เลือกตั้ง 66: คิดให้ดูทีละขั้น!! เปิดสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคปัดเศษยังมีลุ้นได้ที่นั่ง

เลือกตั้ง 66: คิดให้ดูทีละขั้น!! เปิดสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคปัดเศษยังมีลุ้นได้ที่นั่ง

เมื่อ 8 ก.พ. 2566

 

เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2566 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 (กฎหมายเลือกตั้ง) ประกาศใช้เพื่อรองรับ #เลือกตั้ง66 ที่กำลังจะมาถึง ระบบการเลือกตั้งปี 2566 นั้นแตกต่างไปจากการเลือกตั้งครั้งก่อนในปี 2562 โดยจะนำระบบ “บัตรสองใบ” ที่แยกบัตร ส.ส.เขต และบัญชีรายชื่อออกจากกัน รวมทั้งปรับสัดส่วนให้มี ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน

 

กติกาเลือกตั้ง ส.ส.เขต เข้าใจไม่ยาก เนื่องจากใช้ระบบเสียงข้างมากแบบธรรมดา คือ ผู้สมัคร ส.ส. คนใดได้คะแนนสูงสุดจากผู้มาใช้เสียงทั้งหมดในเขตเลือกตั้งนั้นก็จะเป็นผู้ชนะ และได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนเขตเลือกตั้งเข้าไปนั่งในสภา ในขณะที่การคำนวณสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซับซ้อนและเป็นที่ถกเถียงมากกว่า ถึงขนาดที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เคยเปลี่ยนสูตรคำนวณมาแล้วในปี 2562 อย่างไรก็ดี กฎหมายเลือกตั้งฉบับใหม่ระบุขั้นตอนการคำนวณไว้ชัดเจนแล้ว จึงชวนทำความเข้าใจวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วยภาษาที่อ่านเข้าใจได้เป็นขั้นตอน ดังนี้

 

ขั้นตอนการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

 

กฎหมายเลือกตั้งฉบับใหม่จะใช้ระบบ Mixed Member Majoritarian หรือ MMM หรือระบบที่คนนิยมเรียกว่า "ระบบคู่ขนาน" (Parallel System) เนื่องจากเป็นระบบการจัดสรรที่นั่ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แบบแยกขาดออกจากกัน โดยมาตรา 96 ของกฎหมายเลือกตั้ง กำหนดขั้นตอนการคำนวณสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไว้ดังนี้

 

1) ให้รวมผลคะแนนทั้งหมดที่ทุกพรรคการเมืองได้รับจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อทั้งประเทศ หารด้วย 100 ผลลัพธ์ที่ได้ คือ “คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคน”

 

เช่น หากนำผลการเลือกตั้งปี 2562 มาคำนวณเป็นตัวอย่าง พรรคการเมืองที่ส่งส.ส.บัญชีรายชื่อได้คะแนนรวมทั้งหมด 35,561,556 เสียง หารด้วย 100 ดังนั้น คะแนนเฉลี่ยต่อส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคน จะเท่ากับ 355,561.56 เสียง

 

2) ให้นำคะแนนรวมจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับ หารด้วยคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคน ผลลัพธ์ที่ได้ "เฉพาะส่วนที่เป็นจำนวนเต็ม" คือจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นได้รับ

 

หากนำคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับในปี 2562 มาหารด้วย 355,561.56 จะได้ผลลัพธ์ตามตารางด้านล่างนี้ (แสดงเฉพาะพรรคการเมือง 20 อันดับแรก)

 

อันดับพรรคการเมืองคะแนนเสียงคะแนนเสียง / คะแนนเฉลี่ยนับเฉพาะจำนวนเต็ม
1พลังประชารัฐ8,441,27423.737123
2เพื่อไทย7,881,00622.161622
3อนาคตใหม่6,330,61717.801917
4ประชาธิปัตย์3,959,35811.133811
5ภูมิใจไทย3,734,45910.501410
6เสรีรวมไทย824,2842.31792
7ชาติไทยพัฒนา783,6892.20382
8เศรษฐกิจใหม่486,2731.36741
9ประชาชาติ481,4901.35401
10เพื่อชาติ421,4121.18501
11รวมพลังประชาชาติไทย415,5851.16861
12ชาติพัฒนา244,7700.68830
13พลังท้องถิ่นไทย214,1890.60230
14รักษ์ผืนป่าประเทศไทย134,8160.37910
15พลังปวงชนไทย80,1860.22550
16พลังชาติไทย73,4210.20650
17ประชาภิวัฒน์69,4310.19520
18พลังไทยรักไทย60,4340.16990
19ไทยศรีวิไลย์60,3540.16970
20ครูไทยเพื่อประชาชน56,6330.15930
รวม   91

 

3) ถ้าจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคได้รับรวมกันไม่ครบ 100 คน กฎหมายเลือกตั้งระบุไว้ชัดว่า ให้ “พรรคการเมืองที่มีผลลัพธ์ที่เป็นเศษโดยไม่มีจำนวนเต็ม” และ “พรรคการเมืองที่มีเศษหลังการคำนวณตามข้อ 2) ข้างต้น” พรรคใดเป็นหรือมีเศษจำนวนมากที่สุด ให้ได้รับจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก 1 คนเรียงตามลำดับ จนกว่าจะมีจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองทั้งหมดได้รับรวมกันครบ 100 คน

 

