คณะรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญหอบ 70,500 รายชื่อยื่นสภา เสนอ #แก้รัฐธรรมนูญ ปิดสวิตช์ส.ว. เลือกนายกฯ

คณะรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญหอบ 70,500 รายชื่อยื่นสภา เสนอ #แก้รัฐธรรมนูญ ปิดสวิตช์ส.ว. เลือกนายกฯ

เมื่อ 22 ก.พ. 2565
22 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 13.30 น. ที่รัฐสภา เกียกกาย คณะรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 นำโดย รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร นักวิชาการและอดีตกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ณัฏฐา มหัทธนา นักเคลื่อนไหวด้านการเมือง  และบุญส่ง ชเลธร รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ สถาบันรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ยื่นรายชื่อประชาชนที่ร่วมเข้าชื่อเสนอ #แก้รัฐธรรมนูญ ปิดสวิตช์ ส.ว.เลือกนายกฯ จำนวน 70,500 รายชื่อ ต่อผ่องศรี ธาราภูมิ คณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร 
 
 
 
 
 
 
ในการรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมครั้งนี้ เสนอยกเลิกเพียงมาตราเดียว คือ มาตรา 272 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดบทเฉพาะกาล ให้อำนาจส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง 250 คน ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยในระยะห้าปีแรกหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ เป็นข้อยกเว้นจากหลักการปกติที่อำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 159 กำหนด
 
ตั้งแต่วันที่  10 มกราคม 2565 นับเวลาเพียงเดือนเดียวที่มีการเปิดให้ลงชื่อเพื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญ ผ่านทางเว็บไซต์ www.nosenatevote.net ทางคณะรณรงค์สามารถรวบรวมรายชื่อได้ 70,500 รายชื่อ ซึ่งเกินกว่าเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญไว้ว่าหากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อเสนอ #แก้รัฐธรรมนูญ  ต้องใช้ 50,000 ชื่อ ทั้งนี้ เว็บไซต์ดังกล่าวจะยังคงเปิดให้ลงชื่อต่อไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อสภาแล้ว โดยบุญส่ง ชเลธร และสมชัย ศรีสุทธิยากร ได้กล่าวเชิญชวนให้ประชาชนสามารถเข้าไปลงชื่อได้เหมือนเดิม ซึ่งตอนนี้มีผู้ร่วมลงชื่อ 80,000 กว่ารายชื่อแล้ว 
 
รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ให้สัมภาษณ์และกล่าวถึงการเข้าชื่อรณรงค์ครั้งนี้ว่า
 
“แต่แรกไม่นึกว่าประชาชนจะร่วมลงชื่อได้เร็วขนาดนี้ เราตั้งเป้าหมายแต่แรกคิดว่าจะปิดโครงการในวันที่ 31 มีนาคมด้วยซ้ำ แต่พอต้นกุมภาก็ได้จำนวนตามที่ต้องการแล้ว ก็ถือว่าได้รับความร่วมมือกับประชาชนมากพอสมควร…”
 
สมชัยระบุว่า การรณรงค์จากทางพรรคการเมืองต่างๆ ได้รับการสนับสนุนและให้ความร่วมมือโดยส่วนมากมาจากพรรคฝ่ายค้าน ส่วนฝ่ายรัฐบาลมีเพียงพรรคเดียวคือพรรคภูมิใจไทย ด้านการยื่นรายชื่อในช่วงที่การยุบสภายังไม่แน่ไม่นอนนั้น สมชัยกล่าวว่าเมื่อเรารวบรวมรายชื่อแล้วก็ต้องยื่น หากเกิดการยุบสภาจริงเรามีสิทธิที่จะยืนยันและจะเสนอร่างกฎหมายนี้ต่อไป 
 
ทั้งนี้ สมชัยคาดหมายว่า ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในสมัยประชุมหน้า ซึ่งจะเริ่มต้นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2565 และคาดหวังว่าหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า จะมีเพียงสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี
 
บุญส่ง ชเลธร กล่าวว่า ที่เรียกร้องแก้รัฐธรรมนูญในวันนี้ ขอเพียงประเด็นยุติอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีของวุฒิสภา ปล่อยให้เป็นอำนาจของประชาชนที่จะตัดสินอนาคตของตัวเอง อย่าขัดขวางกระแสธารของประวัติศาสตร์ เมื่อประชาชนเลือกที่จะเดินในเส้นทางประชาธิปไตยแล้ว จึงควรให้ประชาชนตัดสินใจเอง
 
ด้านณัฏฐา มหัทธนา ระบุว่า ทีมรณรงค์ มาจากทุกฝั่งทุกฝ่ายทุกความคิดเห็นทางการเมือง กระโดดลงตรงนี้โดยไม่รู้เลยว่าใครจะมาร่วมกันบ้าง ณ วันที่สมชัยประกาศว่าจะยื่นเรื่องแก้ไขมาตรา 272 ดึงกลับเข้าสู่แก่นของประชาธิปไตยว่าผู้นำของประเทศจะต้องถูกเลือกโดยประชาชน เท่านี้ทุกคนก็วิ่งเข้ามาหาที่จะทำสิ่งนี้ร่วมกัน เพราะฉะนั้นการรณรงค์ลงชื่อแก้รัฐธรรมนูญในครั้งนี้จึงมาจากความคิดเห็นจากทุกฝักทุกฝ่ายทางการเมืองจริงๆ ซึ่งเปรียบเสมือนภาพสะท้อนความแตกต่างของบรรดาสมาชิกรัฐสภา ทั้งส.ส. ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล รวมไปถึงส.ว หวังว่าทุกฝ่ายจะทำภารกิจนี้ร่วมกันให้สนามการเมืองเป็นปกติ และเกิดการพัฒนาอย่างเป็นธรรมชาติ 
 
ณัฏฐาทิ้งท้ายว่าส่วนตัวให้ความสำคัญกับการรณรงค์ครั้งนี้มาก และน่าจะเป็นครั้งสุดท้ายในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ขอให้สื่อมวลชนให้กำลังใจ รักษากระแสนี้ไว้ให้ถึงวันที่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้เข้าสู่สภา 
 
ทั้งนี้ หากร่าง #แก้รัฐธรรมนูญ ปิดสวิชต์ส.ว. ได้รับการบรรจุเป็นวาระการประชุมรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณา จะนับเป็นการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ครั้งที่สี่ โดยสามครั้งก่อนหน้านี้เกิดขึ้นระหว่างปี 2563-2564
ประเภทเรื่องน่าสนใจ: