
บ่ายโมงของวันที่ 16 มกราคม 2566 เด็กสาวสองคนชื่อ “ตะวันและแบม” ตัดสินใจเดินเข้าเรือนจำเองด้วยความสมัครใจเพื่อแลกกับการให้เพื่อนได้ประกันตัว
ก่อนเข้าศาล ทั้งคู่เทของเหลวสีแดงลงบนร่างกายให้อาบหน้า ก่อนจะค่อยๆ ไหลลงมาบนตัว ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในกิจกรรมที่พวกเธอตั้งชื่อว่า “เลือดแลกเลือด”
ในเย็นวันเดียวกัน ศาลอาญา รัชดา รับคำร้องให้ถอนประกัน ทั้งสองคนจึงถูกส่งตัวไปที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ก่อนจะประกาศยกระดับ “อดข้าว-อดน้ำ” จนกว่าข้อเรียกร้องของพวกเธอจะได้รับการตอบรับ
เกิดอะไรขึ้นกับ “ตะวัน-แบม” ? เรื่องราวนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร? ทั้งสองคนเป็นใคร? ทำความเข้าใจข้อเรียกร้องของพวกเธอดังต่อไปนี้
(1) ตะวันคือใคร ??
“ตะวัน” มีชื่อจริงว่าทานตะวัน ตัวตุลานนท์ อายุ 21 ปี ตะวันเคยเป็นการ์ดอาสาสมัครกับกลุ่ม We Volunteer (WeVo) หลายคนอาจจดจำเธอได้จากเหตุการณ์
“ไลฟ์ขบวนเสด็จ” ขณะกำลังจะเคลื่อนผ่าน #ม็อบชาวนา บริเวณถนนราชดำเนินนอก เมื่อ 5 มีนาคม 2565 โดยในวันดังกล่าว ตะวันถูกเจ้าหน้าทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้าล้อมไม่ต่ำกว่า 20-30 นาย ระหว่างที่กำลังยืนถ่ายทอดสดเพื่อวิพากษ์วิจารณ์การจัดการขบวนเสด็จฯ โดยตะวันเห็นว่า ก่อนที่ขบวนเสด็จจะมาถึง ได้มีการผลักไสให้กลุ่มผู้ชุมนุมต้องออกจากพื้นที่ ซึ่งคือความไม่เป็นธรรม และรัฐควรมีพื้นที่ให้ผู้ชุมนุมได้ส่งเสียงเรียกร้อง
เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ตะวันต้องถูกคุมขังอยู่ที่ สน.นางเลิ้งและสโมสรตำรวจนาน สามวันสองคืน ตามมาด้วยข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ มาตรา 112, ต่อสู้ขัดขืนเจ้าพนักงาน มาตรา 138 และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน มาตรา 368
นอกจากนี้ ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2565 ตะวันยังเคยทำการประท้วง
อดอาหารเป็นเวลานาน 37 วัน ภายหลังศาลอาญา รัชดา เพิกถอนสัญญาประกันตั้งแต่ 20 เมษายน 2565 กระทั่งได้รับการประกันตัวเมื่อ 26 พฤษภาคม 2565 พร้อมด้วยเงื่อนไขห้ามออกนอกเคหะสถานเป็นเวลา 24 ชั่วโมง (House Arrest)
(2) แบมคือใคร ??

