เข้าสู่ “ฤดูกาลหาเสียง” สำหรับการเลือกตั้งครั้งใหม่ในปี 2566 ที่บรรดาผู้สมัครส.ส. และพรรคการเมืองพากันออกเดินสายทั่วประเทศ สร้างความนิยมผ่านวิธีการต่างๆ ซึ่งทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ก็ออกแบบมาเพื่อจำกัดอำนาจของพรรคการเมืองขนาดใหญ่ หรือนายทุนการเมือง ไม่ให้ได้เปรียบในสนามเลือกตั้งจนเกินไป จึงมาพร้อมกับอำนาจเต็มในมือเป็น "กฎเหล็ก" ข้อจำกัดการหาเสียง
หากมี “การยุบสภา” กรอบเวลาหาเสียง 180 วัน สิ้นผล
มาตรา 68 และมาตรา 64 ของกฎหมายเลือกตั้งฯ วางกรอบระยะเวลาคร่าวๆ ว่า ช่วงเวลาใดบ้างที่ถือเป็นฤดูกาลหาเสียงเลือกตั้งแล้วให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ โดยจะต้องนำมาคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อแจ้งต่อกกต.ด้วย ซึ่งกรอบระยะเวลาการหาเสียงรวมถึงการคำนวณค่าใช้จ่ายจะเริ่มนับและมีผลทางกฎหมายแตกต่างกันตามแต่ละกรณี ดังนี้
1. กรณีรัฐบาลอยู่ครบวาระ
เริ่มนับตั้งแต่ 180 วันก่อนครบวาระสภา จนถึงวันก่อนวันเลือกตั้ง กรอบระยะเวลานี้คือช่วงเวลาที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องอยู่ภายใต้กฎการหาเสียง และการคำนวณค่าใช้จ่ายที่ใช้ทั้งหมดให้คำนวณตั้งแต่กรอบ180วันเช่นกัน แต่ให้คำนวณจนถึงวันเลือกตั้ง สำหรับสภาผู้แทนราษฎรชุดที่จะหมดวาระในวันที่ 23 มีนาคม 2566 กกต.ประกาศให้เริ่มนับช่วงเวลาหาเสียงเลือกตั้ง ตั้งแต่ 24 กันยายน 2565
2. กรณียุบสภา
เริ่มนับวันแรกคือ ตั้งแต่ “วันที่ยุบสภา” จนถึงวันก่อนวันเลือกตั้ง กรอบระยะนี้เป็นช่วงเวลาที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งสามารถหาเสียงได้ ส่วนการคำนวณค่าใช้จ่ายให้คำนวณตั้งแต่วันที่ยุบสภาจนถึงวันเลือกตั้ง ยุบสภาจึงเป็นกรณียกเว้นที่ทำให้กรอบ 180 วันของการหาเสียงล่วงหน้านั้นไม่มีผล ดังนั้น สำหรับนักการเมืองผู้สมัครรับเลือกตั้งแล้ว หากมีการยุบสภาแม้จะใกล้ครบวาระเต็มทีก็จะได้รับประโยชน์มากกว่าเพราะกรอบเวลาที่อยู่ภายใต้กำกับการหาเสียงนั้นสั้นลง และมีภาระในการแจ้งค่าใช้จ่ายต่อ กกต. ลดลง
แนวปฏิบัติที่ทำได้-ทำไม่ได้ ไปงานบวช งานศพ ห้ามให้เงิน
วิธีการหาเสียงของผู้สมัครส.ส. และพรรคการเมือง นอกจากระเบียบกกต. วิธีการหาเสียงฯ แล้ว
ทางกกต. ยังได้ออก แนวทางปฏิบัติ ลงรายละเอียดและยกตัวอย่างกิจกรรมที่สามารถทำได้และทำไม่ได้เพิ่มขึ้นอีก มีดังนี้
- แจกเอกสาร หรือทำวิดีโอ เกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งในเขตชุมชน สถานที่ หรือ งานพิธีการต่าง ๆ โดยเอกสารที่ใช้สามารถมีรูปถ่าย ข้อความ ที่เกี่ยวข้องกับตัวผู้สมัครและพรรคที่สังกัด รวมถึงนโยบาย
- จัดสถานที่ จัดเวทีปราศรัย และสามารถใช้เครื่องขยายเสียงได้
- ใช้ยานพาหนะต่าง ๆ ในการช่วยหาเสียง
- หาเสียงผ่านทางออนไลน์ เช่น เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ ยูทูป
- เข้าไปหาเสียงในสถานที่ต่าง ๆ โดยต้องขออนุญาตเจ้าของพื้นที่ก่อน
- ส่งจดหมาย สื่อสิ่งพิมพ์ ถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
- มีผู้ช่วยหาเสียงได้ โดยต้องแจ้งรายละเอียดตามระเบียบฯ ต่อกกต.ประจำจังหวัด
- ติดแผ่นป้ายโดยมีชื่อ รูปถ่าย หมายเลขประจำตัวผู้สมัคร โดยต้องเป็นไปตามจุดและขนาดที่กำหนดล่าสุด
- ร่วมงานตามประเพณี เช่น งานศพ งานบวช งานแต่งงาน และมอบพวงหรีดดอกไม้สดได้ แต่ต้องไม่มีการให้เงินหรือทรัพย์สินต่างๆ ยกเว้นเจ้าภาพเตรียมของไว้ให้มอบตามพิธีการ
- จัดพิธีงานต่าง ๆ ได้เท่าที่จำเป็น โดยหลีกเลี่ยงการจัดงานขนาดใหญ่
