จับตาวาระหนึ่งการแก้ไขร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส. และ ร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง ปี 2565

จับตาวาระหนึ่งการแก้ไขร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส. และ ร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง ปี 2565

เมื่อ 24 ก.พ. 2565
ไฟล์แนบขนาดไฟล์
ร่าง พรป พรรคการเมือง (ครม.)13.57 MB
ร่าง พรป พรรคการเมือง (พลังประชารัฐ โดย วิเชียร ชวลิต)1.05 MB
ร่าง พรป พรรคการเมือง (พลังประชารัฐ โดย อนันต์ ผลอำนวย)994.52 KB
ร่าง พรป พรรคการเมือง (เพื่อไทย)1.17 MB
ร่าง พรป พรรคการเมือง (ก้าวไกล)1.37 MB
ร่าง พรป พรรคการเมือง (ประชาชาติ)1.15 MB
ร่าง พรป ส.ส. (ครม.)2.53 MB
ร่าง พรป ส.ส. (พลังประชารัฐ โดย วิเชียร ชวลิต)1.2 MB
ร่าง พรป ส.ส. (เพื่อไทย)1.36 MB
ร่าง พรป ส.ส. (ก้าวไกล)1.18 MB

ในวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีนัดพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญสองฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส.) ซึ่งมีการเสนอรวมกันสี่ฉบับประกอบด้วย ร่างรัฐบาล, ร่างพรรคพลังประชารัฐ ร่างพรรคเพื่อไทย และร่างพรรคก้าวไกล และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง) ซึ่งมีการเสนอรวมกันหกฉบับ ประกอบด้วย ร่างรัฐบาล, ร่างพรรคพลังประชารัฐ 2 ฉบับ, ร่างพรรคเพื่อไทย ร่างพรรคก้าวไกล และร่างพรรคประชาชาติ

 

ร่างกฎหมายลูกทั้งการเลือกตั้ง ส.ส. และพรรคการเมือง จะเป็นกติกาสำคัญในการเลือกตั้งครั้งถัดไปที่จะชี้ชะตารัฐบาลสืบทอดอำนาจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จากนี้ไปคือสามประเด็นสำคัญที่ควรรู้ก่อนพิจารณาร่างกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งส.ส. และพรรคการเมือง


1. แก้รัฐธรรมนูญ “บัตรสองใบ” จุดเริ่มต้นสู่การแก้ไขกฎหมายลูกเลือกตั้ง

การพิจารณาร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. และร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง ครั้งนี้อาจจะเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะนำไปสู่การยุบสภาเพื่อเลือกตั้งทั่วไปภายใต้กติกาใหม่ โดยจุดเริ่มต้นของการพิจารณากฎหมายดังกล่าว สืบเนื่องมาจากเมื่อปี 2564 รัฐสภาซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมในวาระสาม ก่อนจะประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564 ซึ่งมีสาระสำคัญคือ

1) เปลี่ยนสัดส่วนจำนวน ส.ส.เขต ต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากเดิม 350 : 150 มาเป็น 400 : 100
2) เปลี่ยนบัตรเลือกตั้งจากใบเดียว เป็นสองใบ คือ บัตรเลือก ส.ส.เขต และบัตรเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ
3) เปลี่ยนวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ ให้เหมือนกับ รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ที่คำนวณเป็นสัดส่วนตามคะแนนที่ได้พรรคได้รับ

แน่นอนว่าการแก้ไขกฎหมายลูกทั้งสองฉบับเบื้องต้นคือ การแก้กติกาให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับจำนวนเขตเลือกตั้ง บัตรเลือกตั้ง การคำนวณที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองต่างๆ ก็ถือโอกาสนี้แก้ไขประเด็นอื่นในกฎหมายทั้งสองฉบับ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ขัดขวางพัฒนาการทางการเมืองของประเทศไทย

2. เส้นทางการร่างกฎหมายอาจลากยาวถึง 235 วัน

ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 132 กำหนดให้การเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (ร่างพ.ร.ป.) ต้องเสนอต่อรัฐสภา โดยช่องทางการเสนอร่างพ.ร.ป. มีเพียงสองช่องทาง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 131 คือ 

1) “คณะรัฐมนตรี” เสนอโดยข้อเสนอแนะของศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง 
2) “ส.ส.” จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร 

ผู้ที่ทำการพิจารณาร่างพ.ร.ป. คือ "รัฐสภา" ที่ประกอบไปด้วย ส.ส. และ ส.ว. ทั้งนี้ ส.ว.ชุดปัจจุบันที่จะทำการพิจารณาร่างกฎหมายลูกเกี่ยวกับเลือกตั้งทั้งสองฉบับดังกล่าว คือ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะ 

ขั้นตอนหลังจากที่ ครม. หรือ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 เสนอร่างกฎหมายมายังรัฐสภาแล้ว คือการลงมติให้ความเห็นชอบกฎหมายดังกล่าว ทั้งนี้ รัฐสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน มิเช่นนั้นจะถือว่า รัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายที่ได้ถูกเสนอมา และการลงมติในวาระที่สามต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของรัฐสภา

หลังรัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.ป.แล้ว  จะต้องส่งร่างพ.ร.ป. ไปยังศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง (กรณีของร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. และร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องคือ กกต.) เพื่อให้ความเห็นภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันที่รัฐสภาเห็นชอบ กรณีที่ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง ไม่มีข้อทักท้วงภายใน 10 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างดังกล่าว ให้รัฐสภาดําเนินการส่งร่างพ.ร.ป. ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมาย

แต่ในกรณีที่ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง เห็นว่าร่างกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา มีข้อความใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือทําให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้ ให้เสนอความเห็นไปยังรัฐสภา และให้รัฐสภาประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นดังกล่าว ทั้งนี้ รัฐสภามีอํานาจแก้ไขเพิ่มเติมตามข้อเสนอของศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระตามที่เห็นสมควรได้ และเมื่อดําเนินการเสร็จแล้ว ให้รัฐสภาดําเนินการส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ

ดังนั้น ขั้นตอนการพิจารณาร่างพ.ร.ป. ถ้าเป็นกรณีที่ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง ทักท้วงเนื้อหาร่างพ.ร.ป. และรัฐสภาต้องประชุมร่วมกันอีก รัฐสภาใช้เวลาในการพิจารณาเต็มเงื่อนไขเวลาอย่างช้าที่สุดไม่เกิน 235 วัน หรือประมาณเจ็ดเดือนกว่าๆ จะทำให้การแก้ไขกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งสองฉบับอาจจะลากไปเดือนตุลาคม 2565 จึงจะสามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ 
 

3. ประเด็นสำคัญในร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ

การแก้ไขร่างกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งสองฉบับทำให้เห็นความตั้งใจที่แตกต่างกันระหว่างส.ส. พรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล แน่นอนว่าการแก้ไขในประเด็นพื้นฐานที่เกี่ยวเนื่องกับจำนวนเขตเลือกตั้ง บัตรเลือกตั้ง และวิธีการคำนวณที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ คือพื้นฐานในการแก้ไข ดังจะเห็นได้ว่าร่างกฎหมายลูกของรัฐบาลที่เสนอแนะโดย กกต. จะจำกัดประเด็นในการแก้ไขเพียงไม่กี่ประเด็น

ขณะที่ร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง ซึ่งเสนอโดยฝ่ายนิติบัญญัติทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน มีจุดร่วมที่เหมือนกันในประเด็นทางเทคนิคที่ทำให้การบริหารจัดการพรรคยากยิ่งขึ้น เช่น การยกเลิกทุนประเดิมตั้งพรรคการเมือง 1,000,000 บาท การลดค่าทำเนียบบำรุงพรรครายปี และลดหรือยกเลิกค่าสมาชิกพรรคตลอดชีพที่สูงเกินไป รวมทั้งแก้ไขการตั้งตัวแทนพรรคประจำจังหวัดที่แก้ไขให้ใช้เขตจังหวัดแทนเขตเลือกตั้ง 

สำหรับการแก้ไขร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง ดูเหมือนพรรคเพื่อไทยจะให้ความใส่ใจมากเป็นพิเศษ โดยมีการเสนอแก้ไขในประเด็นการครอบงำพรรคการเมืองจากคนนอก เพื่อลดเงื่อนไขทางกฎหมายในการยุบพรรคการเมือง อย่างไรก็ตามประเด็นนี้นับว่าเป็นเรื่องอ่อนไหวสำหรับฝ่ายรัฐบาลและส.ว.ที่ต้องการใช้สิ่งนี้ในการทำลายพรรคการเมือง จนทำให้ ส.ว.บางรายประกาศจะไม่รับร่างพ.ร.ป.พรรคการเมืองของพรรคเพื่อไทย
 

 
ส่วนร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. ก็มีการนำเสนอที่แตกต่างกันในประเด็นหมายเลขผู้สมัคร ร่างของครม.และร่างของพรรคร่วมรัฐบาลเสนอให้หมายเลขผู้สมัคร ส.ส. ทั้งแบบบัญชีรายชื่อและเขต ไม่ต้องเหมือนกันก็ได้ ขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทยและก้าวไกล เสนอให้ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อและเขต ใช้หมายเลขเดียวกันทั่วทั้งประเทศ

อีกส่วนสำคัญคือการคิดที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ที่ร่างพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. ของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยจะเปิดโอกาสให้พรรคขนาดเล็กเข้ามาในสภาในฐานะ ส.ส.ปัดเศษ ซึ่งแตกต่างจากร่างของพรรคพลังประชารัฐและพรรคก้าวไกล นอกจากนี้ในร่างของพรรคก้าวไกล ยังมีประเด็นที่น่าสนใจคือ การเพิ่มอำนาจในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเลือกตั้งให้ชัดเจนขึ้น เช่น การห้ามขัดขวางการบันทึกหรือเผยแพร่การนับคะแนนของประชาชน การยกเลิกบทบัญญัติที่ให้กกต. กำหนดจำนวนและรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ช่วยหาเสียงให้กับผู้สมัคร ส.ส. และการให้ กกต. รายงานผลการเลือกตั้งในรูปอิเล็กทรอนิกส์ด้วย