ความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องทางด้านกฎหมายและสังคม ในรอบสัปดาห์แรก ของเดือนพฤศจิกายน
สภามีมติร่างพรบ.บริหารที่ดินสงวนของรัฐ
เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2553 สภาผู้แทนราษฎร มีมติเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 290 ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การบริการจัดการที่ดินสงวนหวงห้ามของรัฐ และร่าง พ.ร.บ.การยกเลิกสงวนหวงห้ามที่ดิน ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ของทางราชการ รวม 11 ฉบับ โดยมีสาระสำคัญ ในการยกเลิกการสงวนที่ดิน ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว เพื่อให้โอกาสแก่ผู้ถือครองที่ดิน ได้ทําประโยชน์ที่ดินนั้น อย่างถูกต้อง ตามกฎหมายและเป็นการกระจายการถือครองที่ดิน อย่างเป็นธรรม และจะนำประกันในการดำรงชีพของราษฎร ทั้งนี้ ยังเพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการที่ดิน ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด โดยได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมา ศึกษาจำนวน 36 คน ที่มา INN News
นายกฯเสนอยกเลิก พรก. 3 จังหวัดชายแดนใต้
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ผอ.รมน.) มีแนวคิดที่จะทยอยเลิกการประกาศพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ที่ใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามข้อเสนอขององค์กรเอกชน และ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน โดยจะให้กอ.รมน.พิจารณาว่า สมควรจะยกเลิกในอำเภอใดก่อน
ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้นที่นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทวงมหาดไทยได้เสนอไว้ คือ ให้ยกเลิกทั้งหมด 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เบตง อ.กาบัง จ.ยะลา อ.สุคิริน อ.แว้ง จ.นราธิวาส และ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี โดยนายอภิสิทธิ์ จะมีการหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะ รอง ผอ.รมน. ถึงสถานการณ์ด้านการข่าวและความเคลื่อนไหวว่ามีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหนซึ่งจากข้อมูลของ กอ.รมน.ภาค 4 พบว่า สถานการณ์ใน 5 อำเภอดังกล่าวยังไม่น่าไว้วางใจนัก แต่ในอำเภอที่มีการเคลื่อนไหวน้อยลงคือ อ.กาบัง และ อ.เบตง จ.ยะลา ซึ่งหากรัฐบาลจะยกเลิกคงน่าจะเป็น 1 -2 อำเภอ ใน จ. ยะลา และ หากตัดสินใจยกเลิกก็มีแนวโน้มที่จะประกาศใช้พระราชบัญญัติความมั่นคงฯ แทนเช่นเดียวกับ 5 อำเภอใน จ.สงขลา ที่มาข่าว ไทยรัฐ
วุฒิสภาเลื่อนการพิจารณาร่างพรบ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัย ฯ ออกไปเป็นวันที่ 25 พ.ย.53
ในวันที่ 8 พ.ย. 2553 ที่ประชุมวุฒิสภาจะมีการพิจารณาเรื่องขอขยายเวลาลงมติวาระ 2-3 ร่างพรบ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพ แวดล้อมในการทำงาน พ.ศ....ออกไปอีก จนถึงวันที่ 25 พ.ย.2553 ซึ่งเป็นวันปิดสมัยประชุมสภานิติบัญญัติ แม้ว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญ วุฒิสภา จะพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้เสร็จเรียบร้อยแล้วก็ตาม
แต่อย่างไรก็ตามยังถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะในหมวด 7 มาตรา 52 ยังคงระบุเหมือนเดิมตามร่างที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรว่า ให้มีสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ทั้งนี้ให้กระทรวงแรงงานจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรี ทั้งนี้ภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่พรบ.นี้ใช้บังคับ
บี้บริษัท‘มือถือ’ คืนเงินผู้บริโภค ที่เหลือจากเติม
คณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) การสื่อสารและโทรคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ได้ยื่นผลการศึกษาเกี่ยวกับการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเรียก เก็บค่าบริการล่วงหน้า (พรีเพด) หรือบัตรเติมเงิน ให้แก่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) โดยมีประเด็นสำคัญว่า เงินที่เหลือจากการเติมเงินทั้งในเบอร์โทร.ของผู้ที่ ปิดใช้บริการและผู้ที่ใช้ไม่หมดตามระยะเวลาที่กำหนดยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ใช้บริการ จึงอยากให้มีการคืนให้แก่ผู้ใช้บริการ หรืออย่างน้อยที่สุดให้นำมาสร้างประโยชน์ให้แก่สาธารณะ มากกว่านำไปเป็นรายได้ของบริษัท
