นับตั้งแต่การเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและประชุมรัฐสภาในปี 2562 จนถึงเดือนสิงหาคม 2565 เหตุการณ์สภาล่ม หรือ การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือสมาชิกรัฐสภา เข้าร่วมประชุมไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด จนเป็นเหตุให้การประชุมสภาต้องสิ้นสุดลง เกิดขึ้นมาแล้วอย่างน้อย 18 ครั้ง ซึ่งสามารถแบ่งรูปแบบสภาล่มได้อย่างน้อยสองแบบ คือ หนึ่ง ผลการลงมติแสดงตนของสมาชิกไม่ถึงกึ่งหนึ่งทำให้สภาล่ม และ สอง ประธานสภาทำการปิดประชุม เพราะเห็นว่าจำนวนสมาชิกมีไม่ถึงครึ่งหนึ่ง
ทั้งนี้ แม้ว่าเหตุสภาล่มในช่วงแรกจะเป็นผลมาจากพรรคฝ่ายค้านใช้กลยุทธ์ไม่เข้าร่วมประชุมเพื่อประท้วงการทำหน้าที่ของพรรคฝ่ายรัฐบาล แต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้สภาล่ม คือ การที่พรรครัฐบาลไม่ยอมเข้าประชุมอย่างสม่ำเสมอ ทั้งที่พรรครัฐบาลมีจำนวน ส.ส. มากกว่ากึ่งหนึ่งของสภา
อย่างไรก็ดี เหตุการณ์สภาล่มในเดือนสิงหาคม ปี 2565 มีนัยยะทางการเมืองที่น่าสนใจกว่าทุกครั้ง เพราะมีร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส.) เป็นเดิมพัน เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้สภาต้องพิจารณากฎหมายดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 15 สิงหาคม 2565 มิเช่นนั้นจะถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ ร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. ของรัฐบาล ด้วยเหตุนี้ จึงดูเหมือนว่า พรรคฝ่ายรัฐบาล รวมถึงสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) พยายามใช้เหตุสภาล่ม เป็นหนทางเพื่อพลิกรายละเอียดกติกาการเลือกตั้ง กลับไปยึดตามร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. ของรัฐบาล
เปิดสถิติสภาล่ม 9 ครั้ง พบพรรครัฐบาลบกพร่องรักษาองค์ประชุมไม่ได้
จากการตรวจสอบบันทึกผลการออกเสียงลงคะแนนทั้งของสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภา พบว่า มีการบันทึกข้อมูลองค์ประชุมที่มีผู้เข้าร่วมประชุมไม่ถึงกึ่งหนึ่งไว้อย่างน้อย 9 ครั้ง ได้แก่
1) การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562
*ญัตติด่วน ให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และการใช้อำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามมาตรา 44
(หมายเหตุ: จำนวนองค์ประชุมขั้นต่ำคือ 250 คน)
2) การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 28 พฤศจิกายน 2562
*ญัตติด่วน ให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และการใช้อำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามมาตรา 44
(หมายเหตุ: จำนวนองค์ประชุมขั้นต่ำคือ 250 คน)
3) การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 30 มิถุนายน 2564
*พิจารณาร่างพ.ร.บ.วัตถุอันตราย มาตรา 6 แสดงตนก่อนลงมติรายมาตราในวาระสอง
(หมายเหตุ: จำนวนองค์ประชุมขั้นต่ำคือ 242 คน)
4) การประชุมรัฐสภา วันที่ 10 กันยายน 2564
*ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ผลประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม มาตรา 8 แสดงตนก่อนลงมติรายมาตราในวาระสอง
(หมายเหตุ: จำนวนองค์ประชุมขั้นต่ำคือ 365 คน)
5) การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 17 ธันวาคม 2564
*รายงานการพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ
(หมายเหตุ: จำนวนองค์ประชุมขั้นต่ำคือ 238 คน)
6) การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 19 มกราคม 2565
*ร่างพ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา แสดงตนก่อนลงมติรับหลักการในวาระหนึ่ง
(หมายเหตุ: จำนวนองค์ประชุมขั้นต่ำคือ 237 คน)
7) การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565
*ร่างพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต หรือ สุราก้าวหน้า ลงมติว่าจะอนุมัติให้ครม.นำไปพิจารณาก่อนรับหลักการหรือไม่
(หมายเหตุ: จำนวนองค์ประชุมขั้นต่ำคือ 238 คน)
8) การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565
*รายงานผลการพิจารณา เรื่อง ผลกระทบและแนวทางแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลไทยอย่างยั่งยืน
(หมายเหตุ: จำนวนองค์ประชุมขั้นต่ำคือ 237 คน)
9) การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565
*ตรวจสอบองค์ประชุม วาระรับทราบประกาศคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เรื่อง นโยบายการตรวจเงินแผ่นดินประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565
(หมายเหตุ: จำนวนองค์ประชุมขั้นต่ำคือ 237 คน)
จากข้อมูลสภาล่ม 9 ครั้ง พบว่า พรรครัฐบาลไม่สามารถรักษาองค์ประชุมไว้ได้ทั้งที่มีจำนวน ส.ส. ในมือมากกว่ากึ่งหนึ่งของสภา (รวม ส.ส. ที่เป็นงูเห่า หรือ ส.ส.ฝ่ายค้านที่ลงมติไปในทางทิศเดียวกับฝ่ายรัฐบาล) อีกทั้ง จากบันทึกการออกเสียงลงคะแนนของ ส.ส. ยังชี้ให้เห็นว่า มีอย่างน้อย 6 ครั้ง ที่สภาล่มเพราะขาดผู้มาแสดงตนเป็นองค์ประชุมในจำนวนหลักหน่วยไปจนถึงจำนวน11 คน แต่ทว่า ส.ส. พรรครัฐบาลกลับขาดประชุมในช่วงที่สภาล่มโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 106 คน
จากสถิติดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า ถ้าหาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเข้าประชุมอย่างสม่ำเสมอ ต่อให้พรรคฝ่ายค้านเล่นเกมส์ไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุม แต่เหตุการณ์สภาล่มก็จะไม่เกิดขึ้น
เหตุการณ์สภาล่มเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 คือ หลักฐานสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่า ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลบกพร่องในการทำหน้าที่ประชุมสภา เนื่องจากเป็นครั้งที่ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลขาดประชุมมากที่สุด อีกทั้ง ยังเป็นครั้งที่ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล เข้าประชุมน้อยกว่า ส.ส. ฝ่ายค้าน และทำให้เกิดเหตุการณ์สภาล่มในที่สุด
สภาล่ม: ความบกพร่องบนความตั้งใจของฝ่ายรัฐบาล
ถ้าดูจากบริบททางการเมืองในช่วงที่เกิดเหตุการณ์สภาล่ม จะพบว่า ในช่วงแรกของสภาล่ม เป็นผลมาจากการการ Walk Out หรือ การไม่เข้าร่วมประชุมเพื่อประท้วง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ที่ขอให้มีการ “นับคะแนนใหม่” ในลักษณะที่เป็นการลงคะแนนใหม่ทั้งหมด หลัง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล พ่ายแพ้ในการลงมติเรื่องการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศ และคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่ในช่วงถัดมา สภาล่มเป็นผลมาจากการไม่ให้ความสำคัญกับการประชุมสภาของพรรครัฐบาล อันจะเห็นได้จากเหตุสภาล่มเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564
ต่อมาในช่วงสิงหาคม ปี 2564 ระหว่างการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ มี ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ที่นำโดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ตำแหน่งในขณะนั้น) พยายามจะล้ม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่สุดท้ายก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เป็นผลให้ ร.อ.ธรรมนัส ถูกปลดจากตำแหน่งรัฐมนตรี และกลายเป็นความขัดแย้งภายในของพรรคพลังประชารัฐ
ผลจากความขัดแย้งภายในของฝ่ายรัฐบาลทำให้ในช่วงเดือนกันยายน ปี 2564 เป็นต้นมา เกิดเหตุสภาล่มอยู่หลายครั้ง เมื่อพรรคฝ่ายค้านเล่นเกมส์เช็คชื่อ ส.ส. เพื่อให้พรรครัฐบาลทำหน้าที่รักษาองค์ประชุมสภา โดยจะไม่ยอมแสดงตนเป็นองค์ประชุมจนกว่าจะเห็นว่าพรรคฝ่ายรัฐบาลมาเข้าร่วมประชุมสภาเกินกึ่งหนึ่ง แม้ว่า พรรครัฐบาลพยายามจะเกณฑ์คนมาประชุมสภามากขึ้น แต่ก็ไม่มากพอจะรักษาองค์ประชุมสภาไว้ได้ โดยเฉพาะหลังจากมีการขับ ส.ส. “ก๊วนธรรมนัส” ออกจากพรรคพลังประชารัฐ ก็ยิ่งทำให้เสถียรภาพในสภาของฝ่ายรัฐบาลลดน้อยลง ถึงขนาดมีปัญหาสภาล่มไล่เลี่ยกันถึงสามครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2565
อย่างไรก็ดี เหตุการณ์สภาล่มในเดือนสิงหาคม ปี 2565 มีสาเหตุที่แตกต่างจากสภาล่มในอดีต เพราะเป็นความบกพร่องบนความตั้งใจของ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว. ที่มาจากการคัดเลือกของฝ่ายรัฐบาล เนื่องจากรัฐสภาอยู่ระหว่างการพิจารณา ร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้งฯ ส.ส. ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญที่จะไปสู่การเลือกตั้ง และต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน หรือภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2565 มิเช่นนั้นจะถือว่า รัฐสภาให้ความเห็นชอบกับ ร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้งฯ ส.ส. ที่เป็นร่างหลักในการพิจารณาวาระสอง กล่าวคือ ให้ความเห็นชอบกับร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้งฯ ส.ส. ของรัฐบาล โดยที่สภาไม่มีสิทธิในการปรับปรุงแก้ไข
ถ้าดูจากเหตุการณ์สภาล่มในวันที่ 3 สิงหาคม 2565 ก่อนที่ประธานสภาจะปิดประชุมสภา สภาอยู่ระหว่างการพิจารณาให้ความเห็นชอบ มาตรา 7 ของร่างพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม แต่พบว่ามีผู้เข้าร่วมประชุมและลงมติเพียง 364 คน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนพอดีกับองค์ประชุมขั้นต่ำ หลังจากนั้น เมื่อประธานสภาได้เรียกให้สมาชิกเข้าประชุมและแสดงตนอีกครั้งก็ไม่ประสบผลสำเร็จ จนประธานต้องสั่งปิดประชุมสภา และทำให้ ร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. จึงต้องเลื่อนการพิจารณาออกไป เนื่องจากรัฐสภาพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งอยู่ลำดับพิจารณาก่อนหน้าร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ยังไม่เสร็จ
จากบันทึกการออกเสียงลงคะแนนของรัฐสภาในวันที่ 3 สิงหาคม 2565 จะพบว่า ส.ส.พรรคฝ่ายค้านไม่ได้เข้าประชุมมากถึง 144คน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่ไม่เข้าร่วมการประชุมครั้งดังกล่าวมากถึง 118 คน เนื่องจากพรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับสูตรคำนวณที่นั่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ที่เรียกกันว่า "สูตรหาร 500" ซึ่งเป็นสูตรที่พรรครัฐบาลและ ส.ว. ผลักดัน ในขณะเดียวกัน ทั้ง ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว. ซึ่งเป็นเสียงข้างมากและกุมทิศทางเนื้อหาร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. มาโดยตลอด กลับไม่ยอมเข้าประชุมจำนวนมากด้วยเช่นกัน โดยพบว่า ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ขาดประชุมจำนวน 88 คน และ ส.ว. ขาดประชุม จำนวน 91 คน รวมเป็นฝ่ายรัฐบาลขาดประชุมรวมกัน 179 คน
กล่าวโดยสรุปคือ ฝ่ายรัฐบาลสามารถเข้าประชุมเพื่อพิจารณากฎหมายอื่นๆ เพื่อให้ ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ได้รับการพิจารณาทันตามกรอบเวลาก็สามารถกระทำได้ แต่การที่ฝ่ายรัฐบาลขาดประชุมสภาจำนวนมาก คือ ความตั้งใจของฝ่ายรัฐบาลที่จะใช้เหตุสภาล่มเป็นหนทางสู่การบีบสภา พลิกรายละเอียดกติกาการเลือกตั้ง กลับไปยึดตามร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส. ของรัฐบาล