17 พฤศจิกายน 2563 รัฐสภามีกำหนดประชุมร่วมสองสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเจ็ดฉบับซึ่งมีฉบับที่ภาคประชาชนและผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 100,732 คน ร่วมกันเสนอต่อสภาผ่านกลไกการเข้าชื่อเสนอกฎหมายรวมอยู่ด้วย ประชาชนส่วนหนึ่งที่ร่วมลงชื่อไปรวมตัวกันที่รัฐสภาในช่วงเย็นเพื่อติดตามการอภิปรายและลงมติอย่างใกล้ชิด ทว่าพวกเขากลับถูกตำรวจควบคุมฝูงชนต้อนรับด้วยรถฉีดน้ำแรงดันสูงและแก๊สน้ำตา จนห่วงยางเป็ดสีเหลืองสดใสที่ผู้ชุมนุมถือมาเป็นพร็อพประกอบการชุมนุมกลายเป็น ‘โล่จำเป็น’ ใช้เพื่อป้องกันน้ำผสมสารเคมีที่ถูกฉีดโดยเจ้าหน้าที่
เหตุการณ์สลายการชุมนุมครั้งนั้นผ่านมาแล้วสองปี ขณะที่ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนทั้งในครั้งนั้น และครั้งต่อมาอีกสองครั้งต่างถูกปฏิเสธโดยรัฐสภา
การสลายการชุมนุมในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ไม่เพียงเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญในตัวของมันเอง หากแต่ยังเกี่ยวพันไปถึงอีกสองเหตุกาณ์ที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน ได้แก่ การชุมนุมหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ที่ผู้ชุมนุมนำสีไปสาดป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อตอบโต้การสลายการชุมนุมในวันก่อนหน้า และ การออกแถลงการณ์นายกรัฐมนตรีในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 ว่าจะใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตรา กับผู้ชุมนุมที่ทำผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นเหมือนการส่งสัญญาณว่าให้นำประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ถูกพักใช้ไปตั้งแต่ช่วงปี 2561 กลับมาใช้อีกครั้งอย่างเข้มข้น จนมีผู้ถูกดำเนินคดีมากกว่า 200 คน ในช่วงเวลาไม่ถึงสองปี
ในโอกาสครบรอบสองปีเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้ารัฐสภา ไอลอว์ชวนประจักษ์พยานที่อยู่ในเหตุการณ์
อังคณา นีละไพจิตร อดีตกสม. , เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมอิสระและ “นาย” นักกิจกรรมเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรีมาเล่าเหตุการณ์ในความทรงจำเพื่อบันทึกไว้ในหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์
และเราอยากเชิญชวนให้เพื่อนๆ ที่เคยอยู่ร่วมในเหตุการณ์ครั้งนั้น มาเล่าสิ่งที่คุณเห็นและร่วมบันทึกหน้าประวัติศาสตร์กับเรา
พิเศษ ร่วมตอบคำถามระหว่างรายการ ชิงหนังสือ There's Always Spring เมื่อถึงเวลาดอกไม้จะบาน หนังสือเล่มใหม่ของไอลอว์ที่บันทึกภาพและเรื่องราวของการชุมนุมที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2563 - 2565 หนึ่งรางวัล