แม้หลายอาชีพจะให้ผู้หญิงสามารถสวมใส่กางเกงขณะทำงานได้ แต่บางอาชีพก็ยังมีกรอบกำหนดการแต่งกายโดยยึดโยงกับเพศกำหนด อาชีพทนายความ ก็เป็นหนึ่งในอาชีพที่ยังมีกรอบในการแต่งกายอยู่ จะเห็นได้จาก
ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ข้อ 20 กำหนดให้ในเวลาว่าความ ทนายความหญิงต้องใส่กระโปรงและเสื้อสีสุภาพไม่ฉูดฉาด ซึ่งการฝ่าฝืนข้อบังคับดังกล่าว ยังส่งผลต่อเส้นทางอาชีพของทนายความด้วย เพราะการฝ่าฝืนข้อบังคับ เป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความ มีความผิดตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 มีโทษสามสถาน คือ ภาคทัณฑ์ ห้ามทำการเป็นทนายความมีกำหนดไม่เกินสามปี หรือลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ
ถึงแม้ข้อบังคับดังกล่าวจะใช้มากว่า 36 ปีโดยที่ยังกำหนดเครื่องแต่งกายทนายแบ่งแยกตามเพศ แต่แนวโน้มกฎระเบียบดังกล่าวอาจจะถูกแก้ไขในอนาคต เพราะเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2565 คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (คณะกรรมการ วลพ.) วินิจฉัยว่าการใช้ข้อบังคับ หรือการกำหนดวิธีปฏิบัติของสภาทนายความ และเนติบัณฑิตยสภา (เนติฯ) เข้าลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ตาม
พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 จึงมีคำสั่งให้สภาทนายความและเนติฯ ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขข้อบังคับ กฎ ระเบียบ ประกาศ หรือแนวปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ขัดแย้งกับหลักการห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ เพื่อรับรองสิทธิทนายความหญิงให้สามารถสวมกางเกงหรือกระโปรงเมื่อสวมเสื้อครุยขณะว่าความในศาลได้
ย้อนมหากาพย์ต่อสู้ 2 ปี สภาทนายความ เนติฯ ไร้วี่แววแก้ข้อบังคับแต่งกาย
ข้อเสนอปลดล็อกข้อจำกัดการแต่งกายทนายความสำหรับการว่าความในศาล ไม่ได้เพิ่งมีในปี 2565 ย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นปี 2563 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) เคยทำ
แคมเปญเปิดให้ทนายความมาร่วมลงชื่อ เพื่อเสนอแก้ไขข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ (ข้อบังคับฯ) และเมื่อ
10 มิถุนายน 2563 ทนายความจากสนส. ก็เข้าพบตัวแทนสภาทนายความ เพื่อยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อทนายความ 126 คน เสนอให้แก้ไขข้อบังคับฯ เป็นการใช้สิทธิตาม
พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 ที่กำหนดให้ทนายความไม่น้อยกว่า 100 คนมีสิทธิเสนอขอให้คณะกรรมการสภาทนายความพิจารณาแก้ไขข้อบังคับฯ ได้
หากพิจารณาจากอาชีพที่ใกล้เคียงกันอย่างข้าราชการอัยการ
ระเบียบคณะกรรมการอัยการว่าด้วยเครื่องแบบและการแต่งกายของข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2556 ก็ยังให้ข้าราชการอัยการหญิงสวมกางเกงปฏิบัติงานได้ อย่างไรก็ดี สภาทนายความก็ไม่ได้มีทีท่าว่าจะแก้ไขข้อบังคับฯ อย่างจริงจัง เพราะต่อมาเมื่อ 22 กรกฎาคม 2563 สภาทนายความ
ทำหนังสือตอบกลับมายังสนส. ใจความว่า เรื่องการแต่งกายทนายความหญิงตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 หมวด 5 มรรยาทในการแต่งกาย ข้อ 20 (2) กำหนดไว้ว่าทนายความหญิง แต่งตามแบบสากลนิยม กระโปรงและเสื้อสีสุภาพ ไม่ฉูดฉาด รองเท้าหุ้มส้น เนื่องจากในข้อบังคับฯ ดังกล่าวมิได้ห้ามทนายความหญิงมิให้สวมใส่กางเกงว่าความไว้ ในชั้นนี้เห็นว่ายังไม่มีเหตุอันสมควรในการแก้ไขข้อบังคับฯ
ขยับมาช่วงต้นปี 2564 เมื่อวันที่ 26 มกราคม สนส.
ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกาและสภาทนายความ ขอให้ประกาศแนวปฏิบัติว่าตามที่สภาทนายความตีความว่าไม่มีข้อห้ามมิให้ทนายความหญิงสวมใส่กางเกงในการว่าความ ดังนั้น ทนายความหญิงสามารถแต่งกายโดยสวมใส่กางเกงว่าความในศาลได้ แต่ทางฟากศาลก็ไม่ได้ประกาศแนวปฏิบัติให้รับกับความเห็นของสภาทนายความนัก จะเห็นได้จาก
หนังสือตอบกลับของสำนักประธานศาลฎีกา เมื่อ 14 พฤษภาคม 2564 ซึ่งมีใจความว่า การแต่งกายของบุคคลผู้ปฏิบัติหน้าที่ทนายความในเวลาว่าความนั้น หากบุคคลนั้นมีสิทธิสวมครุยเนติบัณฑิต ย่อมต้องสวมเสื้อครุยนั้นด้วย ตามข้อ 20 (4) ของข้อบังคับฯ รวมทั้งต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อยตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 17 แห่ง
ข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507 ด้วย
หากไปดู ข้อบังคับเนติฯ ข้อ 17 ก็จะพบว่า ข้อบังคับดังกล่าวก็กำหนดการแต่งกายยึดโยงกับเพศเช่นกัน โดยกำหนดให้สมาชิกเนติฯ ที่เป็นหญิง แต่งกายแบบสากลนิยม “กระโปรง” สีขาว กรมท่า ดำ หรือสีอื่นซึ่งเป็นสีเข้มและไม่ฉูดฉาด เสื้อสีขาวหรือสีตามกระโปรง รองหุ้มส้นสีขาว น้ำตาล สีดำ เข้าชุดกันกับเครื่องแต่งกาย ซึ่งก็เป็นการกำหนดที่ไม่ได้แตกต่างจากข้อบังคับฯ ของสภาทนายความมากนัก
แต่เส้นทางการต่อสู้เพื่อขอปลดล็อกการแต่งกายทนายความก็ยังไม่ได้จบเพียงแค่นั้น เพราะเมื่อ 8 ธันวาคม 2564 นิติฮับ (Nitihub) และสนส. ก็ได้
ยื่นหนังสือต่อนายกเนติบัณฑิตยสภา ขอแก้ไขข้อบังคับเนติฯ เรื่องการแต่งกาย และทำแคมเปญให้ประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุนให้ทนายความหญิงสามารถใส่กางเกงไปศาลได้ ทางเว็บไซต์
https://www.change.org/p/ทนายความหญิงมีสิทธิสวมใส่กางเกงไปศาล และนำรายชื่อประชาชนไปยื่นประกอบด้วย
อย่างไรก็ดี ระหว่างที่องค์กร “เสาหลัก” แห่งวิชาชีพกฎหมาย ยังไร้ทีท่าว่าจะขยับ กลุ่มทนายความด้านสิทธิก็ใช้อีกหนึ่งกลไก อาศัยกลไกตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการ วลพ. เพื่อให้วินิจฉัยหรือมีคำสั่งให้สภาทนายความและเนติฯ แก้ไขข้อบังคับ ให้การแต่งกายไม่ต้องกำหนดเพศ ใช้ข้อความที่เป็นกลางทางเพศ
ทนายหญิงร้องวลพ. เหตุผู้พิพากษาตรวจใส่กระโปรงหรือไม่แม้ว่าความออนไลน์
กลไกการร้องเรียนไปยังคณะกรรมการ วลพ. เริ่มต้นเมื่อ 29 มิถุนายน 2565 จิดาภา คงวัฒนกุล ซึ่งเป็นผู้ร้อง เป็นทนายความที่มีเพศกำหนดหญิง ประสบกับปัญหาที่ผู้พิพากษาคอยตรวจตราว่าเธอสวมใส่กระโปรงขณะว่าความหรือไม่ และจดบันทึกเกี่ยวกับการแต่งกายทนายความในรายงานกระบวนการพิจารณา
เรื่องราวที่นำมาสู่การร้องเรียน เริ่มเมื่อ 4 เมษายน 2565 จิดาภาทำหน้าที่เป็นทนายความในคดีที่ศาลจังหวัดสมุทรสาคร มีผู้เข้าร่วมรับฟังการพิจารณาคดีจำนวนมาก เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ได้สอบถามผู้ร้องว่าสวมกางเกงมาว่าความหรือไม่ และผู้พิพากษาในคดีดังกล่าวได้เรียกไปสอบถาม อีกทั้งยังบันทึกในรายงานกระบวนพิจารณาว่า “ทนายโจทก์เป็นผู้หญิงสวมกางเกงมาศาลจึงให้มีหนังสือแจ้งและสอบถามสภาทนายความว่าเป็นการกระทำที่ปฏิบัติตามมรรยาทสภาทนายความหรือไม่ เพื่อจะได้มีคำสั่งในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป”
