คณะรัฐมนตรีกำลังจะเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อ โดยเพิ่มสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เพิ่มบทยกเว้นความรับผิดให้เจ้าหน้าที่ ท่ามกลางกระแสข่าวการพยายามนิรโทษกรรมผู้มีอำนาจตัดสินใจเรื่องวัคซีน ซึ่งการเสนอและออกกฎหมายเพื่อยกเว้นความรับผิดเป็นเครื่องมือหลักที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ใช้มาตั้งแต่การทำรัฐประหาร 2557 ในทุกภารกิจที่กำลังให้ความสำคัญ
17 สิงหาคม 2564 รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในการแถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ. โรคติดต่อฉบับแก้ไขเพิ่มเติมตามที่ กระทรวงสาธารณสุขเสนอ สาระสำคัญอยู่ที่การประกาศ "สถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข" เพื่อแยกการจัดการโรคติดต่อในสถานการณ์ปกติออกจากโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง ทำให้สามารถใช้กฎหมายฉบับนี้ในการควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข โดยไม่ต้องอาศัยการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
บีบีซีไทย ซึ่งอ้างว่า ได้เห็นร่างแก้ไขพ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับนี้แล้ว สรุปสาระสำคัญของข้อเสนอชุดนี้ไว้ว่า มีเนื้อหาที่ว่าด้วยการปกป้องเจ้าหน้าที่ของรัฐจากการถูกฟ้องร้องทางปกครองและไม่ต้องชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคในช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข
มาตรา 44/11 มีระบุว่า ข้อกำหนด ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง มาตรการ หรือการกระทำที่คณะกรรมการกำหนดหรือดำเนินการตามหมวดสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขจะไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
เพิ่มข้อความในมาตรา 48 ของ พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 ที่เขียนไว้ว่า "ในการดําเนินการของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามพระราชบัญญัตินี้ หากเกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของบุคคลใดจากการเฝ้าระวัง การป้องกัน หรือการควบคุมโรคให้ทางราชการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่ผู้นั้นตามความจําเป็นการชดเชยความเสียหายตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง" โดยร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. โรคติดต่อให้เติมข้อความว่า "ความในวรรคหนึ่งไม่ใช่บังคับแก่กรณีที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข" ซึ่งเข้าใจได้ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากมาตรการหรือนโยบายใดๆ ที่บังคับใช้ในช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขนั้น รัฐไม่ต้องชดเชย
นพ. ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
เปิดเผยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.ก. ฉบับนี้ว่า ผู้ที่จะได้รับความคุ้มครองโดยไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย ซึ่งครอบคลุมความผิดทางแพ่ง ทางอาญา ความรับผิดชอบทางวินัย และความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ประกอบด้วย บุคลากรทางด้านสาธารณสุข ทั้งผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบโรคศิลปะในแขนงต่างๆ อาสาสมัครต่างๆ ซึ่งข้อเสนอชุดนี้ก็ถูกมองว่าจะเป็นการออกกฎหมาย "นิรโทษกรรมเหมาเข่ง" ให้กับผู้มีอำนาจที่ตัดสินใจเรื่องการบริหารวัคซีนที่ผิดพลาด

เมื่อย้อนดูระบบกฎหมายที่ออกมาภายใต้รัฐบาลที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่การทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 ก็จะเห็นว่า การลัดขั้นตอนออกกฎหมายด้วยอำนาจพิเศษที่ไม่ผ่านสภาจากการเลือกตั้ง พร้อมแถมบท "นิรโทษกรรม" หรือการยกเว้นความรับผิดให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องนั้นเกิดขึ้นบ่อยมาก เกิดขึ้นในทุกกิจกรรมที่รัฐบาลให้ความสำคัญจะต้องผลักดันให้ได้อย่างจริงจัง จนแทบจะกลายเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้วที่ต้องสร้างเกราะคุ้มกันให้เจ้าหน้าที่ก่อน ถึงจะทำงานใหญ่ได้ตามที่รัฐบาลต้องการ
ทันทีที่ คสช. เข้ายึดอำนาจ ก็มาพร้อมกับการ
ใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร นอกจากจะให้ฝ่ายทหาร "มีอำนาจเต็มที่จะตรวจค้น, ที่จะเกณฑ์, ที่จะห้าม, ที่จะยึด, ที่จะเข้าอาศัย, ที่จะทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่, และที่จะขับไล่" แล้วยังมีมาตรา 16 ที่ยกเว้นความรับผิดให้กับฝ่ายทหารแบบเต็มๆ โดยกำหนดว่า "ความเสียหายซึ่งอาจบังเกิดขึ้นอย่างหนึ่งอย่างใด ในเรื่องอำนาจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ... บุคคลหรือบริษัทใดๆ จะร้องขอค่าเสียหายหรือค่าปรับอย่างหนึ่งอย่างใด แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่ได้เลย ..."