ส่วนข้อควรระวังที่ห้ามทำระหว่างการหาเสียงนั้น หมายความรวมถึงการดำเนินการหาเสียงเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งเป็นการกระทำโดยไม่เปิดเผย และมีวัตถุประสงค์แอบแฝงอันเป็นลักษณะต้องห้าม โดยเบื้องต้นกำหนดไว้ในมาตรา 73 ของกฎหมายเลือกตั้ง คือ ห้ามบรรดาผู้สมัคร หรือผู้ใดก็ตาม กระทำการในลักษณะที่เป็นการจูงใจให้ลงคะแนนให้แก่ตนเอง หรือผู้สมัครอื่น หรือไม่ให้ลงคะแนนเสียง หรือชักชวนให้ไม่เลือกผู้ใด ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- จัดทำหรือเตรียม /เสนอ /สัญญาจะให้ เงิน ทรัพย์สิน ประโยชน์ แก่ผู้ใด
- เสนอ/สัญญาจะให้ แก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถานศึกษา ฯลฯ ทั้งทางตรง และทางอ้อม
- หาเสียงด้วยการจัดมหรสพ หรืองานรื่นเริง เช่น จ้างนักร้อง หรือหมอลำชื่อดังมาแสดง
- เลี้ยง หรือรับจะจัดเลี้ยง
- หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพล จูงใจหรือใส่ร้ายให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด เช่น การปราศรัยด้วยข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง เป็นต้น
นอกจากนี้ลักษณะต้องห้าม ฯ กกต.ยังกำหนดเพิ่มเติมตามข้อ 17 และข้อ18 ของระเบียบกกต. วิธีการหาเสียงฯ ซึ่งจะต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง ได้แก่
- ห้ามนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้อง
- ห้ามให้ผู้ประกอบชีพที่เกี่ยวกับสื่อสารมวลชน เช่น นักแสดง นักร้อง พิธีกร ฯลฯ เอื้อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งแก่ตนเอง
- ห้ามแจกจ่ายเอกสาร ด้วยวิธีการวาง หรือโปรยในที่สาธารณะ
- ห้ามใช้คำรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย หรือปลุกระดม
- ห้ามช่วยเหลือเงิน ทรัพย์สิน ตามประเพณีต่าง ๆ เช่น ใส่ซองงานบุญ งานบวช งานศพ
- ห้ามมอบของช่วยเหลือประชาชน เช่น บริจาคของช่วยวิกฤติน้ำท่วม
- ห้ามโฆษณาหาเสียงผ่านช่องวิทยุและโทรทัศน์
- จงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และระเบียบกกต. (เพิ่มเติมตามระเบียบกกต. วิธีการหาเสียงฯ (ฉบับที่ 3))
สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้แก่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ข้าราชการการเมือง ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งล่วงหน้า(ตามกรอบ180วัน) ยังคงปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ เช่น การลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชน โดยระหว่างนั้นต้องไม่ใช้ตำแหน่งหาเสียงให้ใครทั้งสิ้น รวมถึงร่วมงานประเพณีต่าง ๆ ได้เช่นกัน แต่ต้องไม่มีการให้เงินหรือทรัพย์สินใด อีกทั้งหาเสียงให้แก่ตนเองและพรรคที่ตนสังกัดได้นอกเวลาราชการเท่านั้น และต้องไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบกระทำการที่เป็นคุณหรือโทษแก่พรรค ฯ ใด
ส่วนหน่วยงานของรัฐดำเนินงานตามปกติ และต้องวางตัวเป็นกลาง ซึ่งต้องมีความระมัดระวังในการจัดทำเอกสารเผยแพร่ของรัฐมนตรี หรือการทำแผ่นป้ายต้อนรับการมาตรวจพื้นที่ของรัฐมนตรีไม่ให้มีลักษณะเข้าข่ายเป็นการหาเสียงให้แก่บุคคลนั้น
หาเสียงผิดกฎกกต.มีโทษถึงยุบพรรค
กฎหมายเลือกตั้ง กำหนดโทษแก่การหาเสียงที่มีลักษณะเป็นการต้องห้ามไว้ โดยในมาตรา 158 และมาตรา 159
- การกระทำที่เป็นการทุจริตซื้อเสียง (มาตรา 73(1) (2) ) ,หาเสียงโดยจัดงานเลี้ยงหรืองานมหรสพ (มาตรา73 (3) (4)) , หาเสียงโดยใช้อิทธิพล ให้ร้ายผู้อื่น (มาตรา73(5))
