ชื่อของมหาเถรสมาคม กลับมามีบทบาทในหน้าสื่ออีกครั้ง เมื่อมีรายงานข่าวว่าสำนักพระพุทธศาสนา (พศ.) แถลงผลการประชุมมส. ปลดสามเจ้าคณะจังหวัด ได้แก่ พระราชปริยัติสุนทร เจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา พระเทพสารเมธี เจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ และพระธรรมรัตนาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี จนนำไปสู่ความไม่พอใจของประชาชนชาวกาฬสินธุ์รวมถึงชาวปทุมธานี ถึงขั้นรวมตัวกันลงชื่อคัดค้านคำสั่งมส. ที่ปลดเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ จนยอดผู้ร่วมลงชื่อทะลุเกินกว่าแสนคน ด้านลูกศิษย์ของเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ก็นำรายชื่อหนึ่งแสนรายชื่อยื่นทูลเกล้าถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานความเป็นธรรมให้กับพระธรรมรัตนาภรณ์ พร้อมกับนำหนังสือขอให้ระงับคำสั่งถอดถอนเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ยื่นต่อกรรมการมหาเถรสมาคม
เชื้อเพลิงจากปมปลดสามเจ้าคณะจังหวัดยังไม่ทันมอด ชื่อของมหาเถรสมาคมก็กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง เมื่อมีรายงานว่า สมเด็จพระสังฆราช ทรงลงพระนามในคำสั่งมหาเถรสมาคมที่ 1/2564 เรื่อง กรณีพระภิกษุสามเณรเรียนวิชา หรือสอบแข่งขัน หรือสอบคัดเลือกอย่างคฤหัสถ์ พ.ศ. 2564 ห้ามพระภิกษุสามเณรสอบแข่งขัน หรือสอบคัดเลือก เพื่อเข้ารับราชการ หรือทำงาน ในหน่วยงานของรัฐ เว้นแต่กรณีเข้ารับคัดเลือกเป็นบุคลากรในสถานศึกษาของสงฆ์
รศ.อานนท์ มาเม้า อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์
โพสต์เฟซบุ๊กตั้งข้อสังเกตต่อคำสั่งดังกล่าวว่าจุดมุ่งหมายที่แท้จริงจะห้ามภิกษุสามเณรเรียนวิชาอย่างคฤหัสถ์ หรือจะจำกัดการเรียนการสอนไว้เฉพาะมหาวิทยาลัยสงฆ์ เพราะมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ก็มีภาควิชานิติศาสตร์ อันศึกษาวิชาอย่างคฤหัสถ์เช่นเดียวกัน
จากทั้งสองเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน มีจุดร่วม คือ องค์กรผู้ใช้อำนาจเป็น “มหาเถรสมาคม” (มส.) องค์กรปกครองฝ่ายสงฆ์ในประเทศไทย ที่มีอำนาจทั้งในด้านการจัดระเบียบคณะสงฆ์ ปลดเจ้าคณะจังหวัด รวมไปถึงการออกคำสั่งเพื่อให้คณะสงฆ์ปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน
ในทางกฎหมาย มส. จัดตั้งขึ้นและมีอำนาจหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 (พ.ร.บ.คณะสงฆ์) ซึ่งผ่านการแก้ไขมาแล้วสี่ครั้ง สองครั้งล่าสุดเป็นการแก้ไขในยุค คสช. มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มาจากการแต่งตั้ง ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณาผ่านกฎหมาย
พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง “มหาเถรสมาคม”
พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ซึ่งผ่านการแก้ไขมาแล้วสี่ครั้ง กำหนดโครงสร้างของมหาเถรสมาคม ประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานกรรมการ และกรรมการอื่นอีกไม่เกิน 20 รูป ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติทำหน้าที่สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม
กรรมการมหาเถรสมาคม ล้วนมีที่มาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเป็นประธานกรรมการมหาเถรสมาคม มาจากการสถาปนาโดยพระมหากษัตริย์ มีนายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ นอกจากบทบาทในการเป็นประธานกรรมการมหาเถรสมาคม สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ และทรงตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชโดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัยและกฎมหาเถรสมาคม
“มาตรา 7 พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง และให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ”
“มาตรา 8 สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ และทรงตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชโดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัยและกฎมหาเถรสมาคม”
ขณะที่กรรมการอื่นอีกไม่เกิน 20 รูป พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ หรือพระภิกษุซึ่งมีพรรษาอันสมควร และมีจริยวัตรในพระธรรมวินัยที่เหมาะสมแก่การปกครองคณะสงฆ์ กรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี และอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้
“มาตรา 12 มหาเถรสมาคมประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราชซึ่งทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นอีกไม่เกินยี่สิบรูปซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ หรือพระภิกษุซึ่งมีพรรษาอันสมควร และมีจริยวัตรในพระธรรมวินัยที่เหมาะสมแก่การปกครองคณะสงฆ์”
“มาตรา 14 กรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี และอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้”
นอกจากพระมหากษัตริย์จะมีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม ยังทรงมีพระราชอำนาจประกาศพระบรมราชโองการให้กรรมการมหาเถรสมาคมออกจากตำแหน่ง แต่กรรมการมหาเถรสมาคมอาจพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับพระบรมราชโองการก็ได้ ได้แก่ มรณภาพ พ้นจากความเป็นพระภิกษุ และลาออก
ภายหลังจากการประกาศใช้
พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 ที่ผ่านการพิจารณาโดยสนช. 14 ตุลาคม 2562 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม โดยเนื้อความคือพระมหากษัตริย์ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม 20 รูป โดยอาศัยอำนาจจากพ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 โดยพระภิกษุซึ่งพระมหากษัตริย์แต่งตั้งให้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมนั้น ล้วนสังกัดวัดที่อยู่ภายในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร
เปิดอำนาจมหาเถรสมาคม ปกครองคณะสงฆ์ ออกกฎ ข้อบังคับ คำสั่งได้ เท่าที่ไม่ขัดกฎหมายและธรรมวินัย
พ.ร.บ.คณะสงฆ์ มาตรา 15 ตรี กำหนดอำนาจหน้าที่ของมหาเถรสมาคมไว้
1. ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงาม โดยการจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม
2. ปกครองและกำหนดการบรรพชาสามเณร
3. ควบคุมและส่งเสริมการศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่ การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์
4. รักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา
5. ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น
เพื่อการดำเนินการให้ลุล่วงไปได้ตามอำนาจที่กฎหมายกำหนด มหาเถรสมาคมมีอำนาจตรากฎมหาเถรสมาคม ออกข้อบังคับ วางระเบียบ ออกคำสั่ง มีมติหรือออกประกาศ โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายและพระธรรมวินัยใช้บังคับได้ และจะมอบให้พระภิกษุรูปใดหรือคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการเป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่ทั้งห้าประการข้างต้นก็ได้
นอกจากอำนาจทั้งห้าประการข้างต้น มาตรา 15 จัตวา กำหนดว่า มหาเถรสมาคมยังมีอำนาจตรากฎมหาเถรสมาคม เพื่อกำหนดโทษหรือวิธีลงโทษทางการปกครอง สำหรับพระภิกษุและสามเณรที่ประพฤติให้เกิดความเสียหายแก่พระศาสนาและการปกครองของคณะสงฆ์ เพื่อรักษาหลักพระธรรมวินัยและเพื่อความเรียบร้อยดีงามของคณะสงฆ์
ย้อนดูความเปลี่ยนแปลง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ จากปี 2505 สู่การเปลี่ยนแปลงในยุคคสช.
