จับตา #ประชุมสภา สมัยประชุมสุดท้ายก่อนเลือกตั้งสภาชุดใหม่ในปี 66

จับตา #ประชุมสภา สมัยประชุมสุดท้ายก่อนเลือกตั้งสภาชุดใหม่ในปี 66

เมื่อ 31 ต.ค. 2565
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 จะเป็นวันเปิดสมัยประชุมสภาวันแรก ซึ่งเป็นสมัยประชุมสภาสุดท้าย ของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 ก่อนที่จะเข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้าที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ชุดนี้ จะทำงานนิติบัญญัติจนถึงวันสุดท้ายของสมัยประชุมสภา คือ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ขณะที่อีกปีกหนึ่งของฝ่ายนิติบัญญัติอย่างสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) นั้น แม้บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญจะกำหนดให้มีอายุลากยาวถึงห้าปี แต่ไม่ได้หมายความว่าช่วงที่อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุด วุฒิสภาจะทำงานทุกอย่างได้ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 126 ห้ามไม่ให้ประชุมวุฒิสภาระหว่างนั้น แต่มีข้อยกเว้นให้ทำได้บางกรณี เช่น การประชุมเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่ง
 
ช่วง “โค้งสุดท้าย” ของสภา จึงมีความสำคัญอย่างมากต่อกระบวนการจัดทำและแก้ไขกฎหมายต่างๆ หากพิจารณากฎหมายที่สำคัญได้แล้วเสร็จภายในสมัยประชุมสภา ก็จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและนโยบายบางอย่างจะผลักดันไปข้างหน้าได้ แต่หากมีเหตุการณ์ที่ทำให้การประชุมสภาไม่ราบรื่น เช่น สภาล่มจนพิจารณาร่างกฎหมายไม่ทัน ร่างกฎหมายก็จะตกไปและต้องริเริ่มกันใหม่ในสมัยประชุมหน้า
 
 
 
 
 
ใกล้หมดอายุสภา แต่ยังมีร่างกฎหมายจ่อรอพิจารณาอีกเพียบ!
 
 
 
ในสมัยประชุมสภาสุดท้ายนี้ สภาผู้แทนราษฎรเริ่มทำงานนิติบัญญัติในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 จากระเบียบวาระการปะชุมสภาของวันดังกล่าว มีร่างกฎหมายที่สภาผู้แทนราษฎรต้องพิจารณาลงมติรายมาตราในวาระสองและลงมติวาระสามอย่างน้อยห้าฉบับ ได้แก่
 
1) ร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ
 
2) ร่างพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต หรือที่เรียกกันว่าร่างกฎหมาย #สุราก้าวหน้า นั่นเอง
 
3) ร่างพ.ร.บ.การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
 
4) ร่างพ.ร.บ.การขนส่งทางราง
 
5) ร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่จะควบคุมและกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องกับกัญชา กัญชง ร่างกฎหมายฉบับนี้ เคยจ่อเข้าสู่การพิจารณาวาระสองแล้วเมื่อ 14 กันยายน 2565 แต่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกจากระเบียบวาระการประชุม เพื่อให้กรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) ที่พิจารณาร่างกฎหมายนี้ นำกลับไปทบทวนก่อน ร่างกฎหมายกัญชา กัญชง จึงกลับเข้าสู่สภาอีกครั้งในสมัยประชุมนี้
 
นอกจากร่างกฎหมายห้าฉบับข้างต้นที่บรรจุไว้ในวาระการประชุม รอพิจารณาวาระสอง-สามแล้ว ยังมีร่างกฎหมายอื่นๆ ที่จ่อคิวต่อรอเข้าสู่การพิจารณาวาระสอง-สาม เช่น ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ #สมรสเท่าเทียม ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ร่างพ.ร.บ.ล้มละลาย ร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยนเรศวร  
 
นอกจากร่างกฎหมายที่พิจารณาในวาระสอง-สาม ยังมีร่างกฎหมายรอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาวาระหนึ่ง ว่าจะรับหลักการหรือไม่ โดยมีร่างกฎหมายที่ถูกบรรจุวาระเป็น “เรื่องด่วน” อยู่อย่างน้อยห้าฉบับ และถูกบรรจุอยู่ใน “เรื่องค้างพิจารณา” อย่างน้อย 46 ฉบับ และถูกบรรจุในเรื่องที่เสนอใหม่อยู่สี่ฉบับ รวมมีร่างกฎหมายที่จ่อคิวรอสภารับหลักการอย่างน้อย 55 ฉบับ ทั้งนี้ ร่างกฎหมายบางฉบับที่มีหลักการเหมือนกัน แต่ผู้เสนอต่างกัน ก็อาจจะพิจารณา “ประกบ” กันไปได้ ไม่ต้องพิจารณาไล่ทีละฉบับ
 