27 พฤษภาคม 2565 จิดาภาไปว่าความคดีศาลจังหวัดสมุทรสาครเช่นเดิม ศาลก็ยังบันทึกในรายงานกระบวนพิจารณาว่า “เนื่องจากในวันนัดพิจารณาเพื่อไกล่เกลี่ย ให้การ และสืบพยานวันที่ 4 เมษายน 2565 ทนายโจทก์ซึ่งเป็นผู้หญิงสวมกางเกงขณะปฏิบัติหน้าที่และศาลได้มีหนังสือแจ้งสภาทนายความแล้วจึงกำชับทนายโจทก์ให้แต่งกายให้ถูกต้องตามข้อบังคับสภาทนายความ และข้อบังคับเนติฯ แม้จะเป็นการดำเนินกระบวนการพิจารณาทางระบบอิเล็กทรอนิกส์หากตรวจสอบพบว่าทนายโจทก์ซึ่งเป็นผู้หญิงสวมกางเกงขณะปฏิบัติหน้าที่อีกครั้งก็จะพิจารณาสั่งตามที่เห็นสมควรต่อไป”
ต่อมา วันที่ 30 พฤษภาคม 2565 แม้จะเป็นการพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่ผู้พิพากษาก็แจ้งให้จิดาภาลุกขึ้นเพื่อตรวจสอบการแต่งกาย และบันทึกในรายงานกระบวนพิจารณาว่า “เนื่องจากในวันนัดพิจารณาและวันสืบพยานวันที่ 4 เมษายน 2565 ทนายโจทก์ซึ่งเป็นผู้หญิงแต่งกายโดยสวมกางเกงขณะสวมชุดครุยปฏิบัติหน้าที่ทนายความ ในวันนี้จึงให้ทนายโจทก์ลุกขึ้นเพื่อตรวจสอบเกี่ยวกับการแต่งกายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทนายโจทก์แต่งกายโดยสวมกระโปรงจึงให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป”
ในกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการ วลพ. ก็ได้เปิดให้ผู้ถูกร้องทั้งสอง คือสภาทนายความ และเนติฯ ทำคำให้การเพื่อแก้ต่างด้วย ส่วนคำให้การของสภาทนายความ มีใจความว่า ผู้ที่จะเป็นสมาชิกสภาทนายความต้องเป็นสมาชิกเนติฯ การกำหนดข้อบังคับจึงเชื่องโยงกัน การบังคับใช้หลักเกณฑ์ของทั้งสองหน่วยงานจึงไม่อาจแยกจากกันได้ ซึ่งข้อบังคับของหน่วยงานทั้งสองก็กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการแต่งกายของสมาชิกโดยแบ่งแยกตามเพศชายและเพศหญิง แต่เหตุของการกำหนดข้อบังคับฯ ก็สืบเนื่องมาจากการทำงานของทนายความจะมีผลกระทบต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพและทรัพย์สินประชาชน การใช้อำนาจดูแลทนายความจึงต้องเคร่งครัดเพื่อให้ทนายความอยู่ในกรอบของมรรยาทและจริยธรรม แต่สภาทนายความก็ไม่ได้ออกข้อบังคับห้ามมิให้ชายหรือหญิงเพศใดเพศหนึ่งประกอบวิชาชีพทนายความและเข้ารับฝึกอบรมวิชาว่าความ เพื่อประโยชน์ในการปกครองผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ ข้อบังคับและระเบียบเกี่ยวกับการแต่งกาย จึงไม่ได้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และไม่ได้เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมระหว่างเพศแต่อย่างใด
ด้านเนติฯ ทำคำให้การมีใจความว่า ตั้งแต่อดีต ผู้พิพากษา อัยการ หรือทนายความ จะสวมเสื้อครุยเนติบัณฑิตในการปฏิบัติหน้าที่ในศาล ซึ่งต่างจากผู้สำเร็จสาขาวิชาชีพอื่นๆ ที่ไม่ต้องสวมเสื้อครุยขณะปฏิบัติหน้าที่ การที่ผู้ร้องขอให้แก้ไขข้อบังคับเนติฯ ลบเงื่อนไขการแต่งกายออก ให้ทนายความหญิงซึ่งเป็นสมาชิกเนติฯ สามารถสวมกางเกงไปว่าความที่ศาลได้ ไม่น่าจะเป็นการเหมาะสมด้วยประเพณีและวัฒนธรรมการแต่งกายของไทยที่ปฏิบัติมาเป็นเวลานาน เพราะในการพิจารณาคดีในศาล ผู้พิพากษา อัยการ ก็ยังแต่งกายตามหลักเกณฑ์ โดยการปฏิบัติหน้าที่ในศาล เป็นการปฏิบัติหน้าที่เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ การที่ทนายความหญิงจะสวมกางเกงในห้องพิจารณาจึงไม่เหมาะสม หากเนติฯ แก้ข้อบังคับดังกล่าว ในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรเนติบัณฑิต ก็จะมีเนติบัณฑิตอ้างสิทธิขอสวมกางเกงเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานประกาศนียบัตรได้