"แบม" มีชื่อจริงว่าอรวรรณ อายุ 23 ปี เป็นนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวอิสระไม่สังกัดกลุ่มใด ชื่อของแบมอาจไม่คุ้นหูคนทั่วไปมากนัก แต่ใครหลายคนอาจเคยเดินสวนกับเธอในม็อบมาก่อน เพราะแบมเป็นคนที่เข้าร่วมการชุมนุมอย่างสม่ำเสมอมาตั้งแต่ปี 2563 เพื่อนของเธอเล่าว่า แบมมักจะพก "ป้ายข้อเรียกร้อง" ติดตัวเพื่อนำไปชูในพื้นที่การชุมนุมด้วยเสมอ ต่อมา ในปี 2565 แบมถูกตั้งข้อหามาตรา 112 จำนวนหนึ่งคดี
แบมเป็นคนที่ชอบทำสีผม ด้วยสไตล์ทรงผมที่เปลี่ยนไปในทุกๆ ปีจึงอาจทำให้จดจำเธอได้ยาก โดยต้นปี 2563 แบมทำผมสีน้ำตาลแดง ก่อนจะเปลี่ยนเป็นสีทองเมื่อกลางปี ต่อมา ในปี 2564 แบมย้อมผมสีน้ำตาลและเริ่มตัดหน้าม้าซีทรูในช่วงกลางปี กระทั่งมาถึงลุคล่าสุดที่เธอปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณะหน้าศาลอาญา รัชดา พร้อมกับตะวัน เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 คือลุคผมดำประบ่าและมีหน้าม้า
เอกลักษณ์หนึ่งที่ไม่เหมือนใครของแบม คือการ “ชูสามนิ้ว” ในลักษณะที่นิ้วห่างออกจากกันอย่างสิ้นเชิง ส่งผลให้เพื่อนบางคนของเธอตั้งชื่อให้ว่า นี่คือ “สามนิ้วแบบตีนไก่”
นอกจากนี้ แบมยังเคยร่วมเดินขบวน Let’s UNLOCK EM “ปลดมันออกไป” จัดขึ้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2565 เพื่อเรียกร้องให้มีการปลดกำไล EM นักกิจกรรมทางการเมืองโดยไม่มีเงื่อนไข โดยมีการคล้องโซ่ที่ข้อเท้าของผู้เข้าร่วมขณะเดิน เริ่มต้นจากศาลอาญากรุงเทพใต้จนถึงบริเวณห้างสยามสแควร์วัน และจบกิจกรรมด้วยการตัดโซ่เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์
เนื่องจากแบมเป็นนักกิจกรรมอีกคนหนึ่งที่ถูกศาลตั้งเงื่อนไขให้ใส่กำไล EM ในวันดังกล่าวแบมจึงแขวนป้ายไว้ที่คอขณะเดิน โดยระบุข้อความว่าเธอถูกบริษัทเลิกจ้างงานเนื่องจากการใส่กำไล EM รวมทั้งกล่าวถึงผลกระทบอื่นๆ ที่เกิดขึ้น ดังนี้
“เมื่อฉันต้องใส่กำไลข้อเท้า EM ฉันกลายเป็นคนว่างงาน ฉันโดนสังคมตีตราว่าฉันเป็นนักโทษและเป็นเรื่องน่าอับอายที่จะรับฉันเข้าทำงาน ฉันเป็นแผลที่ข้อเท้า เวลาเดินหรือวิ่ง ฉันจะเจ็บเท้า กลายเป็นความเครียดสะสมที่จะต้องรับมือกับสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัว... เลิกโทษเหยื่อ ฉันไม่ใช่นักโทษ”
(3) “ตะวัน-แบม” ถูกตั้งข้อหา ม.112 เพราะอะไร ??

