พล.อ.ประยุทธ์ เสี่ยง "แพ้โหวตในสภา" หลังก๊วนธรรมนัสย้ายค่าย

พล.อ.ประยุทธ์ เสี่ยง "แพ้โหวตในสภา" หลังก๊วนธรรมนัสย้ายค่าย

เมื่อ 20 ม.ค. 2565
จากกรณีที่กรรมการบริหารพรรคพลังพลังประชารัฐ รวมทั้ง ส.ส.พรรค ทั้งหมด 78 เสียง มีมติขับ ร.อ.ธรรมนัส และพวกรวมทั้งหมด 21 คน ออกจากพรรค ผลที่จะตามมา คือ จำนวน ส.ส. ในพรรคพลังประชารัฐจะลดลงครั้งใหญ่ ถ้าหากทั้ง 21 คนยังคงสนับสนุนรัฐบาลเพียงแต่ย้ายไปอยู่พรรคใหม่ในชื่ออื่น ก็อาจกระทบต่อความอยู่รอดไม่มาก แต่ถ้าหาก 21 เสียงนี้พร้อมต่อรอง โดยการลงมติสวนรัฐบาลบ้าง เสียงฝ่ายรัฐบาลอาจจะมีสภาวะ "ปริ่มน้ำ" หรือมีเสียงสนับสนุนในสภาเกินกึ่งหนึ่งมาเพียงเล็กน้อย 
 
สภาวะแบบนี้อาจจะส่งผลให้รัฐบาลพ่ายแพ้ในการลงมติสำคัญๆ ที่อาจเกิดขึ้นข้างหน้า เช่น ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเรื่องกติกาการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า รวมทั้งปรากฏการณ์ "สภาล่ม" เพราะมี ส.ส. เข้าประชุมไม่ถึงครึ่งก็อาจเกิดขึ้นได้บ่อยขึ้น เมื่อเสียงที่จะช่วย "แบก" รัฐบาลนี้มีน้อยลง
 
 
จากการตรวจสอบข้อมูลจำนวน ส.ส. ตั้งแต่หลังการเลือกตั้งซ่อมเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2565 คาดว่า น่าจะมี ส.ส. ในสภา 476 คน  โดยแบ่งเป็น
 
๐ ส.ส.พรรครัฐบาล 246 คน (+6 คน) ได้แก่
  • พลังประชารัฐ 94 (ไม่นับก๊วนธรรมนัสแล้ว)
  • ภูมิใจไทย 59
  • ประชาธิปัตย์ 51
  • ชาติไทยพัฒนา 12
  • เศรษฐกิจใหม่ 5
  • รวมพลังประชาชาติไทย 5
  • พลังท้องถิ่นไท 5
  • ชาติพัฒนา 4
  • รักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2
  • ครูไทยเพื่อประชาชน 1
  • ไทรักธรรม 1
  • ประชาธรรมไทย 1
  • ประชาธิปไตยใหม่ 1
  • ประชาภิวัฒน์ 1
  • พลเมืองไทย 1
  • พลังชาติไทย 1
  • พลังธรรมใหม่ 1
  • พลังเพื่อชาติไทย 1
  • ก้าวไกล (งูเห่า) 5
  • ประชาชาติ (งูเห่า) 1 
 
๐ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน 203 คน
  • เพื่อไทย 131
  • ก้าวไกล 47
  • เสรีรวมไทย 10
  • ประชาชาติ 6
  • เพื่อชาติ 6
  • เศรษฐกิจใหม่ 1
  • ไทยศรีวิไลย์ 1 
  • พลังปวงชนไทย 1 
๐ ส.ส.ก๊วนธรรมนัส 21 คน
 
ทั้งนี้ เนื่องจากตามรัฐธรรมกำหนดให้การลงมติสำคัญ อาทิ การลงมติผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณฯ ต้องใช้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของสภา ดังนั้น ถ้าหากจำนวน ส.ส. ในสภา อยู่ที่ 476 เสียง เสียงกึ่งหนึ่งของสภาจึงเท่ากับ 238 เสียง แต่ทว่า รัฐบาลมีเสียง ส.ส. ที่สังกัดพรรครัฐบาลเพียง 246 เสียง หรือมากกว่ากึ่งหนึ่งเพียงแค่ 8 เสียง เท่านั้น 
 
แม้จำนวนที่มีอยู่ยังเพียงพอให้กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐกล้าตัดสินใจเขี่ย 21 ส.ส.ก๊วนธรรมนัสออกในทันที แต่ก็เท่ากับ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลที่เหลืออยู่มีภาระมากขึ้นที่จะต้องเข้าประชุมและลงมติทุกนัดโดยไม่ขาด ไม่มีงูเห่า และ "เสียงไม่แตก" เพื่อประคองรัฐบาลนี้ให้ยังบริหารประเทศและพิจารณาผ่านกฎหมายต่อไปได้
 
อย่างไรก็ดี แม้ในทางกฎหมายจะไม่ได้ระบุให้นายกฯ ต้องลาออก หรือ ยุบสภา หลังการแพ้โหวตในสภา แต่การแพ้โหวตในสภาเป็นสัญญาณว่า รัฐบาลไม่ได้รับความไว้วางใจจากสภา ซึ่งจะส่งผลให้การขับเคลื่อนกฎหมายผ่านสภาไม่ประสบผลสำเร็จ รวมถึงอาจจะถูก ส.ส. ลงมติไม่ไว้วางใจจนต้องพ้นจากตำแหน่ง 
 
หลังการสูญเสียจำนวน ส.ส. ในมือมากที่สุดในรอบนี้ ทางเลือกของ นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการแก้ปัญหาความไม่ไว้วางใจของสภา จึงมีสองทางเลือก คือ ลาออก เพื่อให้สภาลงมติเลือกบุคคลที่ไว้วางใจคนใหม่มาดำรงตำแหน่งนายกฯ กับ การยุบสภา คืน อำนาจให้ประชาชนตัดสินใจใหม่ว่าจะสนับสนุนใครเป็นรัฐบาล