ตัวอย่างร่างกฎหมายที่น่าสนใจ แต่คาอยู่ใน “เรื่องที่ค้างพิจารณา” เช่น
 
ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา แก้ไชความผิดเกี่ยวกับเพศ เสนอโดยส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เสนอแก้ไขบทนิยามคำว่า “การกระทำชำเรา” เพื่อให้ครอบคลุมกับการกระทำตามพฤติการณ์ต่างๆ ซึ่งอาจมีความหลากหลาย แก้ไขบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญาซึ่งเกี่ยวกับความผิดทางเพศ และเพิ่มเติมความผิดฐาน “คุกคามทางเพศ” ขึ้น
 
๐ ร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีบรรจุวาระการประชุมสภาถึงสองฉบับ เสนอโดยประชาชนทั้งสองฉบับ โดยฉบับแรก มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ในหลายประเด็น เช่น การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผ่อนคลายเรื่องสถานที่ เวลา วิธีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  (อ่านสรุปได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5904) ส่วนฉบับที่สอง ซึ่งผลักดันโดยภาคีเครือข่ายป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เสนอแก้ไขหลายประเด็น เช่น เพิ่มบทบัญญัติเรื่องห้ามนำชื่อหรือเครื่องหมายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือผู้ผลิตเครื่องดื่ม ไปแสดงบนผลิตภัณฑ์อื่นที่ไม่ใช่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
 
ร่างพ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เสนอโดยประชาชน เพื่อให้สิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ต่างๆในประเทศไทย ได้รับการส่งเสริม คุ้มครอง และปกป้อง ตามรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศในปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองที่ไทยเคยให้สัตยาบันไว้ (อ่านสรุปได้ที่ https://www.ilaw.or.th/node/5822)
 
นอกจากนี้ สภาผู้แทนราษฎรยังมีวาระให้ความเห็นชอบพระราชกำหนดที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ประกาศไปแล้ว และต้องส่งกลับมาให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ คือ พระราชกำหนดผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565
 
 
 
จับตาส.ว. จะเห็นชอบให้ อุดม รัฐอมฤต กรธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 60 เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่??
 
 
 
ฟากวุฒิสภา สถานการณ์การพิจารณาร่างกฎหมายไม่ค่อยน่าเป็นห่วงนัก มีร่างกฎหมายอย่างน้อยสองฉบับที่รอคิววุฒิสภาพิจารณาวาระหนึ่งในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 คือ ร่างพ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เพื่อแก้ไขพ.ร.บ.กยศ. พ.ศ.2560 ในหลายประเด็น เช่น ไม่คิดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา,ไม่คิดเบี้ยปรับเงินเพิ่ม, ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน และกฎหมายอีกหนึ่งฉบับ คือ ร่างพ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น แก้ไขพ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 เพื่อให้ข้าราชการการเมือง ส.ส. ส.ว. สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น สามารถช่วยรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งให้กับผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นได้
 
อย่างไรก็ดี ภาระงานของวุฒิสภาในการพิจารณาร่างกฎหมาย จะเพิ่มขึ้นตามปริมาณร่างกฎหมายที่ผ่านวาระสามของสภาผู้แทนราษฎรมา ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าจะมีร่างกฎหมายฉบับใดที่มาถึงมือสภากลั่นกรอง หรือจะมีร่างกฎหมายใดที่ถูกส.ส.คว่ำไปในวาระสอง-สาม ไปไม่ถึงส.ว.
 
แม้สถานการณ์ของวุฒิสภา จะดูไม่หวือหวามาก แต่ต้องไม่ลืมว่า อีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญของส.ว. คือการให้ความเห็นชอบผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ซึ่งตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ว่างลงไปหนึ่งตำแหน่ง เนื่องจากทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ซึ่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาตามรัฐธรรมนูญ 2550 มีวาระการดำรงตำแหน่งเก้าปี ครบวาระการดำรงตำแหน่งเมื่อ 21 ตุลาคม 2565 จึงต้องสรรหาตุลาการคนใหม่แทนที่ทวีเกียรติ ภายใต้โควตาศาสตราจารย์ด้านนิติศาสตร์ ที่ผ่านมามีผู้สมัครมาเพียงคนเดียว และผ่านการคัดเลือกจากกรรมการสรรหาด้วยคะแนนถึงสองในสาม เตรียมส่งชื่อให้ส.ว.ตั้งกมธ.สอบประวัติฯ และให้ความเห็นชอบต่อไป ซึ่งบุคคลนั้นก็คือ อุดม รัฐอมฤต กรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ปี 2560 อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 นี้ วุฒิสภาจะตั้งกมธ.ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็ต้องจับตากันต่อไปว่า หลังผ่านกระบวนการสอบประวัติไปแล้ว ส.ว.จะให้ความเห็นชอบให้คนร่างรัฐธรรมนูญ มานั่งบัลลังก์เป็นตุลาการ ตีความรัฐธรรมนูญหรือไม่