112 - The Long March เมื่อ “ความรุนแรง” ผันแปรเป็น “กลั่นแกล้งทางกฎหมาย”

 

 
112 - The Long March
เมื่อ “ความรุนแรง” ผันแปรเป็น “กลั่นแกล้งทางกฎหมาย”
 
บทสนทนาว่าด้วยบทบาทของกลุ่มพลังฝ่ายขวา #ปกป้องสถาบัน กับการใช้คดีมาตรา 112 ฟ้องทางไกล
 
ในเหตุการณ์ล้อมปราบ 6 ตุลา 2519 “กลุ่มพลังฝ่ายขวา” อย่างกลุ่มนวพล กลุ่มกระทิงแดง และลูกเสือชาวบ้าน คือกลุ่มพลังที่มีส่วนสำคัญในการใช้กำลังกับกลุ่มผู้ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
การก่อตัวของกลุ่มดังกล่าว ส่วนหนึ่งอาจมาจากการสนับสนุนของผู้มีอำนาจรัฐ ที่หวังใช้ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐมาเป็นตัวช่วยในการจัดการกับผู้เห็นต่างทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเชื่อในอุดมการณ์และชุดความคิดบางอย่างอย่างแรงกล้า ก็มีส่วนผลักดันให้กลุ่มพลังฝ่ายขวาตัดสินใจลุกขึ้นมาจัดการกับกลุ่มคนที่พวกเขาเห็นว่าเป็น “อริราชศัตรู” ด้วยตัวเองเช่นกัน
 
ล่วงมาถึงปี 2565 แม้จะมีความเป็นไปได้น้อยที่ความขัดแย้งทางการเมืองและความเห็นที่ไม่ตรงกันโดยเฉพาะ “ประเด็นแวดล้อมสถาบันพระมหากษัตริย์” จะนำไปสู่การใช้กำลังรุนแรงต่อกันเหมือนที่เกิดในเหตุการณ์ 6 ตุลา2519 เพราะบริบทโลกที่เปลี่ยนไป
 
แต่ในภาพรวม การเคลื่อนไหวของกลุ่มพลังที่ชูอุดมการณ์ #ปกป้องสถาบัน ในปัจจุบันก็มีความคล้ายกับกลุ่มพลังฝ่ายขวาในอดีต ไม่ว่าจะเป็นลักษณะการรวมกลุ่มหรือการทำงานอย่างเป็นระบบเพื่อจัดการกับขั้วตรงข้าม เพียงแต่ "การจัดการ" ไม่ได้มาในรูปแบบของความรุนแรงต่อร่างกายอีกต่อไป แต่ปรากฏให้เห้นในรูปแบบของการใช้กฎหมาย
 
โดยเฉพาะประมวลกฎหมายอาญา #มาตรา112
 
หนึ่งในผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม คือปรากฏการณ์ที่เกือบครึ่งหนึ่งของคดีมาตรา 112 ระลอกหลังการเคลื่อนไหวใหญ่ของราษฎรระหว่างปี 2563 - 2565 เป็นคดีที่ “ประชาชนทั่วไป” เป็นผู้ริเริ่ม และผู้ที่ริเริ่มคดีเหล่านั้น บางส่วนทำเป็นขบวนการ ทั้งการแบ่งหน้าที่สอดส่อง บันทึกหลักฐานการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ก่อนนำไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับตำรวจ
 
เพื่อเป็นการร่วมรำลึก 46 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ “6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ | 6 October: Facing Demons” ไอลอว์ชักชวนผู้คนที่เกี่ยวข้อง ทั้งจำเลยมาตรา 112 ผู้ถูกประชาชนฟ้องทางไกล, นักวิชาการอิสระ, ทนายความ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาร่วมสนทนาเพื่อทบทวนความเชื่อมโยงทางอุดมการณ์ระหว่าง “กลุ่มพลังฝ่ายขวาในอดีต” กับ “กลุ่มปกป้องสถาบันในปัจจุบัน” ตลอดจนรับฟังผลกระทบของประชาชนผู้ถูก “ประชาชนด้วยกันเองดำเนินคดี” เพื่อเฟ้นหาความเป็นไปได้ของทางออกจากวังวนนี้ด้วยกลไกทางรัฐสภา
 
 
 
 
ร่วมสนทนาโดย
 
o ปดิพัทธ์ สันติภาดา
ประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบของมาตรา 112 ที่มีต่อสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชน สภาผู้แทนราษฎร
 
o ภัคภิญญา
จำเลยคดีมาตรา 112 ที่ศาลจังหวัดนราธิวาส
 
o นรเศรษฐ์ นาหนองตูม
ทนายความอาสา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
 
o ธนาพล อิ๋วสกุล
บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน
 
 
แล้วพบกัน วันที่ 21 ตุลาคม 2565 เวลา 16.00 - 17.30 น.
ที่ Kinjai Contemporary (MRT สิรินธร exit1)