยุบสภาของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แต่พรรคประชาธิปัตย์ได้ปฏิเสธการลงสมัครรับเลือกตั้ง และกลุ่ม กปปส. ได้เข้าไปขัดขวางการรับสมัครและปิดคูหาการเลือกตั้งจนเป็นเหตุให้บางเขตมีปัญหาไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้
ต่อมา ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เนื่องจาก มีเขตเลือกตั้งจำนวน 28 เขต ที่ไม่มีผู้สมัคร และ กกต. เกรงว่า หากจะจัดให้มีการจัดเลือกตั้งใหม่จะไม่มีกฎหมายรองรับ จึงแนะนำให้รัฐบาลตราพระราชกฤษฏีกาเพิ่ม แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินตีความว่า หากรัฐบาลตราพระราชกฤษฏีกาเพิ่มจะทำให้การเลือกตั้งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ได้จัดให้มีการเลือกตั้งในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
สุดท้าย ศาลรัฐธรรมนูญ
วินิจฉัยว่า พระราชกฤษฎีกายุบสภาในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และให้เป็นโมฆะ แต่ทว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยว่า พระราชกฤษฎีกาทั้งฉบับเป็นโมฆะ จึงทำให้เกิด "สูญญากาศทางการเมือง" เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถตราพระราชกฤษฎีกาใหม่ได้ และ กกต. ก็ไม่มีอำนาจในการจัดการเลือกตั้งใหม่ในเขตที่ยังมีปัญหา จนในท้ายที่สุด การเลือกตั้งก็ถูกโค่นล้มอย่างเด็ดขาดด้วยการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
หลังการรัฐประหาร พบว่า มีการชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมืองในเชิงต่อต้านการรัฐประหารอย่างกว้างขวาง จนนำไปสู่การคุกคามสิทธิเสรีภาพครั้งใหญ่ โดยมีประชาชนอย่างน้อย 929 คน ถูก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียกรายงานตัวและควบคุมตัวในค่ายทหาร มีผู้ที่ถูกตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมือง อย่างน้อย 245 คน มีผู้ที่ถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 อย่างน้อย 169 คน ซึ่งมีสาเหตุมาจากการแสดงออกในเชิงต่อต้านคัดค้านคณะรัฐประหาร
4) ปี 2563 ยุบพรรคการเมืองคนรุ่นใหม่ เกิดชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของนักเรียน-นักศึกษาทั่วประเทศ
หลังการเลือกตั้งในปี 2562 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามามีบทบาทสำคัญทางการเมือง คือ การวินิจฉัยยุบพรรคการเมือง โดยมีอย่างน้อยสองพรรคการเมืองที่ประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนว่า เป็นขั้วตรงข้างกับคณะรัฐประหาร หรือ คสช. ได้แก่ พรรคไทยรักษาชาติ และพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรค
โดยการยุบพรรคอนาคตใหม่ ศาลวินิจฉัยว่า พรรคอนาคตใหม่กระทำการฝ่าฝืน มาตรา 72 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ที่ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบ จากกรณีการกู้เงิน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค เป็นเงินจำนวน 191,200,000 บาท แต่ทว่า คำวินิจดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการใช้กฎหมายที่ไม่ถูกต้อง เพราะการกระทำของพรรคอนาคตใหม่ไม่ครบตามองค์ประกอบความผิดและไม่ใช่เจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมาย คำวินิจฉัยของศาลจึงเป็นการ
ตีความอย่างกว้างขวางเพื่อยุบพรรค
อย่างไรก็ดี หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ ประเด็นดังกล่าวได้นำไปสู่จุดเปลี่ยนสำคัญของหน้าประวัติศาสตร์การเมืองของไทย เพราะทำให้เกิดบรรดากลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ออกมาแสดงออกทางการเมืองผ่านการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่องและเกิดขึ้นภายในสถานศึกษาทั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัย อย่างน้อย 24 แห่ง ทั่วประเทศ จนเกิดเป็นกระแสติดแฮชแท็กบนโลกออนไลน์ อาทิ #เสาหลักจะไม่หักอีกต่อไป ของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ #ฝุ่น6ล้านหรือจะสู้ท่าน9เสียง ของกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ #สวที่อยู่ข้างประชาธิปไตย ของกลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษาของโรงเรียนสตรีวิทยา เป็นต้น