22 กรกฎาคม 2557 เมื่อ คสช. ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ชั่วคราว 2557 ก็เขียนยกเว้นความรับผิดให้ตัวเองและพวกพ้องแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไว้ในมาตรา 48 ว่า
"มาตรา 48 บรรดาการกระทําทั้งหลายซึ่งได้กระทําเนื่องในการยึดและควบคุมอํานาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ของหัวหน้าและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมทั้งการกระทําของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําดังกล่าวหรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือของผู้ซึ่งได้รับคําสั่งจากผู้ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อันได้กระทําไปเพื่อการดังกล่าวข้างต้นนั้น การกระทําดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ว่าจะเป็นการกระทําเพื่อให้มีผลบังคับในทางรัฐธรรมนูญ ในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ รวมทั้งการลงโทษและการกระทําอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่ากระทําในฐานะตัวการผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทํา หรือผู้ถูกใช้ให้กระทํา และไม่ว่ากระทําในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทํานั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทําพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง"
และเมื่อ คสช. ลงมือร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ด้วยตัวเองพร้อมกับผลักดันให้ประกาศใช้ออกมาจนสำเร็จ ก็มีมาตรา 279 เขียนยกเว้นความรับผิดให้ตัวเอง ทั้งในอดีตและอนาคตว่า
"มาตรา 279 บรรดาประกาศ คําสั่ง และการกระทําของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ หรือที่จะออกใช้บังคับต่อไปตามมาตรา 265 วรรคสอง ไม่ว่าเป็นประกาศ คําสั่ง หรือการกระทําที่มีผลใช้บังคับในทางรัฐธรรมนูญ ทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร หรือทางตุลาการ ให้ประกาศ คําสั่ง การกระทําตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศคําสั่ง หรือการกระทํานั้น เป็นประกาศ คําสั่ง การกระทํา หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย และมีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมประกาศหรือคําสั่งดังกล่าว ให้กระทําเป็นพระราชบัญญัติ เว้นแต่ประกาศหรือคําสั่งที่มีลักษณะเป็นการใช้อํานาจทางบริหาร การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมให้กระทําโดยคําสั่งนายกรัฐมนตรีหรือมติคณะรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี
บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2558 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2559 ว่าเป็นการชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย รวมทั้งการกระทําที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าว ให้ถือว่าการนั้นและการกระทํานั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย"
ระหว่างทางการใช้อำนาจ คสช. ก็ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.
อย่างน้อยห้าฉบับ ที่ให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่รัฐเพิ่มขึ้น และจำกัดความรับผิดเอาไว้ด้วย
คำสั่งหัวหน้า คสช. สามฉบับที่ให้อำนาจกับทหารในการจับกุมดำเนินคดีบุคคลที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของ คสช. ได้แก่
ฉบับที่ 3/2558,
ฉบับที่ 13/2559 และ
ฉบับที่ 5/2560 แม้จะออกมาในเวลาห่างกันแต่ก็เขียนเรื่องการยกเว้นความรับผิดของเจ้าหน้าที่ไว้ด้วยเทคนิคเดียวกัน คือ เขียนแบบไม่เห็นชัดเจนตรงไปตรงมา แต่อ้างอิงกับหลักการยกเว้นความผิดผิดใน มาตรา 16 และ 17 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือ "พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ" ซึ่งเขียนไว้ว่า
"มาตรา 17 พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย หากเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่"
นอกจากนี้
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 10/2558 ที่จัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย ก็เขียนให้เจ้าหน้าท่ีที่ทำไปโดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่เกินสมควรแก่เหตุ ย่อมได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย และ
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 41/2559 ที่ให้อำนาจ กสทช. เข้ามากำกับเนื้อหาและสั่งปิดสื่อได้กว้างขวางขึ้นก็ยังมีข้อกำหนดยกเว้นความรับผิดทำนองเดียวกัน
ต่อมาเมื่อมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่ทางรัฐบาลมี
พ.ร.บ.โรคติดต่อ อยู่ในมือเป็นหลักอยู่แล้ว ก็ยังเลือก
ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และประกาศให้อำนาจของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ครอบคลุมกฎหมายอื่นๆ ไปด้วย และจากการต่ออายุการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปเรื่อยๆ เป็นเวลากว่าหนึ่งปีครึ่งแล้วก็ทำให้เห็นว่าเกราะคุ้มกันชิ้นนี้ยังจำเป็นเสมอสำหรับการทำงานภายใต้ผู้นำอย่างพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
แต่แม้จะอยู่ภายใต้อำนาจของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด19 ได้ ในทางตรงกันข้ามสถานการณ์โรคระบาดกับหนักขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศ สิ่งที่รัฐบาลภายใต้ผู้นำคนเดิมพยายามจะนำเสนอจึงยังหนีไม้พ้นเครื่องมือแบบเดิมๆ คือ การสร้างเกราะคุ้มกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ทั้งระดับปฏิบัติและระดับนโยบายต้องรับผิด หวังว่าจะทำให้การทำงานของหน่วยงานรัฐสะดวกและรวดเร็วได้มากขึ้น
เส้นทางของการแก้ไขพ.ร.บ.โรคติดต่อ หรือการออกพระราชกำหนดฉบับใหม่ยังเดินต่อไป ไม่มีใครมองเห็นอนาคตว่า การต่อสู้กับโรคระบาดชนิดนี้จะเดินหน้าไปอย่างไรและจบลงที่ใด แต่การใช้เครื่องมือซ้ำๆ ด้วยการนิรโทษกรรมโดยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ก็กำลังจะทำให้สิ่งที่ "ผิดหลักการ" กลายเป็นเครื่องมือปกติไปเสียแล้ว