- จ้างให้ลง หรือไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง (มาตรา75)
- จัดรถรับ-ส่งคนไปเลือกตั้ง (มาตรา76)
มีโทษตั้งแต่ปรับ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท หรือจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ไปจนถึงเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี ยิ่งไปกว่านั้นหากปรากฎพฤติการณ์ว่าหัวหน้าพรรค ฯ และกรรมการบริหารพรรคฯ รู้เห็นเป็นใจ ก็จะนำไปสู่หนทางแห่งการยุบพรรคได้ ตามกฎหมายพรรคการเมือง
ผู้ช่วยหาเสียง แต่งตั้งจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
กฎเกณฑ์ต่างๆ ว่าด้วยวิธีการหาเสียง และลักษณะต้องห้าม ฯเหล่านี้ ถูกใช้มาแล้วกับการหาเสียงเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งแม้จะมีวัตถุประสงค์เพื่อความสุจริตเที่ยงธรรมในการสนามแข่งขัน แต่ในอีกทางหนึ่งก็เป็น "ขวากหนาม" ทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งของปีกที่อยู่ตรงข้ามกับอำนาจรัฐตกอยู่ในภาวะที่ "ขยับตัวยาก" เพราะเกรงว่ากฎกติกาเหล่านี้จะเป็นเหตุในการหยิบยกมาตัดสิทธิผู้สมัครรับเลือกตั้ง ดังเช่น ในกรณีของพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย กับประเด็น “ผู้ช่วยหาเสียง”
กรณีของ
ศรีสุวรรณกับพรรคก้าวไกล เหตุเริ่มมาจากเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566 ธนาธร-ปิยบุตร-พรรณิการ์ เข้าร่วมเวทีงานปราศรัย “อนาคตใหม่ก้าวไกล เพื่อประเทศไทยไม่เหมือนเดิม" ที่จังหวัดขอนแก่น ทั้งสามคนมาช่วยเหลือพรรคในฐานะ "ผู้ช่วยหาเสียง" ซึ่งไม่มีข้อจำกัดตามกฎหมายว่าผู้ช่วยหาเสียงจะต้องไม่เคยถูกตัดสิทธิทางการเมือง แต่ทางศรีสุวรรณเห็นว่าเป็นการกระทำที่สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเนื่องจากสถานะทางการเมืองของทั้งสามคนอยู่ระหว่างถูกตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ โดย
ปิยบุตร ชี้แจงว่า “พรรคก้าวไกลตั้งตนเป็นผู้ช่วยหาเสียง และยืนยันว่าทำตามระเบียบ การตัดสิทธิตนเองไม่ให้สมัครรับเลือกตั้ง ไม่ให้เป็นสมาชิกพรรคฯ และไม่ให้ร่วมก่อตั้งพรรค เป็นเวลา 10 ปี ไม่ได้เป็นการตัดสิทธิตามระเบียบ กกต.วิธีการหาเสียงฯ ให้นิยามคำว่า ‘ผู้ช่วยหาเสียง’ ว่าเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่พรรคแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยหาเสียง ซึ่งตนเองยังมีสิทธิเลือกตั้งอยู่ จึงเป็นผู้ช่วยหาเสียงได้”
ฝั่งเพื่อไทย ก็ถูก
สนธิญา สวัสดี ยื่นคำร้อง ต่อกกต. ในทำนองเดียวกัน จากกรณีการแต่งตั้งณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นผู้ช่วยหาเสียง ว่าเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 258 (2) เนื่องจากณัฐวุฒิ ถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปแล้ว จึงขัดต่อคุณธรรมจริยธรรม ด้านชูศักดิ์ ศิรินิล มือกฎหมายจากเพื่อไทยจึง
ออกมาตอบโต้ว่า “แม้นายณัฐวุฒิ จะมีลักษณะต้องห้ามมิให้สมัคร ส.ส. หรือดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเป็นสมาชิกพรรคก็ตาม แต่นายณัฐวุฒิ ยังคงเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามกฎหมายที่จะเป็นผู้ช่วยหาเสียงให้กับพรรคและผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยได้ ตามระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งกำหนดคุณสมบัติของผู้ช่วยหาเสียงไว้ว่า เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งเท่านั้น”