พ.ร.บ.คณะสงฆ์ เดิมกำหนดบทบาทของพระมหากษัตริย์ไว้เพียงแต่เป็นผู้สถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ตามมาตรา 7 ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชจะมีตำแหน่ง “สกลมหาสังฆปริณายก” เป็นผู้บัญชาคณะสงฆ์ และสามารถตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช แต่ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม อีกทั้งสมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคม
ต่อมาพ.ร.บ.คณะสงฆ์ ถูกแก้ไขครั้งแรก โดยการออก
พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 กำหนดให้ พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช แต่ขยายความเพิ่มเติมว่า กรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกฯ เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้พระมหากษัตริย์สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช เท่ากับเปิดช่องให้ฝ่ายการเมืองเข้ามามีบทบาทสำคัญ ส่วนพระมหากษัตริย์จะมีบทบาทสถาปนาตามแบบพิธีเท่านั้น
นอกจากนี้ในการแก้ไขครั้งแรก ยังขยายพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เกี่ยวกับคณะสงฆ์ออกไปอีกสองกรณี
หนึ่ง กรณีที่สมเด็จพระสังฆราชทรงลาออกจากตำแหน่งหรือพระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดให้ออกจากตำแหน่ง พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของสมเด็จพระสังฆราชหรือตำแหน่งอื่นใดตามพระราชอัธยาศัยก็ได้
สอง พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งสถาปนาและถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์ ซึ่งไม่ใช่แค่การแต่งตั้งพระสงฆ์ระดับพระสังฆราช แต่รวมถึงพระสงฆ์อื่นๆ ที่อยู่ภายใต้คณะสงฆ์ด้วย
การแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.คณะสงฆ์ครั้งที่สอง ทำโดยการออก
พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 พ.ศ. 2547 ลงนามโดยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี โดยเป็นการแก้ไขเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชในกรณีที่ไม่มีสมเด็จพระสังฆราช และผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชในกรณีที่สมเด็จพระสังฆราชไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือไม่อาจทรงปฏิบัติหน้าที่ได้ ซึ่งเดิมพ.ร.บ.คณะสงฆ์กำหนดรูปแบบของผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชหรือปฏิบัติหน้าที่แทน เป็นรายบุคคลเท่านั้น โดยอาจเลือกจากสมเด็จพระราชาคณะ “รูปใดรูปหนึ่ง” แต่ในการแก้ไขครั้งที่สอง กำหนดให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช สามารถแต่งตั้งขึ้นมาเป็นรายบุคคลหรือองค์คณะก็ได้ โดยอาจเลือกจากสมเด็จพระราชาคณะหลายรูป
การแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่สาม เกิดขึ้นในยุคของ คสช. โดย
พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 ริเริ่มเมื่อ 29 ธันวาคม 2559 สมาชิก สนช. จำนวน 81 คน นำโดย พล.ต.อ.พิชิต ควรเดชะคุปต์ เสนอแก้ไขประเด็นการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช ในมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ให้ “พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง และให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ” (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริบทในการแก้ไขพ.ร.บ.คณะสงฆ์ในยุคคสช.ได้ที่
https://ilaw.or.th/node/4873)
การแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่สี่ เกิดขึ้นหนึ่งปีกว่าให้หลัง ในยุคของคสช. อีกเช่นกัน โดย
พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 ริเริ่มเมื่อ 5 กรกฎาคม 2561 คณะรัฐมนตรีได้เสนอร่างพ.ร.บ.คณะสงฆ์ให้ สนช. พิจารณาเห็นชอบ ประเด็นสำคัญของการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งนี้ คือ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมได้ โดยปรากฎอยู่ในมาตรา 5 ตรี ที่ระบุว่า “... พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้งสถาปนา และถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์ และแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม” ซึ่งตามกฎหมายเดิมกรรมการมหาเถรสมาคมมีที่มาจากสองส่วน คือ มาจากพระสงฆ์ซึ่งมีสมณศักดิ์ “สมเด็จพระราชาคณะ” ทุกรูป และมาจากการพระสงฆ์ซึ่งมีสมณศักดิ์ “พระราชาคณะ” จำนวน 12 รูป โดยสมเด็จพระสังฆราชเป็นผู้แต่งตั้ง
พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉบับนี้ ได้เปลี่ยนองค์ประกอบของมหาเถรสมาคมใหม่ ซึ่งปรากฎในมาตรา 12 ระบุว่า “มหาเถรสมาคมประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นอีกไม่เกิน 20 รูป ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ หรือพระภิกษุซึ่งมีพรรษาอันสมควรและมีจริยวัตรในพระธรรมวินัยที่เหมาะสมแก่การปกครองคณะสงฆ์”
การแก้ไของค์ประกอบกรรมการมหาเถรสมาคมครั้งนี้จะทำให้พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจในการแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเลือกจากพระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์เท่านั้น