ข้อหามาตรา 112 ของตะวันและแบม สืบเนื่องมาจากการทำโพลสติกเกอร์ที่บริเวณหน้าห้างสยามพารากอน เมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปว่า "ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่?" โดยในช่วงเย็นก่อนจบกิจกรรม ได้มีการพยายามนำโพลไปส่งที่วังสระปทุม
กิจกรรมในวันดังกล่าว ยังมีเพื่อนนักกิจกรรมคนอื่นๆ เช่น
ใบปอและบุ้ง สองนักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุวัง มาร่วมด้วย ซึ่งต่อมาทั้งคู่ก็ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 จากเหตุการณ์นี้เช่นกัน
เกือบหนึ่งเดือนต่อมา 10 มีนาคม 2565 สน.ปทุมวันนัดหมายทุกคนให้มา
รับทราบข้อกล่าวหา (ยกเว้นตะวันที่ถูกแจ้งข้อหาตั้งแต่ถูกควบคุมตัวที่สโมสรตำรวจเมื่อ 6 มีนาคม 2565) โดยตำรวจได้ขออำนาจศาลเพื่อทำการฝากขัง ก่อนที่ทุกคนจะได้รับการประกันตัวในวันเดียวกันด้วยหลักทรัพย์ 200,000 บาท พร้อมเงื่อนไขจำนวนสี่ข้อ ได้แก่
1. ห้ามทำกิจกรรมหรือการกระทำใดที่อาจเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
2. ห้ามโพสต์เชิญชวน ปลุกปั่น ยั่วยุ ชักจูงประชาชนให้เข้าร่วมชุมนุมในสื่อโซเชียลมีเดีย หรือร่วมชุมนุมที่อาจก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง
3. ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล
4. ให้ติดอุปกรณ์กำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM)
(4) ทำไม “ตะวัน-แบม” ต้องการถอนประกันตัวเอง ??
9 มกราคม 2566 ศาลอาญา รัชดา มีคำสั่งเพิกถอนสัญญาประกันของ ใบปอ-ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ จากกลุ่มทะลุวัง และเก็ท-โสภณ สุรฤทธิ์ธํารง จากกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ เพื่อนของตะวันและแบมซึ่งถูกตั้งข้อหามาตรา 112 ด้วยกันทั้งคู่
ข้อมูล
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ในวันดังกล่าว พริษฐ์ ปิยะนราธร รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา นั่งบัลลังก์และอ่านคำสั่งด้วยตนเอง ใจความว่า ทั้งใบปอและเก็ท เคยได้ประกันตัวพร้อมเงื่อนไข “ห้ามกระทำการในลักษณะหรือทำนองเดียวกับที่ถูกกล่าวหา” รวมทั้ง “ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ที่อาจสร้างความวุ่นวายต่อบ้านเมือง” โดยศาลเห็นว่า การที่ทั้งสองเข้าร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 (ม็อบต่อต้าน #Apec2022) จนมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่และมีการนำมวลชนมาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นการกระทำผิดเงื่อนไขที่ศาลกำหนดไว้
อย่างไรก็ตาม กระบวนการไต่สวนถอนประกันในครั้งนี้มีความผิดปกติหลายอย่าง อาทิ ข้อมูลของ
ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ในนัดไต่สวนครั้งแรกเมื่อ 15 ธันวาคม 2565 ศาลเลื่อนการไต่สวนออกไป เนื่องจากฝ่ายจำเลยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ร้องขอถอนประกันตัวและกล่าวหาจากเหตุใด
ต่อมา ทราบว่าผู้ร้องคือ วรินทร ขอบโคกกรวด ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ศาลยุติธรรมชำนาญงาน การยื่นคำร้องในครั้งนี้จึงเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ศาลเป็นผู้ร้องและเสนอรายงานต่อผู้พิพากษาเอง โดยที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่ง
ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า การไต่สวนในลักษณะนี้ไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ภายหลังเก็ทและใบปอถูกนำตัวเข้าเรือนจำได้ประมาณหนึ่งอาทิตย์ วันที่ 16 มกราคม 2566 ตะวันและแบมจึงทำกิจกรรม
“เลือดแลกเลือด” ที่บริเวณหน้าศาลอาญา รัชดา มีการเทของเหลวสีแดงลงบนร่างกาย พร้อมประกาศถอนประกันตนเอง เพื่อเรียกร้องให้ศาลปล่อยเพื่อนๆ และนักกิจกรรมทางการเมืองที่ยังไม่ได้ประกันตัวมาตั้งแต่ปี 2565
ในเย็นวันดังกล่าว ศาลมีความเห็นเพิกถอนประกัน จากนั้น ตะวันและแบมจึงถูกส่งตัวไปที่เรือนจำทัณฑสถานหญิงกลาง
(5) เกิดอะไรขึ้นหลัง “ตะวัน-แบม” เข้าเรือนจำ ??