คณะกรรมการ วลพ. พิจารณาแล้วเห็นว่า ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวกับสิทธิในการแต่งกาย ซึ่งในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 27 กำหนดให้ความแตกต่างในเรื่อง “เพศ” ไม่เป็นเหตุที่จะนำมาปฏิบัติต่อบุคคลแตกต่างกัน ทุกคนไม่ว่าเพศชายหรือหญิงย่อมมีสิทธิแต่งกายตามที่ประสงค์ การที่ข้อบังคับสภาทนายความและเนติฯ กำหนดหลักเกณฑ์การแต่งกายของสมาชิกสำหรับเพศชายหรือหญิง เข้าลักษณะแบ่งแยก กีดกัน จำกัดสิทธิการแต่งกาย จากข้อบังคับทั้งสองฉบับ ที่กำหนดให้ทนายความหญิงต้องสวมกระโปรงเท่านั้นในเวลาสวมครุยว่าความ โดยไม่สามารถสวมกางเกงที่มีลักษณะสุภาพได้ เป็นการกำหนดกฎที่กีดกันและจำกัดสิทธิประโยชน์ในการใช้สิทธิแต่งกายของทนายความหญิง ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยปราศจากความชอบธรรม เพราะเหตุที่บุคคลนั้นเป็นเพศหญิง ซึ่งถือว่าเป็น “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ” จึงมีคำสั่งให้สภาทนายความและเนติฯ ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขข้อบังคับ กฎ ระเบียบ ประกาศ หรือแนวปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ขัดแย้งกับหลักการห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ เพื่อรับรองสิทธิทนายความหญิงให้สามารถสวมกางเกงหรือกระโปรงเมื่อสวมเสื้อครุยขณะว่าความในศาลได้ เพื่อระงับและป้องกันมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ และให้ดำเนินการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทราบ โดยการดำเนินการ ต้องแล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย
ยังต้องจับตาต่อ สภาทนายความ เนติฯ จะปลดล็อกข้อบังคับแต่งกายหรือไม่
ซึ่งก่อนหน้าที่คณะกรรมการ วลพ. จะมีคำวินิจฉัยนี้ สภาทนายความก็เคยฟ้องคณะกรรมการ วลพ. ต่อศาลปกครองกลางมาแล้ว เป็นคดีหมายเลขดำที่ 1726/2565 จากรายงานข่าวของ
เวิร์คพอยต์ทูเดย์ คาดการณ์ว่ามูลเหตุการฟ้อง สืบเนื่องจากคณะกรรมการ วลพ. วินิจฉัยให้สภาทนายความ ปรับปรุงแก้ไขข้อบังคับ กฎระเบียบ ประกาศ หรือแนวปฏิบัติเพื่อรับรองสิทธิของบุคคลที่มีการแสดงออกทางเพศแตกต่างจากเพศโดยกำเนิดให้สามารถแต่งกายตามเพศสภาพของตนได้ สืบเนื่องจาก
นักกฎหมายหญิงข้ามเพศได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการ วลพ.
จากทีท่าของสภาทนายความที่ผ่านมา อาจจะยังชี้ชัดไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าสภาทนายความจะดำเนินการแก้ไขข้อบังคับฯ ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ วลพ. โดยไม่มีข้อโต้แย้ง จึงต้องจับตากันต่อไปว่า สภาทนายความรวมถึงเนติฯ จะแก้ไขข้อบังคับเรื่องการแต่งกาย ปลดล็อกข้อจำกัดที่ยึดโยงกับเพศหรือไม่