โดย นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะที่ปรึกษาคณะ กมธ. กล่าวว่า ตามประกาศ กทช.เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการคมนาคม พ.ศ.2549 ข้อ 11 ระบุชัดเจนว่าผู้ให้บริการต้องไม่กำหนดระยะเวลาการใช้บริการในกรณีเรียกเก็บ ค่าบริการล่วงหน้า หรือใช้บัตรเติมเงิน ซึ่งที่ผ่านมาทางกรรมาธิการได้เชิญผู้แทน กทช.ให้เข้าร่วมชี้แจงในกรณีดัง กล่าวหลายต่อหลายครั้ง แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ ดังนั้นหาก กทช.ไม่มีความชัดเจนในการดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศหรือกฎหมายที่เกี่ยว ข้อง อาจเข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157.ที่มา ไทยโพสต์
ปปช.ชงรัฐห้ามขรก.นั่งบอร์ดรัฐวิสาหกิจเกิน3แห่ง
ที่ประชุมป.ป.ช.มีมติให้เสนอ มาตรการป้องกันการทุจริตต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับกับการ แต่งตั้งข้าราชการระดับสูง ไปเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจเกินกว่า 3 แห่ง ซึ่งขัดต่อมติครม.เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2523 ที่ห้ามมิให้แต่งตั้งข้าราชการไปเป็นประธานหรือกรรมการรัฐวิสาหกิจเกินกว่า 3 แห่งโดยจะแบ่งเป็นมาตรการระยะสั้นและระยะยาวหลังจากที่ป.ป.ช.ได้รับข้อร้อง เรียนเกี่ยวกับเรื่องนี้จำนวนมาก ที่มา โพสต์ทูเดย์
“สาทิตย์” ออกประกาศหลักเกณฑ์ “โฉนดชุมชน” แล้ว คุม “คุณสมบัติ” เข้มไม่ถูกต้องเพิกถอน
ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการดำเนินงานโฉนดชุมชน พ.ศ. ๒๕๕๓ เพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน โดยสาระสำคัญคือ จะต้องเป็นชุมชนที่รวมตัวกันไม่น้อยกว่า 3 ปี และเป็นชุมชนที่ได้เข้าครอบครองที่ดินของรัฐเป็นที่อยู่อาศัย หรือทำกินในลักษณะที่ใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐ และต้องเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งมีศักยภาพในการบริหารจัดการที่ดินอย่างเป็นระบบ โดยมีกฎระเบียบที่ชัดเจน มีคณะกรรมการชุมชนกระทำการแทนในนามของชุมชน รายละเอียดเพิ่มเติมที่ ราชกิจจา
กลุ่มอนุรักษ์อุดรฯ บี้ ผู้ว่าฯ ยกเลิกผลการรังวัดเหมืองโปแตช
ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จำนวนกว่า 100 คน ได้เดินทางไปเพื่อขอเข้าพบและยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ในฐานะเจ้าพนักงานแร่ประจำท้องที่ เพื่อคัดค้านกระบวนการการรังวัดปักหมุดเขตเหมืองโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ของเจ้าหน้าที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่หรือ กพร. อันสืบเนื่องจากในช่วงระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม ถึง 1 พฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมานั้น กพร. ทำการปักหมุดรังวัดเพื่อขึ้นรูปแผนที่ขอบเขตพื้นที่เหมือง ขณะเดียวกันนั้นกลุ่มชาวบ้านจึงเข้าทำการขัดขวางซึ่งสร้างความตึงเครียดในพื้นที่เป็นอย่างมากจนหวิดที่จะเกิดการ ปะทะรุนแรงกัน แต่แล้ว กพร. พร้อมบริษัทดำเนินการ (บริษัท เอเชีย แปซิกฟิก โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด) ก็ประกาศว่าสามารถดำเนินการปักหมุดรังวัดจนเสร็จสิ้นทั้งหมด
กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีจึงขอคัดค้านและไม่ยอมรับการปักหมุดรังวัดดังกล่าว เพราะเป็นการดำเนินการที่ขาดความชอบธรรม และขาดการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในพื้นที่ อีกทั้งยังได้สร้างความขัดแย้ง และความแตกแยกอย่างรุนแรงแก่ประชาชนในพื้นที่จนเกือบจะฆ่ากันตาย ซึ่ง กพร.และบริษัทจะต้องรับผิดชอบ จึงขอเรียกร้องให้ยกเลิกผลการรังวัดดังกล่าวให้เป็นโมฆะเสีย เพราะการปักหมุดรังวัดที่เกิดขึ้นนั้นยังไม่ได้มีการเปิดเวทีชี้แจงแผนที่ผังเหมืองในการปักหมุดรังวัดในระดับชุมชน ไม่ได้ถามความคิดเห็นของชาวบ้าน ลักลอบดำเนินการ ผิดขั้นตอนตามกฎหมาย ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 มาตรา 66 และมาตรา 67