จากวันเลือกล่วงหน้าเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ประชาชนได้พบเห็นเจ้าหน้าที่ซึ่งทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในหน่วยเลือกตั้งจำนวนหลายคน บุคคลเหล่านี้ไม่ใช่ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่พวกเขาคือ คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ก่อนจะถึงวันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ชวนทำความรู้จักที่มาที่ไปของ กปน.
กปน. เป็นใครมาจากไหน?
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 หรือ พรป.เลือกตั้งฯ มาตรา 5 ระบุว่า ในหนึ่งหน่วยเลือกตั้งต้องมี กปน. ทั้งสิ้นจำนวนเก้าคน แบ่งเป็นประธานประจำหน่วยหนึ่งคน และกรรมการอีกแปดคน โดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอย่างน้อยอีกหนึ่งคน จึงจะสามารถจัดเป็นหน่วยเลือกตั้งได้อย่างสมบูรณ์ ยกเว้นหากหน่วยเลือกตั้งใดมีจำนวนผู้มาใช้สิทธิเกิน 800 คน ให้เพิ่ม กปน. อีกหนึ่งคน ต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เพิ่มขึ้นมาทุก 100 คน
สำหรับที่มาของ กปน.
คู่มือปฏิบัติงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง และผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ระบุว่า "ประธาน กปน." สามารถถูกแต่งตั้งโดย กกต.ประจำเขตจากผู้ผ่านการพิจารณาจากการอบรมหลักสูตรที่ สนง.กกต. กำหนด
ขณะที่เฟซบุ๊กของ กกต. ระบุเอาไว้ในวันที่ 21 เมษายน 2566 ว่า ประธาน กปน. จะต้องเป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเป็นบุคคลที่ผ่านการอบรมโดย กกต. เท่านั้น ขณะที่กรรมการอีกแปดคนต้องเป็นผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้ง ส่วนกรณีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยโดยปกติแล้ว กกต.ประจำเขตมักจะมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่ แต่หากไม่เพียงพอให้คัดเลือกจากสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หรือกำลังทหารในพื้นที่ก็ได้
กปน. มีหน้าที่อะไร?
การเลือกตั้งครั้งนี้มี
หน่วยเลือกตั้งประมาณ 94,913 หน่วย ดังนั้นจำนวนขั้นต่ำของ กปน. ขณะนี้จึงมีอยู่ที่ประมาณ 854,217 คน โดยภารกิจหลักของ กปน. คือ การจัดการออกคะแนนเสียงในพื้นที่เลือกตั้ง การนับคะแนน การรายงานผลคะแนน การดำเนินการกล่าวโทษในกรณีที่พบเห็นการกระทำผิดในหน่วยเลือกตั้ง และช่วยอำนวยความสะดวกในการมาใช้สิทธิของประชาชน ภารกิจทั้งหมดนี้จำเป็นต้องผ่านการฝึกอบรมของ กกต. ทั้งสิ้น
ข้อมูลจากเว็บไซต์ของสถาบันพระปกเกล้า ระบุว่า กปน. ต้องผ่านการอบรมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจหน้าที่ของตัวก่อนการเลือกตั้ง โดยผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งจะต้องให้มีการฝึกอบรมคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามวัน
โดยเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566 อิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นประธานเปิดกิจกรรมอบรมวิทยากรจังหวัดจำนวน 1,115 คน และวิทยากรประจำเขตเลือกตั้งอีก 7,203 คน เพื่อนำไปถ่ายทอดความรู้แก่ กปน. ทั่วประเทศอีกหลายแสนคนต่อไป
ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ระบุค่าตอบแทนของ กปน. ไว้ว่า กปน. จะได้รับค่าตอบแทนวันอบรม 300 บาทต่อวัน วันรับหีบบัตรและวัสดุอุปกรณ์ 250 บาทต่อวัน และวันเลือกตั้งหรือวันออกเสียงลงคะแนนอีก 500 บาทต่อวัน โดยมีค่ายานพาหนะเพิ่มให้อีกคนละ 200 บาท เฉพาะวันที่ลงคะแนนเสียงเท่านั้น
ปัญหาของ กกต. ที่กระทบถึง กปน.
ต้องกล่าวว่า กปน. ส่วนใหญ่เป็นเพียงประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วไป ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ประจำของ กกต. ดังนั้นความผิดพลาดจากการเลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 7 พฤษภาคม ที่ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน อาจไม่ใช่ความผิดของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการโดยตรง แต่ผู้ที่ต้องมีส่วนรับผิดชอบสำคัญคือ กกต.ที่ไม่ได้เตรียมความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งโดยเฉพาะการอบรมซักซ้อมการเลือกตั้งจนทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง จนทำให้เสียงของประชาชนที่ลงคะแนนไปอาจไร้ความหมาย
อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดมากกว่านี้ในวันเลือกตั้งที่ 14 พ.ค. 2566 ประชาชนทุกคนควรร่วมกันตรวจสอบการทำงานของ กปน. และ กกต. ในแต่ละคูหา ทั้งเฝ้าระวังการไม่ติดเอกสารที่ควรจะติด การแจกบัตรเลือกตั้งไม่ถูกต้อง ป้องกันการขานและนับคะแนนผิด หรือการรวมคะแนนผิดพลาด ไอลอว์จึงอยากชวนประชาชนทุกคนสมัครร่วมเป็นอาสาจับตาการเลือกตั้งกับ @Vote62 เพื่อปกป้องทุกสิทธิและเสียงของคนไทยทุกคน