หลายครั้งเมื่อรัฐบาลประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็จะตามมาด้วยการออกมาตรการเพื่อ “ควบคุม” ประชาชน และมาตรการหนึ่งที่กฎหมายพิเศษนี้ให้อำนาจทำได้ คือ การประกาศ “เคอร์ฟิว” หรือการสั่งห้ามออกนอกเคหสถานในพื้นที่สถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือช่วงหลังการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 ภายใต้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
อำนาจในการประกาศเคอร์ฟิวปรากฏอยู่ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9(1) บัญญัติว่า
“ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็ว หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนด ดังต่อไปนี้
(๑) ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับยกเว้น”
การประกาศเคอร์ฟิว ส่วนใหญ่จะกำหนดเวลาในช่วงกลางคืน โดยกำหนดเวลาอย่างเฉพาะเจาะจง เช่น ระหว่างเวลา 21.00 - 05.00 และคนที่ออกนอกบ้านในเวลาที่ต้องห้ามจะถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท
เมื่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกนำมาใช้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐบาลได้มีการประกาศใช้เคอร์ฟิว 2 ช่วงเวลา ได้แก่
ในช่วงการระบาดระลอกที่สาม เริ่มต้นจากข้อกำหนด ฉบับที่ 27 ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล ได้แก่ จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดสงขลา และเพิ่มเติมอีก 3 จังหวัด ได้แก่ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยาตามข้อกำหนด ฉบับที่ 28 ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2564 แล้วยกเลิกตามข้อกำหนด ฉบับที่ 39 ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564
เคอร์ฟิวในระหว่างการแพร่ระบาดของโควิดระลอก 3 จึงแบ่งเป็นจังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสุงสุดและเข้มงวดรวม 163 วัน และส่วนที่เพิ่มมา 3 จังหวัดได้แก่ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา) 156 วัน โดยสามารถสรุประยะเวลาที่แต่ละจังหวัดตกอยู่ภายใต้มาตรการเคอร์ฟิวได้ตามตาราง ดังนี้

การผ่อนคลายทีละส่วน ขยับเวลาทีละนิด
ในช่วงการระบาดระลอกที่หนึ่ง หลังประกาศเคอร์ฟิวเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 มีข้อยกเว้นสั้นๆ เพียงสำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์การขนส่งสินค้า การทำงานกะกลางคืน หลังจากนั้นไม่นานวันที่ 8 เมษายน 2563 ก็มี
ข้อกำหนดฉบับที่ 3 มาเพื่อขยายขอยกเว้นให้กว้างขึ้น และให้กิจการที่จำเป็นยังคงเดินหน้าไปได้ ยกเว้นเพิ่มให้การทำงานของตำรวจ ทหาร การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย ผู้ส่งสินค้า ผู้บริการซ่อมไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ เก็บขยะ ประกันภัย กู้ภัย ผู้ประกอบอาชีพรปภ. ประมง กรีดยาง ฯลฯ โดยต้องแสดงเอกสารรับรองความจำเป็นด้วย
ต่อมาวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 มีการผ่อนคลายระยะเวลาก่อน โดยขยับเวลาห้ามออกจากบ้าน จาก 22.00 - 04.00 น. เป็น 23.00 - 04.00 น. ตาม
ข้อกำหนดฉบับที่ 7 ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 แต่มีการขยับเวลาอีกครั้งเป็น 23.00 - 03.00 ตาม
ข้อกำหนดฉบับที่ 9 ลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 ก่อนที่จะยกเลิกไปทั้งหมด
ในช่วงการระบาดระลอกสาม หลัง
ประกาศเคอร์ฟิวเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 ตั้งแต่เวลา 21.00 - 04.00 น. และใช้บังคับต่อเนื่องมาจนมีข้อกำหนดอีกหลายฉบับที่ออกตามมาหลังจากนั้นก็ยังคงข้อห้ามตามกำหนดเวลาเดิมไว้ จนกระทั่งวันที่ 29 กันยายน 2564 ข้อกำหนดฉบับที่ 34 จึงขยับเวลามาเป็น 22.00 - 04.00 น. และข้อกำหนดฉบับที่ 35 ก็ขยับเวลามาเป็น 23.00 - 03.00 น. จนกระทั่งมายกเลิกทั้งหมดใน
ข้อกำหนดฉบับที่ 39 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564