ทำความรู้จักตำแหน่ง "ผู้ช่วยรัฐมนตรี" ที่รับค่าตอบแทนห้าหมื่นบาท
ตำแหน่งคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี หรือ "ผู้ช่วยรัฐมนตรี" เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2546 ตาม
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ที่ออกในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โดยมีการตั้ง
ข้อสังเกตว่า ตำแหน่งดังกล่าวมีไว้เพื่อ "บริหารความขัดแย้งทางการเมือง" ภายในพรรค เนื่องจากพรรครัฐบาลอย่างไทยรักไทยมีการดึงดูดคนมากมายเข้ามา แต่ทว่า ตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี รวมถึงตำแหน่งที่ปรึกษาต่างๆ ก็มีอยู่อย่างจำกัด
ตามระเบียบสำนักนายกฯ ปี 2546 ระบุว่า ให้นายกฯ สามารถแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 30 คนเป็นคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีได้ โดยต้องได้รับความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีที่ปฏิบัติงานร่วมกัน จะเรียกว่า คณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี แต่ถ้าปฏิบัติงานแยกกันเรียกว่า “ผู้ช่วยรัฐมนตรี” ทั้งนี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ทำงานมาก่อน เช่น เคยรับราชการ เคยดำรงตำแหน่งทางวิชาการตั้งแต่รองศาสตราจารย์ขึ้นไป เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา เคยทำงานในแวดวงภาคเอกชนระดับไม่ต่ำกว่าผู้ช่วยผู้บริหาร
โดยหน้าที่ของผู้ช่วยรัฐมนตรี คือคอย "ประสานงาน" ตามที่นายกฯ หรือ รมต. มอบหมาย และ "เป็นผู้แทน" รมต. ไปรับฟังเรื่องร้องทุกข์ร้องเรียนจากประชาชน รวมถึงเข้าร่วมประชุมและเจรจาความต่าง ๆ แต่ต้อง "ไม่ก่อให้เกิดพันธะทางกฎหมายผูกมัด รมต.", "ไม่นับเป็นองค์ประชุม" และ "ไม่มีสิทธิออกเสียงลงมติ"
หลังการเลือกตั้ง ปี 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ใช้ตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีในการบริหารจัดการความขัดแย้งทางการเมืองทั้งภายในพรรคและพรรคร่วม เช่น การตั้ง 'สมเกียรติ ศรลัมพ์' หัวหน้าพรรคประชาภิวัฒน์ เป็น ผช.รมต. ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อรอการจัดสรรที่นั่งรัฐมนตรีให้กับโควต้าพรรคเล็กจำนวน 10 พรรค นอกจากนี้ ยังมีการตั้ง ส.ส. ที่สอบตกเข้ามาเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี เช่น ทศพล เพ็งส้ม ผู้สมัคร ส.ส. จังหวัดนนทบุรี พรรคพลังประชารัฐ หรือ ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้สมัคร ส.ส. ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ
แก้กฎหมายให้ "ผู้ช่วยรัฐมนตรี" เป็นข้าราชการการเมือง-มีสิทธิรับบำเหน็จบำนาญ
ในปี 2564 สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนต่อร่างกฎหมายสำคัญสองฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.เงินประจําตําแหน่งฯ และร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการการเมืองฯ โดยสาระสำคัญ คือ การเพิ่มตำแหน่ง "ผู้ช่วยรัฐมนตรี" ให้เป็นข้าราชการการเมืองตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการการเมือง ซึ่งการออกกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลให้เรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรี "เข้มงวดน้อยลง" เพราะไม่มีการกำหนดเรื่องประสบการณ์การทำงานไว้ ส่วนวาระการดำรงตำแหน่ง หน้าที่ อำนาจ และคุณสมบัติเฉพาะของผู้ช่วยรัฐมนตรี จะเป็นไปตามระเบียบที่นายกฯ กำหนด
ทั้งนี้ เมื่อเพิ่มตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีเป็นข้าราชการทางการเมืองจะทำให้ตำแหน่งดังกล่าวได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการเทียบเท่ากับตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่ารักษาพยาบาล อีกทั้งยังทำให้มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญได้ ตาม
พ.ร.บ. บำเหน็จบำนาญข้าราชการ ปี 2494 อีกด้วย
อย่างไรก็ดี ประเด็นสำคัญอีกประการของการเพิ่มตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีมาเป็นข้าราชการทางการเมืองคือ การตรวจสอบ เพราะแต่เดิมตำแหน่งดังกล่าวจะถูกกำกับด้วย "วินัย" ตามระเบียบสำนักนายกฯ แต่เมื่อเป็นข้าราชการทางการเมืองก็จะต้องมีความรับผิดชอบและข้อห้ามต่างๆ มากขึ้น เช่น ห้ามเป็นประธานหรือกรรมการขององค์กร หรือ การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่แต่เดิมก่อนจะมีการออก
พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เมื่อปี 2561 ผู้ช่วยรัฐมนตรีไม่ต้องยื่น แต่ถ้าแก้ให้ตำแหน่งดังกล่าวเป็นข้าราชการทางการเมืองก็จำเป็นต้องยื่นโดยอัตโนมัติ
แก้กฎหมายจ่ายค่าตอบแทน "ผู้ช่วยรัฐมนตรี" ตำแหน่งละห้าหมื่นบาท
จนกระทั่ง มีการเสนอแก้กฎหมายให้เพิ่มตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีให้เป็นข้าราชการการเมือง ดังนั้น จึงต้องมีการแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.เงินเดือนและเงินประจําตําแหน่ง เพื่อกำหนดค่าตอบแทนให้ตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยค่าตอบแทนนั้นแบ่งออกเป็นเงินเดือน 40,000 บาทต่อเดือน และได้เงินประจำตำแหน่ง 10,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับที่เคยกำหนดในระเบียบกระทรวงการคลังเมื่อปี 2557