จากตารางข้างต้น จะเห็นว่าหากนับเฉพาะจำนวนเต็ม พรรคการเมืองทั้งหมดจะได้รับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพียง 91 คนเท่านั้น ยังไม่ครบ 100 คน ดังนั้นจะต้องมีการ “ปัดเศษ” โดยจะต้องนำคะแนนเศษของทุกพรรคการเมืองมาเรียงลำดับ โดยไม่ต้องคำนึงว่าพรรคนั้นจะได้คะแนนเป็นจำนวนเต็มหรือได้รับคะแนนเกินคะแนนเฉลี่ยต่อส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคน (355,561.56) หรือไม่ ซึ่งกรณีตามตัวอย่างนี้ จะต้องการ ส.ส. บัญชีรายชื่ออีก 9 คน จึงจะครบ 100 คน ดังนั้น จะต้องนำคะแนนเศษของทุกพรรคการเมืองมาเรียงลำดับ พรรคที่มีเศษสูงสุด 9 อันดับแรก จะได้ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มอีกพรรคละ 1 คน โดยผลลัพธ์จะเป็นไปตามตารางด้านล่างนี้

 

อันดับพรรคการเมืองคะแนนรวมคะแนนรวม / คะแนนเฉลี่ยนับเฉพาะจำนวนเต็มเศษ (เลือก 9 อันดับมากที่สุด)รวม ส.ส. บัญชีรายชื่อ
1พลังประชารัฐ8,441,27423.7371230.737124
2เพื่อไทย7,881,00622.1616220.161622
3อนาคตใหม่6,330,61717.8019170.801918
4ประชาธิปัตย์3,959,35811.1338110.133811
5ภูมิใจไทย3,734,45910.5014100.501411
6เสรีรวมไทย824,2842.317920.31793
7ชาติไทยพัฒนา783,6892.203820.20382
8เศรษฐกิจใหม่486,2731.367410.36742
9ประชาชาติ481,4901.354010.35402
10เพื่อชาติ421,4121.185010.18501
11รวมพลังประชาชาติไทย415,5851.168610.16861
12ชาติพัฒนา244,7700.688300.68831
13พลังท้องถิ่นไทย214,1890.602300.60231
14รักษ์ผืนป่าประเทศไทย134,8160.379100.37911
15พลังปวงชนไทย80,1860.225500.22550
16พลังชาติไทย73,4210.206500.20650
17ประชาภิวัฒน์69,4310.195200.19520
18พลังไทยรักไทย60,4340.169900.16990
19ไทยศรีวิไลย์60,3540.169700.16970
20ครูไทยเพื่อประชาชน56,6330.159300.15930
รวม   91 100

 

ทั้งนี้ วิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อสำหรับการเลือกตั้งปี 2566 จะมีความแตกต่างกับระบบการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 ตรงที่รัฐธรรมนูญ 2540 ได้กำหนด “คะแนนขั้นต่ำของพรรคที่จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ” ไว้ที่ร้อยละ 5 ของคะแนนรวมทั้งประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปรากฏการณ์ “ส.ส.ปัดเศษ” หรือ ส.ส.จากพรรคที่ได้คะแนนน้อยกว่า “คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคน”

 

อย่างไรก็ดี การคำนวณสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อตามกฎหมายเลือกตั้งปี 2566 ไม่ใช่เรื่องใหม่ของประวัติศาสตร์การเมืองไทย เนื่องจากเป็นสูตรคำนวณเดียวกับการเลือกตั้งปี 2554 ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) โดยกฎหมายเลือกตั้งในขณะนั้น ไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนเท่ากับกฎหมายฉบับปัจจุบัน โดยระบุเพียงว่า “ในกรณีที่จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองได้รับรวมกันทุกพรรคการเมืองมีจำนวนไม่ครบหนึ่งร้อยยี่สิบห้าคน ให้พรรคการเมืองที่มีผลลัพธ์ตาม (๓) เป็นเศษที่มีจำนวนมากที่สุด…” แต่ในทางปฏิบัติ กกต. ก็คำนวณผลการเลือกตั้งโดยนับรวมพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงน้อยกว่า “คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคน” เข้าด้วย ทำให้ผลการเลือกตั้งปี 2554 มี “ส.ส.ปัดเศษ” จำนวน 4 คน

 

ส.ส.ปัดเศษมีลุ้นเข้าสภา แต่อาจสำคัญน้อยลงในการจัดตั้งรัฐบาล

 

แม้ว่าในปี 2566 ปรากฏการณ์ “ส.ส.ปัดเศษ” (ในที่นี้หมายถึง ส.ส.จากพรรคที่ได้คะแนนเสียงน้อยกว่าคะแนนเฉลี่ยต่อส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคน) ยังสามารถเกิดขึ้นได้ แต่มีแนวโน้มว่าบรรดา ส.ส.ปัดเศษ เหล่านี้ จะมีความสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลน้อยลง เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งปี 2562 เนื่องจากส.ส.ปัดเศษแม้จะเกิดขึ้นได้ แต่ก็เกิดขึ้นได้ยากกว่าปี 2562 มาก เห็นได้จากตัวอย่างการคำนวณข้างต้น จะมี ส.ส.ปัดเศษเพียง 3 คน ซึ่งน้อยกว่าปี 2562 ที่มี ส.ส.ปัดเศษทั้งหมด 11 คน นอกจากนี้ คะแนนเสียงที่พรรคการเมืองนั้นได้รับจะต้องแตะ “หลักแสน” ต่างกับปี 2562 ที่มีพรรคการเมืองซึ่งได้รับเพียง 35,099 เสียง ก็สามารถมีส.ส.บัญชีรายชื่อแล้ว เมื่อส.ส.ปัดเศษเกิดได้ยากขึ้นและมีจำนวนน้อยลง โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์แบบปี 2562 ที่เหล่า ส.ส.ปัดเศษ 11 คน มีอำนาจต่อรองเพื่อเข้าร่วมกับพรรครัฐบาล คงเกิดได้ยากขึ้น