ตามคำสั่งศาลอาญากรุงเทพใต้และศาลอยุธยา “รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล” แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จะมีอิสรภาพเพียงแค่ชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ถึง 12 มกราคม2565 หลังเธอได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวมาเพื่อทำการสอบปลายภาค แล้วหลังจากนั้น เธออาจจะต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำต่อ ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
นอกจากการให้อิสรภาพเพียงชั่วคราวแล้ว ศาลยังกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวไว้ 5 ข้อ ได้แก่
ห้ามจำเลยทำกิจกรรมหรือก่อเหตุที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
ห้ามจำเลยเข้าร่วมชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
ห้ามจำเลยออกนอกเคหสถานตลอดเวลา เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเพื่อการรักษาพยาบาล ไปเรียนไปสอบ ไปติดต่อราชการที่ศาลอื่น หรือมีเหตุอื่นโดยได้รับอนุญาตจากศาล
ห้ามจำเลยออกนอกราชอาณาจักร
ให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM)
กล่าวคือ นอกจากจำกัดการแสดงออกทางการเมือง รุ้ง-ปนัสยา ยังถูกจำกัดการใช้ชีวิตภายใต้อิสรภาพที่มีอยู่อย่างจำกัด และมันก็สร้างอุปสรรคในการจัดการชีวิต ทั้งในบทบาทของนักศึกษา บทบาทของลูก และบทบาทของเพื่อน แต่แม้ว่าอิสรภาพของเธอจะกำลังนับถอยหลัง แต่รุ้งก็ยังคงมี “ความฝัน” ว่า เมืองไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น ด้วย “ความหวัง” ว่าประชาชนทุกคนจะร่วมมือกันเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง