"สมรสเท่าเทียม" สิทธิที่ทุกคนควรได้รับ

See video
8 มิถุนายน 2565 สภาผู้แทนราษฎรมีนัดพิจารณาลงมติร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ร่างพ.ร.บ. #สมรสเท่าเทียม ซึ่งเสนอโดยส.ส.พรรคก้าวไกล
 
ร่างพ.ร.บ. #สมรสเท่าเทียม ถูกเสนอขึ้นเพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งกำหนดให้การสมรสทำได้แค่เฉพาะ “ชาย-หญิง” ตามเพศที่ระบุในทะเบียนราษฎรเท่านั้น โดยแก้ไขเพื่อปลดล็อกข้อจำกัดเรื่องเพศในการสมรส ไม่ว่าจะเป็น “บุคคล” เพศใด ก็สามารถจดทะเบียนสมรสได้ ภายใต้กฎหมายเดียวกัน และมีสถานะเป็น “คู่สมรส” ตามกฎหมาย
 
นอกจาก ร่างพ.ร.บ. #สมรสเท่าเทียม ฉบับที่เสนอโดยพรรคก้าวไกลแล้ว ยังมีร่างพ.ร.บ. #สมรสเท่าเทียม อีกหนึ่งฉบับ ที่ภาคประชาชนกำลังรวบรวมรายชื่อ ใช้สิทธิในการเสนอกฎหมาย เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ต่อไป ขณะนี้ ร่างพ.ร.บ. #สมรสเท่าเทียม ภาคประชาชน กำลังอยู่ระหว่างกระบวนการรวบรวมรายชื่อประชาชน ซึ่งตอนนี้มีผู้ร่วมลงชื่อเสนอร่างพ.ร.บ. #สมรสเท่าเทียม ภาคประชาชน ทะลุ 320,000 รายชื่อแล้ว สามารถร่วมลงชื่อเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับภาคประชาชน ให้เข้าสู่สภาได้ที่ https://www.support1448.org/  
 
อย่างไรก็ดี วันนี้ (7 มิถุนายน 2565) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็เพิ่งจะเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต เพื่อเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรต่อไป โดยร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต เป็นร่าง “กฎหมายแยก” ออกมาอีกหนึ่งฉบับ กำหนดเรื่องการจดทะเบียน “คู่ชีวิต” สำหรับผู้ที่มีเพศกำเนิดเพศเดียวกันโดยเฉพาะ ทั้งนี้ คู่ชีวิตมีสิทธิบางประการเหมือนกับคู่สมรสชาย-หญิง เช่น สิทธิการรับบุตรบุญธรรม การรับมรดก แต่สถานะทางกฎหมายจะเป็น “คู่ชีวิต” ซึ่งส่งผลให้คู่ชีวิตอาจไม่ได้รับสิทธิบางประการเทียบเท่าคู่สมรส ต้องรอให้รัฐแก้ไขกฎหมายรับรองสิทธิอื่นต่อไป เช่น สิทธิในการรับสวัสดิการของเจ้าหน้าที่รัฐ
 
8 มิถุนายน 2565 นี้ จึงเป็นนัดชี้ชะตาของร่างกฎหมายที่กำหนดสิทธิก่อตั้งครอบครัวสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ ว่าท้ายที่สุด เสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร ที่ได้รับเลือกจากประชาชนโดยตรง จะเห็นด้วยกับการแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้มี #สมรสเท่าเทียม หรือจะคว่ำข้อเสนอดังกล่าว แล้วหันเหไปรับหลักการร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่เสนอโดยครม.