ภายหลังเข้าเรือนจำได้ประมาณสองวัน เวลา 19.59 น. ของวันพุธที่ 18 มกราคม 2566 เฟซบุ๊กของ
ตะวันและ
แบม ได้เผยแพร่คลิปที่ทั้งคู่บันทึกไว้ก่อนเข้าเรือนจำ โดยระบุแคปชั่นว่า “แถลงการณ์ยกระดับ!! ประกาศ "อดน้ำและอาหาร" ทันที” พร้อมติด #เลือดต้องแลกด้วยเลือด
ในคืนเดียวกัน เฟซบุ๊กของ
รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักกิจกรรมหญิงจากกลุ่มราษฎร ที่เคยอดอาหารประท้วงในเรือนจำเมื่อปี 2564 เผยแพร่ข้อความถึงกรณีการยกระดับดังกล่าวว่า
“จากวันนี้ ตอนนี้ เราเหลือเวลาอีกไม่กี่วันก่อนที่ตะวันกับแบมจะถึงจุดวิกฤติจากการอดอาหารและน้ำ น้องอาจจะอยู่ได้ไม่ถึงอาทิตย์ด้วยซ้ำ ตะวันกับแบมได้พูดก่อนเข้าไปว่า “ไทยเฉยเราจะตายกันหมด” และ “เราไว้ใจคนที่อยู่ข้างนอก” โปรดสนใจเรื่องนี้”
วันถัดมา (19 มกราคม 2566)
บันทึกเยี่ยมของศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ภายหลังเข้าเรือนจำเป็นเวลาสามวัน ทั้งแบมและตะวันยังคงยืนยันที่จะยกระดับการต่อสู้ต่อไป โดยตะวันกล่าวกับทนายเยี่ยมว่า “ถ้าเพื่อนไม่ได้ประกัน ก็ไม่ต้องยื่นประกันตะวันกับแบม แล้วพวกหนูก็ยืนยันจะยกระดับการประท้วงตามที่ได้บอกกับทุกคนไว้”
20 มกราคม 2566 เวลา 11.57 น. เฟซบุ๊กเพจ
ทะลุวัง - Thaluwang ได้โพสต์อัพเดทอาการของตะวันและแบมว่า ทางราชทัณฑ์แจ้งว่า ขณะนี้ทั้งสองถูกพาตัวไปโรงพยาบาลราชทัณฑ์แล้ว จากนั้น เวลา 12.36 น.
ทวิตเตอร์ของเบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อจากพรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ตอนหนึ่งว่า
"ได้ทราบจากแพทย์ว่าอาการโดยรวมขณะนี้ของทั้ง 2 คนยังช่วยเหลือตัวเองได้มีอาการอ่อนเพลีย จากการอดน้ำอาหาร ถามตอบได้ปกติสัญญาณชีพปกติ แต่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การรักษา แต่ทั้ง 2 ยังคงปฏิเสธการรับยาปฏิเสธรักษา"
ข้อเรียกร้องที่ตะวันและแบมประกาศไว้หน้าศาลอาญา รัชดาในกิจกรรม "เลือดแลกเลือด" มีสามข้อ ดังนี้
1.ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาลต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพการแสดงออกเป็นอย่างแรก ต้องเป็นอิสระปราศจากอำนาจนำ ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และผู้บริหารศาลต้องไม่แทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดี
2.ยุติการดำเนินความกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุม และการแสดงออกทางการเมือง
3.พรรคการเมืองทุกๆ พรรค ต้องเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยการยกเลิก ม.112 และ ม.116