24 สิงหาคม 2565 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหาย (ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ) ฉบับที่ผ่านการแก้ไขของวุฒิสภามาแล้ว ส่งผลให้ร่างกฎหมายที่ได้รับการเรียกร้องจากภาคประชาชนมาอย่างยาวนาน และได้รับความสนใจจากผู้แทนต่างประเทศ จะเข้าสู่กระบวนการประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไปหลังจากที่นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ ให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย
ก่อนที่จะมาถึงกระบวนการลงมติในวันนี้ ในชั้นการพิจารณาของ ส.ส. ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ ได้รับการแก้ไขจน
เนื้อหาเปลี่ยนไปมากจาก
ร่างของคณะรัฐมนตรี แต่ต้องฝ่าด่านสำคัญในชั้น ส.ว. เมื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญของ ส.ว. เสนอให้มีการแก้ไขเนื้อหาจำนวนมาก เช่น ตัดโทษฐานการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ออกไปจากร่างกฎหมายจน
เนื้อหากลับไปคล้ายกับร่างที่คณะรัฐมนตรีเสนอ อย่างไรก็ดี ที่ประชุม ส.ว. กลับ
ลงมติไม่เห็นด้วยกับกับข้อเสนอหลายประการของ กมธ. ส.ว. แต่ก็ยังมีการแก้ไขในบางมาตรา ทำให้ต้องส่งร่างกฎหมายที่ ส.ว. แก้ไขแล้วกลับมาให้ ส.ส. ลงมติอีกครั้งในวันนี้
ในช่วงการอภิปราย มีสมาชิกมากหน้าหลายตาลุกขึ้นอภิปราย รังสิมันต์ โรม ส.ส. พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธาน กมธ. วิสามัญ ระบุเรื่องน่าผิดหวังสามประการที่มีการเปลี่ยนแปลงในชั้น ส.ว. ประการแรก คือที่มาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายที่จากเดิมจะมีที่มายึดโดยตรงกับ ส.ส. ที่เป็นตัวแทนของประชาชน แต่ ส.ว. กลับเปลี่ยนให้ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ ประการที่สองคือการตัดอำนาจกรรมการฯ ในการตรวจสอบสถานที่ที่คาดว่ามีการควบคุมตัวโดยพลัน และประการสุดท้ายคือในปรับเปลี่ยนอายุความจากเดิมที่กำหนดให้สูงสุดถึง 40 ปี แต่การแก้ไขของ ส.ว. ทำให้เหลือเพียงสูงสุดไม่ถึง 20 ปี อย่างไรก็ตาม รังสิมันต์กล่าวว่าวันนี้ตนจะยอมรับว่าต้องกลืนเลือด เนื่องจากเวลาของสภานี้เหลือไม่มากแล้ว สิ่งที่เราทำได้คือต้องคงร่างที่ ส.ว. ส่งมา เราจึงต้องให้กฎหมายนี้ผ่าน
เช่นเดียวกับ ชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส. พรรคเพื่อไทย ประธาน กมธ. วิสามัญ ที่ลุกขึ้นอภิปรายต่อว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นที่ติดตามจากทั้งประชาชนทั่วไป องค์กรภาคประชาสังคมทั้งไทยและต่างประเทศ ที่สำคัญคือเหล่าทูตที่ได้มาพบตนที่สภาแห่งนี้เพื่อติดตามว่าไทยได้ออกกฎหมายที่สอดคล้องกับพันธกรณีที่ไทยได้ให้สัตยาบรรณไว้หรือไม่ ตนเห็นด้วยกับร่างกฎหมายและการแก้ไขนี้
ในฟากฝั่งรัฐบาลก็มี ส.ส. หลายคนลุกขึ้นอภิปรายเช่นเดียวกัน เช่น อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ แม้ว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะถูกแก้ไขโดย ส.ว. แต่ก็ไม่ได้กระทบกับสาระสำคัญที่ปรากฏในร่างของ ส.ส. โดยร่างกฎหมายฉบับนี้จะยกระดับมาตรฐานในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน โดยเฉพาะต้องยินดีกับประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และสี่อำเภอในจังหวัดสงขลา ในฐานะทนายความ ตนหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเข้ามาทำกฎหมายที่สร้างความเปลี่ยนแปลง และเชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคจะสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้
ในท้ายที่สุด ที่ประชุม ส.ส. ลงมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ ฉบับที่ผ่านการแก้ไขของ ส.ว. มาแล้วด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 287 เสียง ไม่เห็นชอบ 1 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง กระบวนการต่อไปจึงเป็นการให้นายรัฐมนตรีนำร่างกฎหมายทูลเกล้าฯ ให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายอย่างเป็นทางการ